รายงานการเมือง
ไม่ผิดไปจากที่คาดไว้ เมื่อผลการประชุมนัดสุดท้ายระหว่าง “อัยการสูงสุด” (อสส.) กับ “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ” (ป.ป.ช.) ในการพิจารณาคดี “สรยุทธ-ไร่ส้ม” ยักยอกเงินโฆษณาจาก บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จนได้รับความเสียหาย 138,790,000 บาท จะไม่ได้ข้อยุติ เพราะทั้งสองฝ่ายมีธงที่ตั้งไว้คนละมุม
ฝ่ายหนึ่งทาง อสส.ในฐานะ “ทนายแผ่นดิน” อ้างว่ามี “ความไม่สมบูรณ์” ในสำนวนคดีที่ ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิด “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” พิธีกรชื่อดังและพวก, บริษัท ไร่ส้ม จำกัด, พนักงานบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในคดียักยอกเงินโฆษณาจากบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กว่า 138 ล้านบาท
โดย อสส.เสนอให้ทาง ป.ป.ช.สอบเพิ่มอีก 5 ประเด็นก่อนพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่อีกครั้ง ขณะที่ฝ่าย ป.ป.ช.ก็ยืนยันในจุดยืนเดิม ที่เห็นว่าสำนวนคดีมีความสมบูรณ์สามารถส่งฟ้องได้ทันที และหาก อสส.ยังคงยืนกรานไม่ยื่นฟ้อง ป.ป.ช.ก็ขอสำนวนคืนกลับมาฟ้องร้องคดีเองตามขั้นตอนของกฎหมายซึ่งเรื่องนี้ได้ผ่านที่ประชุมใหญ่ ป.ป.ช.ไปแล้วเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว ขณะที่ทาง ป.ป.ช.มองว่า 5 ประเด็นที่ อสส.พยายามเสนอให้สอบสวนเพิ่มเติมนั้น เป็นเรื่องหยุมหยิมไม่ใช่สาระสำคัญของคดีจึงไม่ตกหลุมในเกม “ยื้อเวลา” ของฝ่าย อสส.
ย้อนที่มาที่ไปของคดีฉาวที่กลายเป็นตราบาปของ “สรยุทธ-ไร่ส้ม” มาจนถึงทุกวันนี้ โดย “เฮียสอ” ได้เข้ามาร่วมงานกับทาง อสมทตั้งแต่ช่วงเดือน มิ.ย. 46 รับการว่าจ้างเป็นผู้ดำเนินรายการ “ถึงลูกถึงคน” จนได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงก่อนที่จะตั้ง “บริษัท ไร่ส้ม จำกัด” ผลิตรายการ “คุยคุ้ยข่าว” ออกอากาศทาง อสมท ระหว่างปี 2547-2549 โดยมีตัวเองเป็นผู้ดำเนินรายการ
ตามสัญญาระบุว่า ในรายการ “คุยคุ้ยข่าว” ที่ออกอากาศทุกวันเสาร์-อาทิตย์ วันละ 1 ชั่วโมงระหว่างเวลา 12.00-13.00 น.จะมีการโฆษณาได้ครั้งละ 5 นาที หากเกินจากนั้นให้เสียค่าโฆษณาให้ อสมท นาทีละ 2 แสนบาท ส่วนรายการ “คุยคุ้ยข่าว” ที่ออกอากาศวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 21.30-22.00 น. โฆษณาได้ไม่เกิน 2.30 นาที หากเกินต้องจ่ายเงินให้ อสมท นาทีละ 2.4 แสนบาท
เรื่องมาแดงขึ้นเมื่อช่วงปี 2549 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.อสมท ตรวจพบว่า “บ.ไร่ส้มฯ” ของ “เฮียสอ” ค้างรายได้จากการโฆษณาเป็นเงินเกือบ 100 ล้านบาท แม้สุดท้ายทาง “บ.ไร่ส้มฯ” ได้รีบชำระเงินค่าโฆษณาส่วนเกินให้อสมท เป็นเงินจำนวนกว่า 138 ล้านบาทเมื่อรวมดอกเบี้ยเป็นเงินกว่า 152 ล้านบาท
จุดนี้กลายเป็นใบเสร็จมัดตัวเองของ “บ.ไร่ส้มฯ” ที่ยอมรับว่ากระทำผิดชัดเจน
แม้จะได้รับค่าเสียหายคืนแล้วแต่ทาง อสมท ก็ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยดึง “มือปราบโกง” อย่าง “พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ” มาเป็นประธานสอบพร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิอีกคับคั่ง ทั้ง “นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ-ธานี สมบูรณ์ทรัพย์-สมัคร เชาวภานันท์-รัตพงษ์ สอนสุภาพ”
ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวพบว่ามีการกระทำผิดจริง โดยทางพนักงาน อสมท ที่เกี่ยวข้องมีส่วนรู้เห็นนับสิบราย แต่ที่ถูกหวยเข้าอย่างจัง คือ “พิชชาภา เอี่ยมสอาด” ซึ่งขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการระดับ 5 สำนักกลยุทธ์การตลาด อสมท เพราะมีหน้าที่โดยตรงในการจัดคิวโฆษณา เพียงแต่เมื่อมีโฆษณาเกินเวลา กลับไม่รายงานต่อผู้บังคับบัญชา
แถมยังมีชื่อเป็นผู้รับเช็คที่ “เฮียสอ” ได้ลงลายมือสั่งจ่ายค่าตอบแทนให้อีกหลายฉบับ ซึ่ง “พิชชาภา” ได้ให้การในชั้น ป.ป.ช.รับสารภาพพร้อมรำพึงด้วยว่า “พี่สรยุทธขอร้องให้ช่วยเหลือ”
สุดท้าย “พิชชาภา” ถูกชี้ว่ามีความผิดทางวินัยร้ายแรง ขณะที่พนักงาน อสมท รายอื่นๆ ก็มีความผิดลดหลั่นกันไป แต่ก็ยากจะเชื่อว่า “พนักงานระดับปฏิบัติการ” หาญกล้ากระทำความผิดทุจริตในระดับร้อยล้านบาทโดยไม่มี “เบื้องหลัง” ได้อย่างไร
เพราะไม่เพียงแต่ตัวเลข 138,790,000 บาทในส่วนของ “ค่าโฆษณาส่วนเกิน” รายการ “คุยคุ้ยข่าว” โดย “บ.ไร่ส้มฯ” ที่ไม่ได้บันทึกไว้จนมีคนไปตรวจพบเท่านั้น ความเสียหายของ อสมท ที่คณะกรรมการฯ ชุด “พล.ต.อ.ประทิน” ตรวจพบยังมีในเรื่อง “โฆษณาผี” ที่ไม่ได้ลงในคิวโฆษณาทั้งของ อสมท หรือ “บ.ไร่ส้มฯ” ที่ทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันแต่ตรวจสอบพบได้ยาก เพราะรู้เห็นกันเฉพาะผู้ผลิตรายการกับทางพนักงานที่รับผิดชอบมีหลากหลายรูปแบบทั้งการวางผลิตภัณฑ์ ชุดที่พิธีกรสวมใส่ การอ่านข่าวประชาสัมพันธ์การร่วมสนุกชิงรางวัล หรือกระทั่งการแจกของรางวัลต่างๆ
ต่างๆ เหล่านี้มีมูลค่ามหาศาลและอาจทำให้ตัวเลข 138 ล้านบาทอาจดูเด็กๆ ไปเลย
ไล่เรียงรายชื่อพนักงาน อสมท ที่ถูกสอบสวนและตั้งข้อหาความผิดมีชื่อหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือ รายของ “ธนะชัย วงศ์ทองศรี” ที่ในขณะเกิดกรณี “คุยคุ้ยข่าว” เมื่อปี 2548 นั่งคล่อมเก้าอี้ใน อสมท อยู่หลายตำแหน่ง ทั้งหัวหน้าฝ่ายกฎหมายธุรกิจ, ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายธุรกิจ, รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยใหญ่สำนักกฎหมายและเลขานุการบริษัท ตลอดจนไปถึง “ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สำนักกลยุทธ์การตลาด” พูดง่ายๆ คือเป็นผู้บังคับบัญชาของบรรดาพนักงาน อสมท ที่ถูกสอบสวนว่ามีความเกี่ยวพันในการยักยอกค่าโฆษณาร่วมกับ “บ.ไร่ส้มฯ” นั่นเอง
ในรายงานสอบสวนข้อเท็จจริงระบุไว้ว่าการทำหน้าที่ของ “ธนะชัย” ส่งผลเกิดความเสียหายแก่ อสมท เนื่องจากไม่มีพื้นฐานความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการทำหน้าที่ด้านกลยุทธ์การตลาดแม้แต่น้อยที่สำคัญในฐานะผู้บังคับบัญชาของบรรดาพนักงาน อสมท ที่ร่วมกระทำความผิดกลับละเลยการกำกับ ควบคุมดูแลการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชา จนทำให้เกิดการทุจริตต่อหน้าที่
นอกจากนี้ ในฐานะ “ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายธุรกิจ” เมื่อรู้ว่ามีการโฆษณาเกิน กว่ากำหนดในสัญญาแต่ก็ยังละเลยไม่สั่งการให้ตรวจสอบคิวโฆษณาของ “บ.ไร่ส้มฯ” เพื่อรักษาผลประโยชน์ของ อสมท แม้แต่น้อย ทั้งที่สามารถตรวจสอบพบได้โดยง่าย
ทั้งยังพบพฤติกรรมน่าสงสัยในระหว่างการตรวจสอบเรื่องนี้ในช่วงปี 2549 เมื่อมีรายงานว่า “ธนะชัย” ได้ยึดเอกสารจาก “พิชชาภา” หลายฉบับรวมทั้งหลักฐานสำคัญอย่างหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่ง “บ.ไร้ส้มฯ” เป็นผู้ออกให้ “พิชชาภา” ซึ่งเป็นหลักฐานว่ามีการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่กัน ปรากฏว่า “ธนะชัย” เลือกที่จะเก็บเอกสารต่างๆ ไว้อย่างมีพิรุธเป็นเวลานานก่อนจะนำออกมาเปิดเผยในภายหลัง
เมื่อประมวลความเกี่ยวพันของ “ธนะชัย” กับกรณี “สรยุทธ-ไร่ส้ม” แล้ว ถือว่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า “พิชชาภา” หรือพนักงานคนอื่นๆ แม้แต่น้อย อีกทั้งยังเป็นถึงระดับผู้บริหารมีหน้าที่ความรับผิดชอบในกรณีนี้หลายด้านทั้งในส่วนกลยุทธ์การตลาด และด้านกฎหมาย แต่กลับมีพฤติกรรมอันชวนสงสัยหลายประการ
แต่มาวันนี้ “ธนะชัย” กลับได้ดิบได้ดีอย่างต่อเนื่องจนก้าวขึ้นมาเป็น “รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายงานบริหาร” แบบเต็มตัว
น่าเสียดายที่คณะกรรมการฯ ชุดของ “พล.ต.อ.ประทิน” ได้หยุดการทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงไปก่อนในขณะที่กำลังสืบสาวราวเรื่องจนเกือบถึงระดับ “ผู้บงการ” เป็นผลให้ความผิดไปถึงแค่พนักงานในระดับปฏิบัติการ
พอเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาก็มีขบวนการ “ตัดตอน” ให้พนักงานระดับล่างที่มีชื่อเกี่ยวข้องลาออกจาก อสมท เพื่อยุติความเชื่อมโยงต่างๆ
เหมือน “มดตัวเล็ก” ที่ต้องเข้ารับเคราะห์กรรมเพราะดันมีชื่อเข้าไปพัวพันโดยตรง ในขณะที่ “เบื้องหลัง” ยังมี “มดตัวใหญ่” คอยบงการและยังฝังตัวเป็นเหลือบไรกัดกินองค์กร อสมท อยู่