xs
xsm
sm
md
lg

แถลงผลงาน 1 เดือน คสช.เน้นปรองดอง-เฝ้าระวังเหตุรุนแรง “ประยุทธ์” เตรียมเซ็นงบปี 58 รวม 2.5 ล้านล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คสช. ฉายวีทีอาร์แถลงผลงาน 1 เดือน ตั้งศูนย์ปรองดองทุกจังหวัด ยังเฝ้าระวังสถานการณ์ เผยจับกุมอาวุธสงครามอื้อ เผยผลงานแรกปลดหนี้จำนำข้าวให้ชาวนา ติดตามแผนงานเมกะโปรเจกต์ พร้อมเห็นชอบ พ.ร.บ. งบประมาณปี 58 วงเงิน 2.575 ล้าน 29 ก.ค. นี้



วันนี้ (25 มิ.ย.) เมื่อเวลา 18.00 น. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้จัดรายการพิเศษ สรุปผลการปฏิบัติงานประจำเดือนของ คสช. ผ่านสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง โดยมีสาระสำคัญคือ การเข้าควบคุมการปกครองประเทศของ คสช. ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้า คสช. ได้มีการตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์ครบทุกจังหวัด ผู้นำทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามลงนามบันทึกข้อตกลงสร้างความปรองดองรวม 150 ฉบับ ซึ่งการขับเคลื่อนประเทศไทยมีอยู่ 3 ขั้นตอน ได้แก่ ระยะที่ 1 เร่งดำเนินการเรื่องปรองดองสมานฉันท์ให้เร็วที่สุดในกรอบเวลา 3 เดือน ระยะที่ 2 คือการใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ทั้งการจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สรรหานายกรัฐมนตรี การยกร่างรัฐธรรมนูญ และการจัดตั้งสภาปฏิรูปในกรอบเวลา 1 ปี และระยะที่ 3 คือ การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขณะเดียวกัน คสช. ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ โดยได้เปิดเผยสถิติการจับกุมอาวุธสงคราม พบว่ามีการปิดล้อมและตรวจค้น รวม 80 ครั้ง ตรวจพบหรือทิ้งไว้ รวม 51 ครั้ง และอื่นๆ อีก 40 ครั้ง โดยพบปืนแก๊ป ปืนปากกา ปืนอัดลม 789 กระบอก ปืนพก 609 กระบอก ปืนไทยประดิษฐ์ 174 กระบอก ปืนลูกซอง 214 กระบอก ปืนกล 3 กระบอก ปืนเล็กยาว 196 กระบอก เครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 40 มม. 6 กระบอก จรวดต่อสู้รถถัง 5 กระบอก กระสุนปืนพก 25,014 นัด กระสุนปืนลูกซอง 880 นัด กระสุนปืนเล็กยาว 5,924 นัด กระสุนเครื่องยิงลูกระเบิด 22 นัด ลูกจรวดต่อสู้รถถัง 51 ลูก ลูกระเบิดขว้าง 213 ลูก ทุ่นระเบิด 1 ทุ่น

ส่วนผลงานแรกของ คสช. คือ การปลดล็อกข้อจำกัดในการจ่ายเงินให้ชาวนา ในโครงการรับจำนำข้าว ส่วนการติดตามแผนงาน โครงการที่มีวงเงิน มีปัญหาในการดำเนินงานและอยู่ในความสนใจประชาชน 10 โครงการ วงเงินรวมมากกว่า 147,190.74 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. การจัดหารถรุ่นใหม่สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ จำนวน 115 คัน ของการรถไฟแห่งประเทสไทย วงเงิน 4,981.02 ล้านบาท 2. การจัดหารถจักร จำนวน 126 คัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย วงเงิน 13,222.50 ล้านบาท 3. โครงการจ้างให้บริการระบบตรวจสอบ และคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้าของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย วงเงิน 8,313.9 ล้านบาท

4. โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 วงเงิน 60,741.61 ล้านบาท 5. การใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานของกระทรวงพลังงาน วงเงิน 10,335.46 ล้านบาท 6. โครงการการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ของกระทรวงศึกษาธิการ วงเงิน 4,616.2 ล้านบาท 7. โครงการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3จี ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) วงเงิน 19,980 ล้านบาท 8. โครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล วงเงิน 10,335.46 ล้านบาท 9. การบริหารงบประมาณของรัฐสภา และ 10. การบริหารจัดการการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และมีการติดตามโครงการแผนทางด้านคมนาคม เช่น โครงการรถไฟฟ้า 4 สายแล้ว

นอกจากนี้ คสช. ยังสั่งตรวจสอบธุรกรรมการเงินเครือข่ายยาเสพติด - การพนัน, จัดระเบียบรถตู้ แท็กซี่ วินรถจักรยานยนต์ ด้านเศรษฐกิจยืนยันว่าไทยเน้นการค้าเสรี มุ่งเดินหน้าชี้แจงต่างประเทศ พร้อมดูแลผลประโยชน์มิตรประเทศที่ลงทุนในประเทศไทย และหัวหน้า คสช. จะให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2558 วงเงิน 2.575 ล้านล้านบาท ในวันที่ 29 ก.ค. นี้

รายละเอียด ผลงาน คสช. 1 เดือน

นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการบริหารราชการแผ่นดิน โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมานอกจากภารกิจที่สำคัญที่สุดคือ การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศแล้ว การปฏิรูปประเทศในทุกมิติ ทั้งปัจจุบัน และอนาคตคือ อีกหนึ่งภารกิจหลักที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ดำเนินการคู่ขนานกันไปตลอดในช่วง 1 เดือน ที่ผ่านมา เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างสมบูรณ์ และยั่งยืนในทุกมิติ

การเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์และยั่งยืนโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. จะดำเนินการภายใต้แนวทางขับเคลื่อนประเทศไทย หรือ โรดแมป ซึ่งประกอบด้วย 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 แก้ปัญหาเร่งด่วน และขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดินในเรื่องที่ติดขัดและเป็นปัญหา เตรียมการเข้าสู่การปฏิรูปในระยะที่ 2 ด้วยการสร้างความปรองดอง สมานฉันทในขั้นต้น คืนความสุขให้ประชาชน

ระยะที่ 2 คือการใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ทั้งการจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สรรหานายกรัฐมนตรี การยกร่างรัฐธรรมนูญ และการจัดตั้งสภาปฏิรูป ในกรอบเวลา 1 ปี

และระยะที่ 3 คือการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ซึ่งแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทยดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นผู้มอบนโยบายและสั่งการไว้ โดยมีการจัดโครงสร้างการปฏิบัติงาน แบ่งเป็น 3 กลุ่มงาน คือ กลุ่มงานรักษาความสงบเรียบร้อย กลุ่มงานบริหารราชการแผ่นดิน และกลุ่มงานสร้างความปรองดองและการปฏิรูป

ตลอดระยะเวลา 1 เดือน ที่ คสช.เข้ามาควบคุมอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน ได้ดำเนินการตามความมุ่งหมายที่วางไว้ และต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน โดยในส่วนของกลุ่มงานรักษาความสงบเรียบร้อย มีความจำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยการศึก เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถหยุดความรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ทันที

ในระยะเริ่มต้น มีความจำเป็นต้องประกาศห้ามบุคคลออกนอกเคหสถาน หรือ เคอร์ฟิว เพื่อให้ คสช.ได้จัดระเบียบและดูแลความสงบเรียบร้อย ที่อาจกระทบต่อเสรีภาพในการใช้ชีวิตประจำวัน และต่อมาได้มีการผ่อนคลายมาตรการมาอย่างต่อเนื่อง มีการปรับลดเวลา จาก 22.00-05.00 น. เป็น 24.00-04.00 น. ตามมาด้วยการยกเลิกเคอร์ฟิวในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ และได้ยกเลิกเคอร์ฟิวทั่วประเทศเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน หลังเข้ามาควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินเพียง 24 วัน เนื่องจากสถานการณ์โดยรวมในพื้นที่ต่างๆ ได้คลี่คลายลง และไม่ปรากฏสิ่งบอกเหตุอันจะนำไปสู่การเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติสุข และให้ธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการกลับมามีความคล่องตัวดังเดิม

อย่างไรก็ตาม คสช.ยังจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมไว้ตลอดเวลา จะเห็นได้จากสถิติจับกุมอาวุธสงครามในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการบริหารราชการแผ่นดิน โดย คสช.มีสถิติการจับกุมอาวุธสงครามที่ผู้ไม่หว้งดีนำมาใช้ก่อเหตุความรุนแรง จำนวน 19 ครั้ง และเมื่อ คสช.เข้ายึดอำนาจการปกครอง สามารถตรวจยึดและจับกุมอาวุธสงคราม รวมถึงผู้นำอาวุธสงครามมาทิ้งไว้ ได้สูงถึง 51 ครั้ง คิดเป็นจำนวนรวมของอาวุธ 1,996 กระบอก เครื่องกระสุน 31,840 นัด และวัตถุระเบิด 265 ลูก

ส่วนการเชิญบุคคลที่อยู่ในความขัดแย้ง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เข้ารายงานตัวต่อ คสช. เป็นการเชิญตัวมาเพื่อสร้างความเข้าใจ โดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อความมั่นคงของประเทศและประชาชนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายเป็นอย่างดี และพร้อมที่จะร่วมสนับสนุนงานรักษาความสงบเรียบร้อยอย่างเต็มที่

การเชิญบุคคลมาเป็นจำนวนมากนัก เพราะมีหลายกลุ่มอยู่ในความขัดแย้งมาเป็นเวลาหลายปี มีคนเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก โดยไม่เกิน 7 วัน จะปล่อยออกมา หากผู้ใดมีคดีอื่น มีหมายเรียก มีหมายจับเดิม ก็จะส่งตัวให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการต่อไป

คสช.ได้ร่วมดำเนินการขับเคลื่อนในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยจัดแบ่งกลุ่มงานออกเป็น 5 ฝ่าย และ 1 ส่วนงาน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้มอบหมายนโยบายให้ทุกฝ่ายรีบไปดำเนินการ และช่วยแก้ไขปัญหาที่สะสมมานาน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และมีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนี้

1. ฝ่ายความมั่นคง มี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้า และ พล.อ.อักษรา เกิดผล เสนาธิการทหารบก เป็นรองหัวหน้า

โดยเริ่มปฏิบัติการจับกุมอาวุธสงครามในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งติดตามสืบสวนสอบสวน จับกุม เครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธสงครามได้เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นผู้สนับสนุน หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของกลุ่มการเมือง ธุรกิจผิดกฎหมาย และเจ้าหน้าที่รัฐ ได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ผลจากการบูรณาการหน่วยงานด้านความมั่นคง ทั้งทหาร ตำรวจ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. สายงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. และภาคอื่นๆ รวมทั้งภาคประชาชน ยังทำให้การปราบปรามการกระทำผิดกฎหมาย อาทิ การปราบปรามเครือข่ายยาเสพติด บ่อนการพนัน และขบวนการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการบูรณาการเรื่องแรงงานทั้งระบบ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนขับเคลื่อนการสร้างความเข้าใจกับต่างประเทศในทุกมิติร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน

2. ฝ่ายเศรษฐกิจ มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นหัวหน้า และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกันยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เป็นรองหัวหน้า

ผลงานที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือการปลดล็อกข้อจำกัดการจ่ายเงินให้กับชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556 และ 2557 โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ได้เริ่มจ่ายเงินให้ชาวนาตามลำดับใบประทวนที่ขึ้นทะเบียนไว้ ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม และสามารถจ่ายเงินให้ชาวนาได้ครบทั้งหมด 838,538 ราย จำนวนเงิน 89,931 ล้านบาท เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่ผ่านมา เร็วกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในวันที่ 22 มิถุนายน และถือเป็นการปิดบัญชีหนี้จำนำที่้ค้างไว้กับชาวนาทั้งหมดทั่วประเทศ ซึ่งเม็ดเงินที่ลงไปถึงมือชาวนา จะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย การบริโภคภายในครัวเรือน และการชำระหนี้สินต่างๆ ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจมีการขับเคลื่อนอย่างชัดเจน โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.2

ขณะที่ฤดูกาลผลิตประจำปี 2557 และ 2558 คสช.ได้มีการประชุมร่วมกับตัวแทนชาวนาจาก 3 สมาคม ตัวแทนสมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการช่วยเหลือชาวนา ก่อนจะมีมติใช้แนวทางการลดต้นทุนการผลิตข้าวให้กับชาวนา แทนโครงการรับจำนำข้าว โดยจะช่วยลดต้นทุนการผลิตขั้นต่ำประมาณ 500 บาทต่อไร่ จากต้นทุนปัจจุบันที่ 4,000 บาทต่อไร่ แตกต่างกันไปแต่ละพื้นที่ หลังแนวทางดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการผลิต และจำหน่ายปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช ผู้จำหน่ายสินค้าปัจจัยการเกษตร และผู้ให้เช่านา รวมถึงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ที่จะช่วยเหลือด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สนับสนุนด้านการตลาด เพื่อลดการผูกขาดนายทุน ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ลดการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง ส่งเสริมการจัดตั้งสหกรณ์ และโรงสีข้าวขนาดเล็ก ให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ในอนาคต

นอกจากการปิดบัญชีหนี้โครงการรับจำนำข้าวแล้ว คสช.ยังเดินหน้าทำความเข้าใจกับต่างประเทศ ผ่านเอกอัครราชทูต และกงสุลใหญ่ประจำต่างประเทศของไทย ถึงข้อมูลข้อเท็จจริงและความจำเป็นในการเข้าควบคุมอำนาจของ คสช. ตลอดจนชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทย หรือ โรดแมป โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ ที่จะเน้นเรื่องการค้าเสรี และการดูแลผลประโยชน์ของมิตรประเทศในประเทศไทย

ได้มีการพบปะพูดคุยกับผู้แทนบริษัท ผู้ประกอบการ สหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน และญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งทำให้สถานการณ์ด้านต่างประเทศเริ่มมีท่าทีที่ดีขึ้น และเข้าใจถึงสถานการณ์ในประเทศไทยมากขึ้น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในเวทีต่างประเทศในทุกภาคส่วน ทั้งในด้านการทูต ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ทั้งภาคราชการและเอกชน มีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากรายงานเศรษฐกิจของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทยโดยรวม ในเดือนพฤษภาคม ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 60.7 จากเดิม 57.7 ในเดือนเมษายน เนื่องจากสถานการณ์ภายในประเทศเริ่มมีการผ่อนคลาย ทำให้ผู้บริโภคลดความกังวลทางการเมืองและความขัดแย้งลง

ค่าเงินบาทมีการปรับตัวแข็งขึ้น นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และตราสารหนี้ มีการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มเติม เป็นจำนวน 8,000 ล้านบาท และ 9,000 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจของนักลงทุนต่างๆ ในแนวทางการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของ คสช.ในภาพรวมเป็นอย่างดี

สำหรับโครงการต่างๆ ทั้งที่ยังไม่ได้ดำเนินการ และที่ได้อนุมัติดำเนินการไปแล้ว ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ หรือ คตร. มี พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ รับผิดชอบ โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมดำเนินการงาน เพื่อติดตามและตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ วงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท ให้เกิดความโปร่งใส คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง

โดยตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา ได้ติดตามแผนงานหรือโครงการที่มีวงเงินสูง มีปัญหาในการดำเนินงาน และอยู่ในความสนใจของประชาชนแล้ว 10 โครงการ วงเงินรวมกว่า 150,000 ล้านบาท อาทิ โครงการจ้างให้บริการระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย การใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ของกระทรวงพลังงาน โครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์พกพา หรือ แท็บเล็ต ของกระทรวงศึกษาธิการ และการบริหารจัดการการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นต้น

ส่วนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 2.2 ล้านล้านบาท และโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 3.5 แสนล้านบาท หัวหน้า คสช.ได้สั่งการให้มีการทบทวนใหม่ทั้งหมด หลังรับฟังข้อมูลการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบที่ภาครัฐดำเนินการมา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง 36 หน่วยงาน โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกันยะ เป็นประธานบริหารจัดการ ซึ่งหัวหน้า คสช.ได้ขอให้ทุกส่วนราชการร่วมกันศึกษารายละเอียดแผนบริหารจัดการน้ำใหม่ทั้งหมด โดยไม่ต้องคำนึงถึงตัวเลขโครงการ 3.5 แสนล้านบาท แต่ต้องการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำให้ครอบคลุมการแก้ปัญหาทั้งระยะเร่งด่วน หรือเฉพาะหน้า ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 อย่างน้อยเป็นระยะเวลา 5-10 ปี และแผนงานโครงการของทุกกระทรวงที่เกี่ยวกับน้ำ ในปีงบประมาณ 2557 หากตรงกับความต้องการและความจำเป็นเร่งด่วนของประชาชน ให้เร่งดำเนินการ แต่หากโครงการใดที่ยังไม่พร้อม ให้นำไปพิจารณาแผนงบประมาณปี 2558 ต่อไป

ขณะที่โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 2.2 ล้านล้านบาท คสช.ต้องการให้นำเสนอแผนยุทธศาสตร์ในภาพรวมพร้อมกันทั้งหมด ทั้งทางรถไฟ ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยกระทรวงคมนาคมได้เสนอแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ ต่อที่ประชุมฝ่ายเศรษฐกิจ ซึ่งได้มีมติเห็นชอบข้างต้นที่จะดำเนินโครงการระหว่างปี 2558-2565 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ แต่ขอให้ตัดโครงการรถไฟความเร็วสูงออกจากแผนไปก่อน เนื่องจากที่ประชุมเห็นว่าไม่ใช่โครงการจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งหลังจากนี้กระทรวงคมนาคมจะกลับไปหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ในการดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จ ก่อนนำเสนอให้ที่ประชุมเศรษฐกิจพิจารณาอีกครั้ง เพื่อเสนอหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อนุมัติในหลักการเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนพิจารณาดำเนินการ ทั้งนี้ ต้องฟังเสียงจากประชาชนด้วย

3. ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม มี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้า และ พล.ท.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เป็นรองหัวหน้า รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาข้อขัดข้อง และผลกระทบที่เกิดจากข้อกฎหมายต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และการลดความขัดแย้ง โดยตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้เดินหน้ามาตรการปราบปรามยาเสพติด และการปราบปรามการคอร์รัปชัน

โดยในส่วนของการปราบปรามยาเสพติดนั้น ได้เชิญหน่วยงานป้องกันปราบปรามยาเสพติด หน่วยงานบำบัดยาเสพติด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือถึงกรอบการทำงานไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน และยังให้ความสำคัญกับการตัดเส้นทางการเงินของผู้ค้ายาเสพติด ด้วยการขอความร่วมมือจากสมาคมธนาคารไทย และสมาคมที่เกี่ยวกับสถาบันการเงิน หาทางระงับ ไมให้ผู้ค้ายาเสพติดทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างคล่องตัว

ล่าสุด คสช.ได้สั่งการให้กรมราชทัณฑ์แยกผู้ต้องหาค้ายาเสพติดรายใหญ่ไปขังในเรือนจำเขาบิน ที่ จ.ราชบุรี ที่มีระบบป้องกันอย่างเข้มงวด

ส่วนการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน นอกจากจะมีการทำความเข้าใจกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. และสถาบันการเงิน ถึงการปฏิบัติตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รวมทั้งการขอความร่วมมือตรวจสอบธุรกรรมการเงิน เพื่อป้องกันปัญหาการฟอกเงิน ในส่วนของการตรวจสอบการทุจริต

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ได้ส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ดำเนินการไปตามกระบวนการ

ขณะเดียวกัน คสช.ได้จัดตั้งคณะทำงานตรวจสอบการทุจริตในเรื่องข้าวไปอีกทางหนึ่งด้วย เพื่อให้เกิดความชอบธรรมอย่างแท้จริง

สำหรับการกระทำความผิดอื่นๆ เรื่องใดยังไม่นำเข้ากระบวนการยุติธรรม ให้นำเข้า โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ ศาล โดยมิได้เลือกปฏิบัติทุกฝ่าย

4. ฝ่ายสังคมจิตวิทยา มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นหัวหน้า และ พล.ท.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ เป็นรองหัวหน้า รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาที่ทำให้สังคมไทยอ่อนแอ โดยเริ่มต้นด้วยการดำเนินการจัดกิจกรรมคืนความสุขให้กับคนในชาติในรูปแบบต่างๆ ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ดี พร้อมเร่งรัดให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินหน้าปราบปราม และจับกุมผู้บุกรุก ผู้สมคบ และผู้สนับสนุนช่วยเหลือในการตัดไม้ทำลายป่าในทุกหมู่บ้าน และชุมชนทั่วประเทศ ให้ได้มีผลจริงจังในทุกพื้นที่ รวมทั้งสกัดกั้นการลักลอบตัดไม้มีค่า หรือไม้หวงห้าม การนำเข้าหรือส่งออกไม้ที่ผิดกฎหมาย การดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกทำลาย และการประสานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคประชาชน และองค์กรชุมชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการดูแลรักษาป่าอย่างจริงจังด้วย

และล่าสุด หลังการหารือกับ 10 หน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ ถึงข้อดี-ข้อเสีย ของโครงการจัดซื้อแท็บเล็ต ที่ประชุมได้มีมติให้ยุติการจัดซื้อแท็บเล็ตประจำปีงบประมาณ 2556 ในโซน 4 ของนักเรียนชั้น ม.1 ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งยกเลิกการจัดซื้อแท็บเล็ตประจำปีงบประมาณ 2557 เนื่องจากไม่คุ้มค่าและไม่เหมาะสม พร้อมให้นำงบประมาณที่เหลือในโซน 4 จำนวน 1,170 ล้านบาท กับงบประมาณปี 2557 อีก 5,800 ล้านบาท ไปทำอย่างอื่นที่เกิดประโยชน์แก่การศึกษา อย่างเช่น Smart Classroom , E-learning เป็นห้องคอมพิวเตอร์ไว้ที่โรงเรียน ให้นักเรียนหมุนเวียนมาใช้ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ในวงกว้างมากกว่า

5. ฝ่ายกิจการพิเศษ มี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็นหัวหน้า มี พล.ท.สุชาติ หนองบัว เป็นรองหัวหน้า รับผิดชอบการดำเนินการให้ส่วนราชการ ซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ และการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ซึ่งนอกจากได้มีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการสานต่อกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการในหมู่บ้านและชุมชน กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กองทุนส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และโครงการพัฒนาเมือง เนื่องจากเป็นกองทุนที่เป็นประโยชน์กับประชาชนแล้ว ยังได้ขอให้ที่ประชุม คสช.อนุมัติเงินงบประมาณกว่า 74 ล้านบาท ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นำไปช่วยเหลือวัด และพระภิกษุ สามเณร ที่ประสบภัยแผ่นดินไหวในพื้นที่ภาคเหนือ ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ด้วย

นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับทุกภาคส่วน จัดทำโรดแมป เดินหน้าการปฏิรูประบบราชการใน 8 แนวทางหลัก รวมทั้งเพิ่มการรับข้อร้องเรียนทางสายด่วน 1111 เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย คสช.ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน และพฤติกรรมที่เป็นภัยด้านความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ และการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ด้วย

สำหรับ 1 ส่วนงานที่เป็นหน่วยขึ้นตรงกับหัวหน้า คสช. ที่มี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ คสช. มี พล.ท.ชาตอุดม ติตถะศิริ เป็นรองเลขาธิการ ได้รับมอบหมายให้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานต่างๆ ของ คสช. รวมถึงการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนต่างๆ ของประชาชน โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นปัญหาปากท้องของประชาชน

และกลุ่มงานสุดท้าย คือ กลุ่มงานสร้างความปรองดองในการปฏิรูป มี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รักษาการปลัดกระทรวงกลาโหม รับผิดชอบ มีองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ

ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป มี พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ เป็นหัวหน้า และคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ มีหน้าที่กำหนดแนวทางในการเสริมสร้างบรรยากาศความปรองดองสมานฉันท์ ซึ่งได้เดินหน้ารวบรวมข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เพื่อเสริมสร้างความรัก ความสามัคคี และคืนความสุขให้แก่คนในชาติอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปจังหวัด ครบทุกจังหวัด โดยได้จัดกิจกรรมในทั้ง 4 ภาค มาแล้ว 696 กิจกรรม เป็นกิจกรรมลักษณะเสริมสร้างบรรยากาศปรองดองสมานฉันท์ 668 อำเภอ และเป็นการจัดเวทีเสวนา 130 เวที รวมทั้งสามารถจัดให้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ หรือ เอ็มโอยู (MOU) ระหว่างผู้นำทางความคิดที่เคยเห็นต่างกันในพื้นที่ จำนวน 150 ฉบับ

ส่วนคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ นอกจากจะมุ่งเน้นในเรื่องการรักษาความมั่นคง และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ได้แก่ การร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการตรวจค้นและจับกุมการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น อาวุธสงคราม แรงงานต่างด้าว ลักลอบตัดไม้ทำลายป่า และทรัพยากรธรรมชาติ การป้องกันการค้ามนุษย์ การลักลอบการเล่นการพนัน เป็นต้น ยังทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลการปฏิรูปจากทุกภาคส่วน เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูล นำเสนอให้สภาปฏิรูปใช้ประกอบในการพิจารณาต่อไป

โดยตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา ได้รวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วน รวมทั้งสิ้นมากกว่า 240 ผลงาน และจัดสัมภาษณ์แนวความคิดจากผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งเป็นบุคคล และเป็นกลุ่ม โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้มีประสบการณ์ จากสถาบันการศึกษา ภาคราชการ ภาคการเมือง ภาคประชาสังคม รวมทั้งผู้มีส่วนขับเคลื่อน และมีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนในการให้ข้อมูลจำนวน 25 ราย และกำลังจะจัดการประชุมกลุ่มผู้ร่วมให้ความคิดเห็นอีก 12 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 50 คน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป

นอกจากนี้ คสช.ได้มอบหมายให้กลุ่มรักษาความสงบเรียบร้อย มี พล.ท.ธีรชัย นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 1 และผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบ เป็นผู้ดูแล โดยหัวหน้า คสช.ได้มอบหมายให้รับผิดชอบการจัดระเบียบสังคม และผู้มีอิทธิพล เร่งดำเนินการ เริ่มตั้งแต่การปราบปรามบ่อนการพนันผิดกฎหมาย ตู้ม้า การพนันออนไลน์ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการพนันฟุตบอลโลก ตามมาด้วยการจัดระเบียบรถตู้โดยสาร รถแท็กซี่ และวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งได้แบ่งมอบความรับผิดชอบให้กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ดูแลเรื่องการจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ในเรื่องค่าโดยสารที่สูงเกินเหตุ และค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้ผู้มีอิทธิพล

กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ รับผิดชอบการจัดระเบียบรถตู้โดยสาร เริ่มงานด้วยการย้ายที่จอดรถตู้โดยสาร บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และใต้ทางด่วน ไปไว้ที่สถานีแอร์พอร์ตลิงก์ มักกะสัน ซึ่งนอกจากจะเป็นระเบียบมากขึ้นแล้ว ยังสามารถแก้ปัญหาการจราจร และตัดวงจรผู้ที่เรียกเก็บค่าหัวคิวที่จอดรถตู้เดิมด้วย

ส่วนการจัดระเบียบรถแท็กซี่ มีมณฑลทหารบกที่ 11 เป็นผู้รับผิดชอบ ได้เริ่มปฏิบัติโดยการจัดระเบียบแท็กซี่บริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อไม่ให้มีปัญหาทิ้งผู้โดยสารกลางทาง การเก็บค่าโดยสารเกินกำหนด การเกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมาย และไม่ให้มีมาเฟียเรียกรับค่าตอบแทน

และที่ถือเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน คือ กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ที่ประชุม คสช.ได้เห็นชอบกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 วงเงิน 2.575 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2557 วงเงิน 50,000 ล้านบาท ประมาณการรายได้ 2.325 ล้านล้านบาท และเป็นงบประมาณขาดดุล 2.5 แสนล้านบาท

โดยงบลงทุนภาครัฐในปี 2558 กำหนดวงเงินไว้ที่ 450,625 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.5 ของงบประมาณทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากงบลงทุนปี 2557 ร้อยละ 2.2 โดยคาดว่าในวันที่ 29 กรกฎาคม หัวหน้า คสช.จะให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ 2558 ซึ่งมีหลักการของยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ การน้อมนำปรัชญาหลักการเศรษฐกิจพอเพียง ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นหลักในการปฏิบัติ โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 และแผนแม่บทอื่นๆ เพื่อนำเสนอฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณาต่อไป

หากพิจารณาจากปรากฏการณ์ที่เห็นได้จากสังคมแล้ว แนวทางการขับเคลื่อนประเทศของ คสช.ได้รับการตอบรับอย่างดีจากประชาชน โดยเฉพาะการจัดระเบียบสังคม และสิ่งผิดกฎหมาย ที่มีการดำเนินการอย่างเฉียบขาด

อย่างไรก็ตาม ปัญหาต่างๆ ที่อยู่ระหว่างการจัดการแก้ไขนั้น เป็นปัญหาที่สะสมมายาวนาน ซึ่งหลายปัญหาต้องใช้ระยะเวลาในการสะสาง และหลายปัญหาไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ด้วย คสช.เพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ซึ่ง คสช.ได้จัดลำดับความเร่งด่วนของงาน เป็นเฉพาะหน้า ระยะสั้น และระยะยาว ทุกงานได้เดินคู่ขนานกันไปพร้อมๆ กัน โดยเริ่มจากการใช้งบประมาณปี 57 ไตรมาส 3 และจัดทำงบประมาณปี 58 ให้ประสานสอดคล้องกัน ให้เกิดความต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดนี้คือภารกิจที่ คสช.ได้ดำเนินการในรอบ 1 เดือน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของ คสช. คือการคืนความสุขให้กับประชาชน โดยการลดความหวาดระแวง ความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ลดการทุจริตคอร์รัปชัน สร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้ได้โดยเร็ว พร้อมกับนำทุกปัญหาที่มีผลกระทบโดยเร่งด่วนกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การสร้างอาชีพ รายได้ ให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย สร้างกระบวนความคิด ความรู้ ให้กับประชาชน เพื่อให้เป็นประชาชนที่เข้มแข็ง มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก และเพื่อให้พร้อมก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน และประชาคมโลก ในโอกาสต่อไป โดยเร็วที่สุด อีกทั้งต้องเร่งแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะตกต่ำลงในระยะต่อไป

ทั้งนี้ คสช.พร้อมมุ่งมั่น ตั้งใจ ที่จะดำเนินการอย่างเต็มที่ จนกว่าจะบรรลุภารกิจตามเจตนารมณ์ เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน ตลอดไป














กำลังโหลดความคิดเห็น