สะเก็ดไฟ
กลายเป็นที่รู้จักขึ้นมาในชั่วข้ามคืน เมื่อ “สุวิทย์ มิ่งมล” ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) พลิกบทบาทจากสื่อมวลชนผู้กระหายข่าวมาให้สปอตไลต์ส่องเสียเอง เมื่อเป็นหัวหอกของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ประชาคม MCOT” ในการประท้วงมติบอร์ด อสมท ที่แต่งตั้ง “กมลาสิริ อิศรางกูร ณ อยุธยา” ขึ้นนั่งตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของ อสมท
โดยหยิบยกเหตุผลที่คัดค้านว่า “กมลาสิริ” เหลืออายุงานอีกเพียง 3 เดือนก่อนที่เกษียณราชการ และยังเคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการในโครงการจัดซื้ออุปกรณ์ “ดิจิตอลทีวี” ที่ “ประชาคม MCOT” บอกว่ามีส่วนทำให้โครงการล่าช้าเสียหาย
ล่าสุด “สุวิทย์” ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ “พล.อ.อ ประจิน จั่นตอง” รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ ให้ช่วยตรวจสอบการทุจริตในโครงการต่างๆ ของ อสมท รวมไปถึงตรวจสอบ “กมลาสิริ” รักษาการซีอีโอคนปัจจุบัน
มองมุมหนึ่งถือเป็นแอ็กชันของพนักงานคนหนึ่งที่อยากให้มีการปัดกวาดบ้านของตัวเอง แต่หากเพ็งพินิจให้หนักก็จะพบสิ่งผิดปกติหลายประการด้วยกัน และทำให้ “ละครน้ำเน่า” เรื่องนี้ดูที่ไม่สมจริงเท่าใดนัก
ตั้งแต่การเคลื่อนไหวที่ไม่ได้ทำในนาม “สหภาพ อสมท” ทั้งที่ตัวเป็งประธานสหภาพฯอยู่ จึงเป็นที่มาของสมมติฐานที่ว่า “คน อสมท ส่วนใหญ่” ไม่เอาก้วยกับการเคลื่อนไหวครั้งนี้ จนต้องอุปโลกน์กลุ่ม “ประชาคม MCOT” ขึ้นมาแทน
รวมไปถึงมีข้อมูลอีกด้านจากเสียงของคนใน อสมท เองที่เชื่อว่างานนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง โดยเฉพาะบทบาทของ “กมลาสิริ” ที่ผ่านมานั้นเป็นผู้ได้รับมอบหมายจาก “กระทรวงการคลัง” ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ อสมท สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจสอบคดีทุจริต ทั้ง 3 คดี ตามที่ สตง.ได้มีหนังสือด่วนมาถึง อสมท โดยมีมูลค่าความเสียหายกว่า 140 ล้านบาท
สิ่งที่น่าแปลกใจอีกประการคือการที่ “สุวิทย์” ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องคดีทุจริตภายใน อสมท นั้น มุ่งโจมตีแต่โครงการจัดซื้ออุปกรณ์ “ดิจิตอลทีวี” ซึ่ง “กมลาสิริ” ได้เคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการเปิดซอง และมีคำการันตีจาก สตง.ที่ระบุว่า ไม่พบการทุจริตในโครงการดังกล่าว ที่สำคัญ “อสมท” ไม่ได้อยู่ในฐานะผู้เสียหาย เพราะยังไม่ได้มีการเบิกจ่ายงบประมาณในโครงการดังกล่าวไปแม้แต่สตางค์เดียว
จะมีก็เพียงโครงการ “จัดเช่า” ที่ตั้งขึ้นมาซ้ำซ้อน ทำให้ อสมท เสียเงินโดยไม่จำเป็นถึง 18 ล้านบาท ซึ่งก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงการ “จัดซื้อ” แต่ประการใด
ลงลึกไปถึงตัวตนของ “หัวหอกประชาคม MCOT” ก็พบว่าไม่ธรรมดา เพราะเคยมีการเปิดเผยหลักฐานว่า “สุวิทย์” เป็น 1 ใน 3 พนักงาน อสมท ที่บินไปพบ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” ถึงเกาะฮ่องกง ในสมัยที่พรรคเพื่อไทยเรืองอำนาจช่วง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ยังนั่งหน้าแป้นแล้นเป็นนายกฯอยู่
ที่สำคัญเที่ยวบิน TG 628 เมื่อวันที่ 25 ก.ย.56 นอกจากจะปรากฎชื่อ “สุวิทย์ มิ่งมล” บนที่นั่ง 49D ขณะที่ “นายหญิงคนหนึ่ง” ในตระกูลชินวัตร มีชื่อปรากฎบนที่นั่ง 11K อยู่อีกด้วย และเป็นช่วงเดียวกับที่ “สุวิทย์” ไม่ได้มาทำงาน โดยไม่ได้แจ้งสาเหตุการลาใดๆ จนถูกร้องเรียนมาแล้ว
“สุวิทย์และคณะ” ไปเพื่อวัตถุประสงค์ใดนั้นไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่เสียงซุบซิบใน อสมท ก็เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการวิ่งเต้นขอตำแหน่ง โดยใช้ฐานเสียงในสหภาพฯเป็นข้อแลกเปลี่ยน
ในทางกลับกันภาพลักษณ์ของ “กมลาสิริ” ที่เป็นลูกหม้อเก่าใน อสมท ได้รับการยกให้เป็น “หญิงเหล็กผู้ตงฉิน” ซึ่งตรงสเปกของกระทรวงการคลังและ สตง. จึงได้รับมอบหมายให้มาสะสางคดีทุจริตต่างๆใน อสมท เพราะที่ผ่านมาแม้มีการตรวจสอบ แต่ก็สาวไส้ไม่ถึง “ตัวการ” เสียที ก่อนที่เรื่องจะตกมาถึงมือ “กมลาสิริ”
เมื่อ “กมลาสิริ” ได้รับการโปรโมทเป็นซีอีโอ ก็ยิ่งทำให้ “มาเฟียขาใหญ่” ใน อสมท อกสั่นขวัญแขวนขึ้นมาทันที
การยืมมือ “สุวิทย์” และลูกมือ 20-30 คนในนาม “ประชาคม MCOT” มาสกัด “กมลาสิริ” ออกจากตำแหน่งรักษาการฯ จึงถือเป็นการดิ้นอีกเฮือกของ “มาเฟียขาใหญ่” ที่แฝงตัวเป็นเหลือบไรในองค์กร แต่เมื่อ “ข้ออ้าง” ในการเคลื่อนไหวไม่แนบเนียน ข้อสงสัยต่างๆจึงพุ่งเข้าใส่ “สุวิทย์” ซึ่งออกหน้าออกตา ขณะที่ “ตัวการใหญ่” คอยหลบอยู่ในมุมมืด
คำถามถึง “สุวิทย์ มิ่งมล” ว่าที่ออกตัวแรงขนาดนี้ ต้องการที่จะเก็บกวาดบ้านตัวเองจริงหรือไม่
หรือแท้ที่จริงมีใครชักใยอยู่อย่างที่หลายคนสงสัย