แม้จะเริ่มเห็นบรรยากาศที่ดีมากขึ้น หลังตัวแทนคู่ขัดแย้งสองขั้วสำคัญคือ “พรรคประชาธิปัตย์-กปปส.”กับ “พรรคเพื่อไทย-นปช.”ไปนั่งร่วมวงเจรจาพูดคุยกันที่สโมสรกองทัพบก เมื่อ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ผอ.รส.) นั่งคุมทิศทางการประชุมด้วยตัวเอง
ทว่าดูแล้ว เมื่อทั้งสองขั้วสำคัญ ต่างก็มีธงของตัวเองที่ไม่ยอมลดให้กันได้ และเห็นต่างกันโดยสิ้นเชิง ใน 2 ปมสำคัญคือ
1.จะปฏิรูปก่อนเลือกตั้งหรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูป
2.ฝ่ายกปปส.ต้องการให้มีนายกรัฐมนตรีคนกลาง แต่เพื่อไทยและนปช.ยืนยันว่ารัฐบาลรักษาการเวลานี้ต้องอยู่ต่อไป จนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่หลังเลือกตั้งมาบริหารประเทศไม่สามารถตั้งนายกฯคนนอกได้
เลยทำให้คาดว่า กว่าจะได้ข้อยุติอาจต้องใช้เวลาละลายและเขย่าความคิดกันอีกสักระยะ หรือไม่สุดท้าย พลเอกประยุทธ์ ก็ต้องทุบโต๊ะเด็ดขาดไปเลย ว่าจะให้จบแบบไหน โดยที่ความเป็นไปได้ในการรัฐประหารก็ยังคงมีคนพูดถึงอยู่ หากสุดท้ายตกลงกันไม่ได้
ถึงตอนนี้ การหาทางออกประเทศ ที่มีคนเสนอให้ต้องมี “นายกรัฐมนตรีเฉพาะกิจที่มีอำนาจเต็มมาบริหารประเทศ”จึงเป็นเรื่องที่ยังคงมีความเป็นไปได้อยู่ เพียงแต่วิธีการจะทำอย่างไร เป็นเรื่องที่ได้มีคนเข้ามาช่วยคิดมากขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้ “สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย” ว่าที่ประธานวุฒิสภากับสมาชิกวุฒิสภาเสียงข้างมากในวุฒิสภาขับเคลื่อนกันไปตามลำพังเหมือนก่อนหน้านี้
ยามนี้ ฝ่ายพลเอกประยุทธ์ และทีมงานเสนาธิการข้างกาย ก็ขบคิดเรื่องความเป็นไปได้ในการให้มีนายกฯคนกลางเช่นกัน และเชื่อว่า สาเหตุสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้ พลเอกประยุทธ์ต้องทำการออกกฎอัยการศึกในตอนตี 3 ของวันที่ 20 พ.ค. ก็เพราะเห็นว่าการเมืองถึงทางตัน หลังนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกฯปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีและชัยเกษม นิติศิริ รมว.ยุติธรรม ยืนกรานที่จะ ไม่ลาออกเพื่อเปิดช่องให้มีนายกฯเฉพาะกิจอย่างที่ส.ว.ต้องการในการเจรจากับตัวแทนส.ว.เมื่อ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา จนทำให้การเดินหน้าเลือกนายกฯเฉพาะกิจของส.ว.แม้จะทำ
ได้แต่ก็เสี่ยงจะทำผิดรัฐธรรมนูญ
การที่รัฐบาลแข็งขืนไม่ยอมลาออกดังกล่าว ขณะที่การเลือกตั้งก็ดูแล้วเป็นไปได้ยากที่จะเกิดขึ้นหรือหากเกิดขึ้นก็ต้องมีปัญหาวุ่นวายเหมือนเมื่อ 2 ก.พ. 57 ส่วน สุรชัยและส.ว.ก็ติดแหงก เดินหน้าหานายกฯมาตรา 7 ไม่ได้ เพราะติดขัดทั้งด้านกฎหมายและการเมืองสารพัด
ก็เลยอาจเป็นสาเหตุทำให้พลเอกประยุทธ์ ต้องลงมาเคลียร์พื้นที่การเมือง เพื่อผ่าทางตันนั่นเอง ซึ่งหนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ยากจะคาดเดาได้ แต่ “ทีมข่าวการเมือง”ขอโฟกัสไปที่ ความเป็นไปได้ในการมี “นายกฯเฉพาะกิจ” หลังจากมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกแล้ว ผลจะเป็นอย่างไรต่อไป?
ในการนัดหารือระหว่างตัวแทน 7 ฝ่ายกับพลเอกประยุทธ์และบิ๊กทหารเมื่อ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ ก็ได้ตั้งโจทย์ให้ทุกฝ่ายไปขบคิดด้วยถึงความเป็นไปได้ในการ “ตั้งนายกฯคนกลาง โดยยึดกฏหมาย” และ”การตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล โดยวุฒิสภา” ว่าทำได้หรือไม่อย่างไร อันแสดงให้เห็นว่า พลเอกประยุทธ์และกองทัพ ก็ไม่ได้ปฏิเสธสูตรแก้ปัญหาประเทศด้วยการมี “นายกฯคนกลาง -รัฐบาลเฉพาะกาล”
เพียงแต่หนทางจะไปถึงขั้นนั้นจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เป็น ข้อสอบ ที่พลเอกประยุทธ์ต้องการให้ฝ่ายการเมืองไปขบคิดหาทางออกมาให้ว่าเป็นไปได้หรือไม่ ส่วนคำตอบจะออกมาเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ ยากจะประเมินได้
แต่ดูแล้ว ยังไง ฝ่ายเพื่อไทย-นปช. ก็คงคัดค้านเต็มที่ ยากจะยอมให้เกิดขึ้นได้ แม้จะรู้ดีว่า ตัวเองอยู่ในสภาพที่ต่อรองกับกองทัพไม่ได้แล้ว เห็นได้จากที่ นปช.หงอทันที เมื่อเจอพลเอกประยุทธ์เล่นไม้แข็ง ประกาศกฎอัยการศึก แถมทำตัวเป็นเด็กดี ไปเข้าประชุมร่วมกับ พลเอกประยุทธ์ จนเสื้อแดงสายฮาร์ดคอร์บ่นกันพรึม แต่หากสุดท้าย ถ้าพลเอกประยุทธ์ไปเอาด้วยกับข้อเสนอเรื่องนายกฯคนกลาง ทางฝ่ายนปช.-เพื่อไทย ก็คงยอมได้ยาก ต้องแข็งขืนจนสุดกำลัง
ถ้าสถานการณ์ไปถึงจุดนั้น การเมืองก็อาจถึงทางตัน สุดท้าย ก็คงได้เห็น ลีลา บิ๊กตู่ จะตัดสินใจเด็ดขาดอย่างไร เพื่อจบปัญหานี้
ทั้งนี้ พิจารณาแล้ว ช่องทางการให้มีนายกฯคนกลาง ในชั้นวุฒิสภา หากรัฐบาลรักษาการไม่ยอมลาออก ก็ยากมากที่วุฒิสภาจะดำเนินการได้ เว้นแต่ ต้องยอม แลกกันไปข้าง คือ ส.ว.ก็ลุยเลือกนายกฯกันไปเลย แล้วก็รอรับผลที่จะตามมา โดยกระบวนการก็คงเป็นไปอย่างที่ส.ว.หลายคนได้เสนอความคิดไว้ก่อนหน้านี้
เช่น การใช้รัฐธรรมนูญหลายมาตราควบคู่กันไป เช่น มาตรา 7 ,มาตรา 132(2) รวมถึงข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา
กระบวนการตั้งนายกเฉพาะกิจแม้จะมีส.ว.เสนอไว้หลายทาง แต่หลักๆ ที่ส.ว.เริ่มตกผลึกแล้วว่าจะทำกันก็คือ จะอ้างว่า ด้วยรัฐบาลเวลานี้สิ้นสุดสภาพการเป็นรัฐบาลไปแล้ว นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ไม่สามารถทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีได้ ประเทศไม่มีรัฐบาล ประชาชนเดือดร้อนแสนสาหัส ระบบการบริหาราชการแผ่นดินล้มเหลวมาหกเดือนแล้ว หากปล่อยให้เป็นแบบนี้จะมีผลกระทบกับประเทศโดยรวม เช่นระบบบริหารราชการแผ่นดิน การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี อีกทั้งปัญหาของประชาชน ที่หนักสุดคือปัญหาชาวนาไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าว ไม่ได้รับการแก้ไข จึงมีความจำเป็นที่วุฒิสภาต้องทำหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มีอำนาจเต็มมาบริหารประเทศ
โดยจะให้วุฒิสภาทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร และมีการยกเหตุผลต่อไปว่า เหตุที่วุฒิสภาจำเป็นต้องเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะดูแล้ว การเลือกตั้งคงเกิดขึ้นได้ยากหรือหากเกิดขึ้นก็คงยากกว่าจะมีสภาฯ มาเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ประเทศจะปล่อยให้รอนานแบบไม่มีความหวังเช่นนั้นไม่ได้
ดังนั้นวุฒิสภาจึงต้องทำหน้าที่แทนสภาฯ ด้วยการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ผ่านการเรียกประชุมวุฒิสภาเป็นกรณีพิเศษตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ที่จะให้ส.ว.เข้าชื่อกัน 1 ใน 4 ของจำนวนส.ว.ที่มีอยู่ ยื่นเรื่องต่อประธานวุฒิสภาเพื่อขอเปิดประชุมวุฒิสภา จากนั้น ก็จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรี แล้วก็ให้ นายสุรชัย ที่แม้จะเป็นรองประธานวุฒิสภาแต่ก็ทำหน้าที่เสมือนประธานวุฒิสภา นำรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่วุฒิสภาโหวตคัดเลือกมาทูลเกล้าฯรายชื่อต่อไป
ส่วนรายละเอียดเรื่องจะเอาใครมาเป็นนายกฯ แล้วคณะรัฐมนตรีจะเป็นใครมาจากไหน รวมถึงอายุของรัฐบาลจะอยู่กี่เดือนหรือไม่เกินหนึ่งปีพอทำเรื่องปฏิรูปเสร็จก็คืนอำนาจให้ประชาชน
เรื่องที่มาและกำหนดเวลาในการเป็นนายกฯเฉพาะกิจนี้ ส.ว.บอกว่าให้เป็นเรื่องของนายกฯเฉพาะกิจที่ส.ว.เลือกกันขึ้นมาไปว่ากันเอาเองทีหลัง เห็นว่าส.ว.จะตอบแบบนี้คงไม่ถูก เพราะเชื่อว่าระหว่างเส้นทางการเดินไปของวุฒิสภาเพื่อทำเรื่องนี้ ทางส.ว.ก็ต้องเคลียร์ทุกข้อสงสัยข้างต้นให้ได้เสียก่อน ไม่ใช่ว่าดุ่ยๆ ไปโหวตเลือกนายกฯกันเลย โดยประชาชนไม่รู้ว่าจะเอาใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อที่สังคมจะได้ตรวจสอบทัดทานกันให้ดีเสียก่อน ไม่ใช่ว่าวุฒิสภาจะไปเอาใครก็ได้มาเป็นนายกฯ มาทำกันแบบหมกเม็ด ผู้คนจำนวนไม่น้อยรวมถึงมวลชนกปปส.ก็คงไม่ยอม เพราะถือว่าไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม
โดยกระบวนการสรรหาและเลือกนายกฯเฉพาะกิจข้างต้น ขั้นตอนและวิธีการ ทางส.ว.ก็จะบอกว่าทุกอย่างทำได้ เพราะเป็นการทำตามรัฐธรรมนูญมาตราต่างๆที่เปิดช่อง เช่น มาตรา 7 มาตรา 132(2) มาตรา 171 และ 172 รวมถึงข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ส่วนการคัดค้านอะไรต่างๆที่จะตามมา ก็เป็นเรื่องของอนาคตที่ค่อยไปว่ากันอีกที
เหล่านั้นคือเส้นทางคร่าวๆ ของการได้มาซึ่ง นายกฯเฉพาะกิจ ภายใต้การขับเคลื่อนของวุฒิสภา แต่ก็ยังมีอีกบางวิธีการที่ขั้นตอนทำแล้วเร็วกว่าและจบเลย แต่จะก่อให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคตมากพอกัน ก็คือการ
“รัฐประหาร”
คล้ายที่หาก พล.อ.ประยุทธ์ทำ ก็จะได้ข้อยุติโดยเร็ว และไม่มีข้อโต้เถียงใดๆ ว่าขัดรธน. เพราะก็จะได้นายกฯหลังรัฐประหาร แบบที่ผ่านมาหลายต่อหลายคน แต่ดูแล้ว พ.เอกประยุทธ์ก็คงหลีกเลี่ยงที่จะหนทางนี้ เว้นแต่ถึงทางตันขึ้นมาจนประเทศเดินต่อไม่ได้ แต่สถานการณ์โดยรวม พบว่ายังพอมีทางออกให้ได้นายกฯเฉพาะกิจได้อยู่โดยไม่ต้องมีการรัฐประหาร ดังนั้น หากจะเกิดรัฐประหารจริง ก็คงเป็นคำตอบสุดท้าย หลังทางตันหมดทุกทาง
ขณะที่ข้อเสนออื่นๆ เช่นการขอความร่วมมือให้งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ เปิดช่องให้มีนายกฯคนกลาง เมื่อพิจารณาแล้ว เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากกว่าการให้ส.ว.เลือกนายกฯเสียอีก เพราะเท่ากับเป็นการสร้างธรรมเนียมปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง หลายเสียงบอกว่าหากใช้วิธีนี้ ก็สู้ทำรัฐประหารไปเลยเสียจะดีกว่า
หนทางการคลี่คลายวิกฤตการเมืองไทย บนสูตรการให้มีนายกฯเฉพาะกิจที่มีอำนาจเต็มดังกล่าว จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ไม่น่าเกินกลางสัปดาห์หน้าทุกอย่างน่าจะชัด หรืออาจในช่วงสุดสัปดาห์นี้เลยก็ได้
ขณะที่เรื่องนี้ กำลังติดล็อก ขยับได้ลำบาก ก็กลับมีการพูดถึงชื่อ ว่าที่นายกฯคนกลาง ขึ้นมาในแวดวงการเมืองกันแล้วหลายชื่อ อาทิ
สุรเกียรติ เสถียรไทย อดีต รมว.ต่างประเทศ-ดร.กิตติพงษ์ กิตติยารักษ์ ที่ล่าสุด ครม.มีมติให้ย้ายไปเป็น ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี แต่ระหว่างนี้ ก็นั่งเป็น ปลัดกระทรวงยุติธรรมไปพลางก่อน เพราะคำสั่งย้ายต้องรอให้ กกต.เห็นชอบ - ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าฯ ธปท. -ชาญชัย ลิขิตจิตถะ องคมนตรี และอดีตประธานศาลฎีกา- พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี และอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรมว.กลาโหม และอดีตผบ.ทบ.
ชื่อที่โยนออกมา มีบางชื่อที่มีความเป็นไปได้สูง บางชื่อก็แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะบางชื่อเห็นชัดว่าใกล้ชิดกับผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมากเกินไป ในสถานการณ์ เช่นนี้ หากเข้ามาเป็นนายกฯ ย่อมไม่เหมาะด้วยประการทั้งปวง
แต่ก่อนจะไปถึงชื่อ ว่าใครจะเป็นนายกฯ ลำดับแรก คงต้องรอลุ้นว่า ประตูที่จะเปิดให้มีนายกฯเฉพาะกิจ-รัฐบาลเฉพาะกาล จะถูกเปิดออกได้หรือไม่ และด้วยวิธีการใด ที่ไม่ใช่รัฐประหาร ?