xs
xsm
sm
md
lg

“สภาสูง” หาช่องต้องชัวร์ ลุยต่อ “นายกฯ คนกลาง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย
รายงานการเมือง

นัดหมายใหญ่อีกครั้ง “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เลขาธิการ กปปส. ประกาศลั่นว่า ศึกนี้จะต้องรู้ผลแพ้ชนะภายในวันที่ 26 พ.ค. ที่หาก กปปส.ไม่ชนะ วันที่ 27 พ.ค.ก็จะไปมอบตัว สลายการชุมนุมแล้ว หลังต่อสู้มา 6 เดือนกว่า

หากจับถ้อยแถลงดังกล่าวที่ “สุเทพ” บอกไว้เมื่อ 17 พ.ค. จับทางได้ว่า แม้จะไม่ได้บอกว่าชัยชนะที่จะได้มาจะได้มาอย่างไร หากมวลชนออกมารวมตัวกันมากๆ แต่ก็ไม่ได้ถึงกับ ทิ้งความหวังเรื่องวุฒิสภา จะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอก-รัฐบาลเฉพาะกิจแต่อย่างใด เสมือนหนึ่งจะรอความหวังในเรื่องนี้อยู่พอสมควร ว่ายังอาจมีโอกาสขึ้นได้ หากเงื่อนไขพร้อม

แม้ว่า สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา และส.ว.จำนวนหนึ่งจะแถลงแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤตประเทศ เมื่อวันศุกร์ที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยยังไม่ยอมระบุความชัดเจนว่า จะมีการโหวตเลือก หรือสรรหานายกฯ คนกลาง ตามช่องทางรัฐธรรมนูญที่เปิดให้อยู่ เช่น มาตรา 7 แต่ สุรชัย และ ส.ว. ก็ไม่ได้ถึงกับบอกปัดจะไม่เอาแนวทางนี้ เพียงแต่บอกว่าขอเวลาอีกสักระยะ

อย่างเช่น รอการหารือระหว่าง นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี กับ สุรชัย ในวันจันทร์ที่ 19 พ.ค.นี้ก่อน ตามกำหนดนัดหมายที่บอกกันไว้เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หากสุดท้ายมีความจำเป็น วุฒิสภาก็พร้อมจะประชุมเป็นกรณีพิเศษเพื่อให้ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี ตามกรอบรัฐธรรมนูญ

อีกทั้ง ส.ว.จำนวนมาก ทั้ง ส.ว.เลือกตั้ง-สรรหา ที่สนับสนุนแนวทางปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งของกปปส.จำนวนมาก ก็ออกมาแสดงความเห็นสอดคล้องกัน หลังคำแถลงของ สุรชัยว่า ถึงเวลานี้ปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าจะต้องมี “นายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็ม” มาบริหารประเทศ จะปล่อยไว้แบบนี้ไม่ได้ เพียงแต่ขอให้ กปปส.-ประชาชน ให้เวลากับ ส.ว.และนายสุรชัยอีกสักระยะได้ทำเรื่องนี้ให้รอบคอบ และมีความชอบธรรมมากที่สุดเสียก่อน

ยังพบว่าความเห็นของ ส.ว.ที่สนับสนุนให้เลือกนายกฯ คนกลาง ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ท้ายสุดหากสามารถเรียกประชุมวุฒิสภาแล้วโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ขึ้นมาจริงๆ ยังไงหากต้องลงมติออกเสียงกันว่าจะเลือกนายกฯคนกลางหรือไม่ เสียง ส.ว.ที่หนุนให้เลือกนายกฯ คนกลาง น่าจะมากกว่า เสียงที่ไม่เห็นด้วยให้มีการโหวตเลือกนายกฯ

เพียงแต่การจะไปถึงขั้นต้องสรรหา และโหวตเลือกนายกฯ ของวุฒิสภา สายข่าวตึกวุฒิสภารายงานมาว่า ได้ไปเช็กเสียงดูแล้ว ส.ว.จำนวนมากบอกตรงกันว่า ไม่อยากให้รีบร้อนเพราะเป็นเรื่องใหญ่ การดำเนินการของ ส.ว. หากจะทำจริงต้องให้ชัวร์ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าทุกอย่างทำได้ไม่ขัดข้อกฎหมาย ไม่ผิดรัฐธรรมนูญ ทำแล้วไม่มีความเสี่ยง เช่น สุรชัย และ ส.ว.ที่ร่วมลงมติไม่ถูกยื่นเรื่องถอดถอนออกจากตำแหน่ง และไม่เสี่ยงถูกดำเนินคดีอาญาภายหลัง ว่ากระทำการผิดรัฐธรรมนูญ อีกทั้งต้องมั่นใจว่าหากวุฒิสภาทำเรื่องนี้ขึ้นมาจริงๆ ถ้ามีการโหวต หรือคัดเลือกนายกรัฐมนตรีขึ้นมาได้ เมื่อ สุรชัย ทูลเกล้าฯ รายชื่อนายกฯไปแล้ว ไม่เกิดปัญหาขึ้นภายหลัง

ส่วนเรื่องที่ว่า สุรชัย จะรอให้ นิวัฒน์ธำรง และรัฐมนตรีทั้งหมดลาออก เพื่อให้เกิดสุญญากาศจะได้ตั้งนายกฯ ได้แบบไร้ข้อกังวลนั้น ส.ว.ส่วนใหญ่ก็เชื่อว่าต่อให้เรียกร้องยังไงก็คงยากที่รัฐบาลจะเอาด้วย ทำให้ ส.ว.ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ตั้งความหวังอะไรไว้อยู่แล้ว ในการที่ สุรชัย และตัวแทน ส.ว. จะไปเจรจากับคนของรัฐบาล ในวันจันทร์ที่ 19 พ.ค.นี้ ที่ล่าสุดสุรชัยเปิดเผยว่าตัวนิวัฒน์ธำรงให้คำยืนยันมาแล้วว่า ไม่เลื่อนนัดหมายแน่นอน

แต่ ส.ว.หลายคนในวุฒิสภา โดยเฉพาะมือกฎหมายคนสำคัญๆ ต่างไม่ค่อยให้ความสนใจการหารือดังกล่าวมานัก ต่างเอาเวลาไปพิจารณารัฐธรรมนูญ และข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อดูถึงความเป็นไปได้ที่ สุรชัยและวุฒิสภา จะมีการโหวตเลือกนายกฯกันไปล่วงหน้าหมดแล้ว ว่าหากจะทำ จะต้องทำยังไง ใช้ช่องทางไหน จะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในกี่วัน หากทำแล้วจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง แล้วจะรับมืออย่างไร เช่น หากวุฒิสภาโหวตเลือกนายกฯ หรือสุรชัย นำรายชื่อนายกฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ขึ้นมาจริงๆ หากมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ ทาง ส.ว.จะรับมืออย่างไร

ตอนนี้ ส.ว.บางส่วนมองไปถึงขั้นตอนการให้ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้วหลายคน ไม่มีใครรอผลการพูดคุยระหว่าง ส.ว.กับรัฐบาลเท่าไหร่ เพราะดูแล้วคงไม่น่ามีอะไรคืบหน้าเป็นรูปธรรม และต่างเชื่อว่ารัฐบาลคงพลิกข้อกฎหมายสู้หลายตลบ เพื่อขัดขวาง ส.ว.ไม่ให้ทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ โดยเฉพาะการเล่นแง่ข้อกฎหมายสารพัด เพื่อชิงไหวชิงพริบกับส.ว. และนายสุรชัย

ขณะเดียวกันก็มีข่าวอีกบางกระแสว่า ส.ว.บางส่วนที่หนุนหลังให้วุฒิสภาเลือกนายกฯคนใหม่ หลายคนก็เริ่มหนักใจแล้วว่า เส้นทางที่จะไปถึงขั้นตอนนั้น ไม่ค่อยราบรื่นเท่าไหร่ เพียงแต่ไม่มีการยอมเปิดเผยรายละเอียดว่า อุปสรรคสำคัญนอกจากเรื่องข้อกฎหมาย-ข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ ที่ถูกโต้จากฝ่ายรัฐบาลว่า วุฒิสภาทำเรื่องนี้ไม่ได้ แล้วยังมีอะไรอื่นอีก ที่เริ่มทำให้ ส.ว.หลายคนชักกังวลว่า

สุดท้ายเรื่องนายกฯ มาตรา 7 อาจแค่คิด แต่ถึงเวลาจริงๆ ทำไม่ได้

อย่างเช่น แนวทางที่ เดชอุดม ไกรฤทธิ์ ส.ว.สรรหา และนายกสภาทนายความ เสนอว่า เนื่องจากขณะนี้ไม่มีนายกรัฐมนตรี และสภาผู้แทนราษฎรแล้ว อีกทั้งตัวนายนิวัฒน์ธำรงก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีได้ จึงควรใช้ มาตรา 7 มาแก้ปัญหาของประเทศ ที่ไม่มีนายกรัฐมนตรี ด้วยการให้วุฒิสภาทำหน้าที่แทนสภาฯ ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ให้แล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 30 วัน หลังยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่ง คือไม่เกิน 6 มิถุนายน

แนวทางของ “เดชอุดม” ที่เคยเสนอต่อวงหารือ ส.ว.นอกรอบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มองว่าตัว สุรชัย ทำเรื่องนี้ได้เองทั้งหมด โดยไม่จำเป็นต้องรอโปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานวุฒิสภา โดยเริ่มจาก สุรชัย ต้องไปพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เพื่อขอให้ พล.อ.เปรมเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในการเปิดประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ เพื่อให้วุฒิสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นการเร่งด่วน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 (2) ที่เป็นเรื่องของการให้วุฒิสภาเปิดประชุมสมัยวิสามัญในขณะที่ไม่มีสภาฯ เพื่อพิจารณาเห็นชอบให้บุคคลไปดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายกฯ ถือเป็นตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภาจึงสามารถโหวตเห็นชอบคนเป็นนายกฯ ได้

ส่วนสาเหตุที่ต้องให้ พล.อ.เปรม เป็นผู้ลงนามก็เพราะเวลานี้ไม่มีนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลแล้ว จึงต้องใช้ มาตรา 7 โดยให้ พล.อ.เปรม ทำหน้าที่รับสนองพระบรมราชโองการ หากเปิดประชุมวุฒิสภาได้ก็ให้มีการเลือกนายกฯ แล้ว สุรชัย ก็ทูลเกล้าฯ ชื่อนายกฯ คนใหม่ แบบเดียวกับสมัย นายทวี แรงขำ รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทูลเกล้าฯ ชื่อ สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกฯ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 16 จึงถือว่าเคยมีธรรมเนียมปฏิบัติ ที่อนุโลมว่าเป็นรัฐธรรมนูญมาตรา 7 มาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวก็ถูกตีโต้กลับไปหลายประเด็นว่า เป็นข้อเสนอที่ทำแล้วมีความเสี่ยงสูง เช่น สถานการณ์วันนี้กับเมื่อปี 16 แตกต่างกันมาก หากทำตามที่เดชอุดมเสนอ จะเป็นการดึงสถาบันฯ เข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง เป็นการผลักภาระให้กับสถาบันฯ

อีกทั้งแย้งว่า มาตรา 132 (2) ไม่น่าจะหมายรวมถึง ตำแหน่งนายกฯ ที่สำคัญแย้งว่า แค่ด่านแรกคือ จะให้ พล.อ.เปรม เป็นคนเดินเรื่องให้เปิดประชุมวุฒิสภาโหวตเลือกนายกฯ ก็คาดกันว่า ก็มีความเป็นไปได้ที่ พล.อ.เปรมอาจไม่ตอบรับให้ด้วยซ้ำ ถ้า พล.อ.เปรมปฏิเสธ ประตูนี้ก็เปิดออกไม่ได้ จบกันหมด

เลยมีข้อเสนอจาก ส.ว.ว่า ให้ใช้วิธีให้ ส.ว.เข้าชื่อกัน 1 ใน 4 ขอให้เปิดประชุมวุฒิสภานัดพิเศษ เป็นการภายใน ไม่ใช่การขอเปิดประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ ที่ต้องมีขั้นตอนการทูลเกล้าฯ แล้วก็โหวตเลือกนายกฯ ไปเลย กระนั้นก็มีคนแย้งว่า วิธีการดังกล่าวเสี่ยง เพราะไม่มีข้อกฎหมายรองรับ จะทำให้กลายเป็นการประชุมเถื่อน


อย่างไรก็ตาม นอกจากสูตรที่ เดชอุดม เสนอมาแล้ว ก็พบว่ายังมีอีกหลายสูตรที่ ส.ว.ยังคุยกันอยู่ว่าหากจะเลือกนายกฯ กันจริงๆ จะทำแนวทางไหนที่ทำแล้วเป็นทางออกให้กับประเทศได้มากที่สุด และมีแรงต้านน้อยที่สุด ทำให้ช่วงนี้ ส.ว.ต่างขอเวลาตรวจสอบขั้นตอนต่างๆ รวมถึงรอฟังสัญญาณอะไรบางอย่างให้ชัดก่อนถึงค่อยดำเนินการในเรื่องการให้ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี ที่มีอำนาจเต็มมาบริหารประเทศ

การที่ ส.ว.ขอตั้งหลักเรื่อง “นายกฯ คนกลาง” ให้มั่นคงเสียก่อน ที่ สุเทพ คงรับรู้ข่าวภายในมาว่า ส.ว.กำลังหาทางทำเรื่องนี้กันอยู่ ไม่ได้จะไม่เอาด้วย กับการให้มีนายกฯ ของประชาชน ที่ กปปส.เรียกร้อง สุเทพก็เลยยังไม่ตัดไมตรีกับ สุรชัย และส.ว.เสียทีเดียว

เส้นตายที่บอกจะรอวัดผลแพ้ชนะถึงวันที่ 26 พ.ค.นี้ จึงคาดว่าส่วนหนึ่งเพราะ สุเทพ ก็คงรอสัญญาณจากสภาสูงเช่นกันว่าจะเอาอย่างไรกับนายกฯ มาตรา 7
กำลังโหลดความคิดเห็น