กกต.ตอบรับ “จารุพงศ์” ลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุมีผล 16 มิ.ย. ที่พรรคได้รับหนังสือลาออก ชี้ตั้งองค์กรเสรีไทยฯ จะเอี่ยวเพื่อไทยจนนำไปสู่การยุบพรรคหรือไม่ ต้องดูเป็นกรณี
นายธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวว่าที่ประชุม กกต.มีมติเห็นชอบตามที่นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นควรตอบรับการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย กรณีนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค โดยให้มีผลนับแต่วันที่ 22 พ.ค. แต่ทั้งนี้หนังสือลาออกดังกล่าวทางพรรคเพื่อไทยได้รับเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ซึ่ง กกต.ได้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ มาตรา 169 ที่ระบุว่า การแสดงเจตนาของบุคคลที่ไมได้อยู่เฉพาะหน้า ให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงมือผู้รับการแสดงเจตนา มาเทียบเคียงกับกรณีดังกล่าว ดังนั้นจึงว่าการลาออกของนายจารุพงศ์มีผลตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย. ที่พรรคเพื่อไทยได้รับหนังสือลาออก อย่างไรก็ตามในทางทะเบียนแล้วการลาออกจะมีผลสมบูรณ์เมื่อนายทะเบียนพรรคการเมืองมีหนังสือแจ้งตอบรับการลาออกไปยังพรรคเพื่อไทยและประกาศต่อสาธารณะรวมทั้งในราชกิจจานุเบกษา
ทั้งนี้ การลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคของนายจารุพงศ์ ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งไปด้วย แต่ยังต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามข้อบังคับพรรค จนกว่าจะมีการประชุมใหญ่ ซึ่งขณะนี้ยังมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 57 ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง ทางพรรคเพื่อไทยจึงยังไม่สามารถจัดประชุมใหญ่ได้
อย่างไรก็ตาม นายจารุพงศ์ และกรรมการบริหาร ที่พ้นจากตำแหน่งจะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินของตนเอง คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ภายใน 30 วันนับแต่ได้รับหนังสือแจ้งการตอบรับจากนายทะเบียนฯ โดยสามารถแจ้งด้วยตนเอง หรือแจ้งเป็นเอกสารส่งถึงสำนักงาน กกต.ได้ แต่หากไม่ดำเนินการก็จะมีโทษตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองมาตรา 112 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนการที่นายจารุพงศ์มีการเคลื่อนไหวตั้งองค์กรเสรีไทยฯ จะเป็นเหตุเชื่อมโยงให้มีการยุบพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่ นายธนิศร์กล่าวว่า แม้ในช่วงระหว่างวันที่ 22 พ.ค. - 16 มิ.ย.จะยังถือว่านายจารุพงศ์เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยอยู่ แต่ก็ต้องดูการกระทำเป็นกรณีไป ซึ่งการตั้งองค์กรเสรีไทยของนายจารุพงศ์ เกิดขึ้นภายหลังวันที่ 16 มิ.ย. จึงไม่ใช่การกระทำของพรรค แต่หากพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว และพบว่ามีสมาชิกพรรคเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือพรรคเข้าไปสนับสนุนการกระทำของนายจารุพงศ์ ก็อาจเป็นความผิดให้มีการร้องยุบพรรคได้
นายธนิศร์ยังกล่าวด้วยว่า ในการประชุมรับทราบรายงานผลการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2555 ของ 26 พรรคการเมืองที่มีการตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. กลุ่มที่การดำเนินการไม่พบสิ่งผิดปกติ มี 5 พรรคได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังพัฒนา พรรคพลังเครือข่ายประชาชน พรรคประชาสามัคคี พรรคถิ่นกาขาว 2. กลุ่มที่พบความบกพร่องเล็กน้อยและแก้ไขแล้ว มี 14 พรรค ได้แก่ พรรคยางพาราไทย พรรคเพื่อฟ้าดิน พรรครักสันติ พรรคท้องถิ่นไทย พรรคเพื่อธรรม พรรคประชากรไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชาราษฎร์ พรรครักประเทศไทย พรรคแทนคุณแผ่นดิน พรรคประชาสันติ พรรคชาติสามัคคี พรรคภูมิใจไทย และพรรคมหาชน
3. กลุ่มที่พบความบกพร่องมากและไม่สามารถแก้ไขได้ มี 3 พรรค ได้แก่ พรรคกสิกรไทย พลังเศรษฐกิจไทย พรรคเพื่อประชาชนไทย 4. กลุ่มที่ไม่จัดส่งรายงานต่อนายทะเบียน มี 4 พรรคอนุรักษ์สยาม เครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย พรรคบำรุงเมือง พรรคพลังแผ่นดินไทย ซึ่งหลังจากนี้นายทะเบียนพรรคการเมือง ฯ จะได้ประกาศผลการตรวจสอบนี้ต่อสาธารณะและได้มีหนังสือแจ้งไปยังพรรคการเมืองในกลุ่มที่ 4 ให้แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการไม่จัดทำรายงาน และมีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองโดยขณะนี้อยู่ระหว่างการบังคับคดีอยู่ อย่างไรก็ตาม ยังมีพรรคการเมืองอีกจำนวนหนึ่งที่การตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของปี 54-55 ยังไม่แล้วเสร็จ กกต.ก็จะเร่งดำเนินการต่อไป