ปธ.กสม.เผย กสม.ห่วงกังวลความรุนแรงมาตลอด เตรียมลงพื้นที่ไฟใต้หลังเหตุป่วนคร่า 3 ชีวิต เจ็บกว่า 70 ราย เสียใจกับครอบครัว ประณามผู้ก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนป่าเถื่อน “ไพบูลย์” หนุน จนท.เข้มงวดมาตรการความสงบ ให้ ปชช.รู้สึกปลอดภัย ขอคนพื้นที่แจ้งเบาะแส คืนสันติ เยียวยาฟื้นฟูผู้รับผลกระทบ
วันนี้ (26 พ.ค.) นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ได้เกิดเหตุระเบิดหลายพื้นที่กลางอำเภอเมือง และอำเภอหนองจิก จ.ปัตตานี อำเภอรือเสาะ จ.นราธิวาส เป็นเหตุให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตจำนวน 3 ราย ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวน 70 กว่าราย และทรัพย์สินเสียหายว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เคยแสดงความห่วงใยและความกังวลต่อการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบมาโดยตลอด ทั้งนี้ได้มีกำหนดลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบและติดตามการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อไป
นางอมรากล่าวเพิ่มเติมว่า ขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่งต่อผู้ที่เสียชีวิต ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ และครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และขอแสดงความห่วงใยในสวัสดิภาพของประชาชนในพื้นที่ และขอประณามการกระทำของผู้ก่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงโดยใช้วิธีการที่ป่าเถื่อน โหดร้ายไร้มนุษยธรรม ผิดต่อกฎหมาย ละเมิดสิทธิมนุษยชน และหลักมนุษยธรรมซึ่งเป็นหลักสากลที่ทุกฝ่ายต้องยึดถือ จึงขอประณามการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ
นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และรองประธานคณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากจะเศร้าสลดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการสูญเสียในครั้งนี้ และขอสนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้ความพยายามในการดำเนินมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อย และคงต้องเพิ่มมาตรการในการรักษาความสงบเรียบร้อยให้มีความเข้มงวดเพื่อก่อให้เกิดความเชื่อมั่น และประชาชนรู้สึกปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน การประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิตอย่างปกติสุข ด้วยความร่วมมือของภาคประชาชนในพื้นที่ที่ต้องร่วมมือร่วมใจในการเฝ้าระวัง แจ้งเบาะแสของผู้กระทำความผิด และการป้องกันเหตุการณ์ความรุนแรง เพื่อความสันติสุขให้กลับคืนมา พร้อมให้การดูแลและรักษาพยาบาลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ และเร่งเยียวยาความเสียหายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด รวมถึงฟื้นฟูจิตใจและความบอบช้ำของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์และต้องดำเนินการตามกฎหมายโดยสืบสวนสอบสวนเพื่อเร่งหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายต่อไป