xs
xsm
sm
md
lg

"นิวัฒน์ธำรง" พองลม ลั่นมีอำนาจเท่านายกฯ ยังไง ครม. ก็ไม่ลาออก ดักคอตั้งนายกฯ คนกลางเป็นรัฐซ้อนรัฐ

เผยแพร่:

โฆษกทำเนียบฯ เผยผลเจรจารัฐบาล-วุฒิสภา นิวัฒน์ธำรง ยังตะแบงเป็น ครม. ถูกต้องตามกฎหมายมาตรา 181 ลั่นตัวเองมีอำนาจเท่ากับนายกฯ ดักคอตั้งนายกฯ คนกลางทำไม่ได้ กลายเป็นการแต่งตั้งรัฐซ้อนรัฐ อ้างต้องมาจาก ส.ส. เท่านั้น อีกทั้งลาออกจากตำแหน่งไม่ได้ อ้างขัดรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เผยยินดีปรึกษาหาทางออกใต้รัฐธรรมนูญ

วันนี้ (19 พ.ค.) สำนักโฆษกสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ได้เผยแพร่ผลการหารือระหว่างตัวแทนรัฐบาลและตัวแทนวุฒิสมาชิก โดยเนื้อหาระบุว่า นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ได้หารือกับนายพีระศักดิ์ พอจิต ว่าที่ รองประธานวุฒิสภา และนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ สมาชิกวุฒิสภา ที่เดินทางมาร่วมหารือแทน นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย โดยแจ้งว่า นายสุรชัย ป่วยเข้าโรงพยาบาล และมีนายชัยเกษม นิติศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเข้าร่วมด้วย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ของประเทศ สรุปดังนี้

​นายนิวัฒน์ธำรง ได้ชี้แจงข้อกฎหมายเกี่ยวกับสถานะของคณะรัฐมนตรี และผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีว่า คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันเป็นคณะรัฐมนตรีที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 9/2557เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ที่ให้รัฐมนตรีที่ไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ซึ่งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันให้ทุกองค์กรไม่ว่าจะเป็น คณะรัฐมนตรี วุฒิสภา ศาล องค์กรตามรัฐธรรมนูญ เป็นต้น จะต้องปฏิบัติตาม (รัฐธรรมนูญมาตรา 216) ส่วนนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล สามารถปฏิบัติหน้าที่และมีอำนาจเท่ากับตำแหน่งที่ทำหน้าที่ (นายกรัฐมนตรี) ได้ถูกต้อง ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 10 และมาตรา 48 ดังนั้น ขณะนี้จึงมีคณะรัฐมนตรี และผู้ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่ที่ปฏิบัติราชการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างสมบูรณ์

​สำหรับประเด็นที่ว่า กลุ่มบุคคลต่างๆต้องการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนกลาง และให้มีอำนาจในการบริหารราชการได้อย่างเต็มที่ (ไม่ถูกจำกัดด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 181) รัฐบาลได้ชี้แจงว่า ไม่สามามรถกระทำได้ เพราะขณะนี้ประเทศไทยมีคณะรัฐมนตรีและผู้ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว จะแต่งตั้งซ้อนไม่ได้ อีกทั้งการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็มนั้น ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 171 และ 172 ประกอบกับอยู่ในระหว่าง พ.ร.ฎ.ยุบสภา พ.ศ. 2556 ยังบังคับใช้อยู่ ซึ่งข้อเสนอแนะเรื่องการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่อ้างว่า มีอำนาจเต็มนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะยังต้องถูกจำกัดอำนาจในการบริหารตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 จึงเป็นกรณีที่ไม่แตกต่างจากคณะรัฐมนตรีที่ปฏิบัติหน้าที่ในปัจจุบัน สรุปความว่า นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร จากการศึกษาข้อกฎหมายพบว่า ไม่มีรัฐธรรมนูญมาตราอื่นใด ระบุเรื่องการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีอีก

​สำหรับประเด็นที่มีการขอให้คณะรัฐมนตรีลาออกนั้น ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะจะเป็นการละเว้นการปฏิบัติน้าที่ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 181 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ที่กำหนดให้คณะรัฐมนตรีที่เหลืออยู่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องด้วยกันว่า ทุกฝ่ายควรหาทางแก้ปัญหาวิกฤติการเมืองโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับประเทศชาติ และประชาชนมากกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ ทางรัฐบาลยินดีปรึกษาหารือกับวุฒิสภาและฝ่ายต่างๆ ตลอดเวลาเพื่อหาทางออกที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย โดยเร็วที่สุดต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น