xs
xsm
sm
md
lg

“ไพบูลย์” ชงฟัน ครม.ขัด รธน.พ้นทั้งคณะ-ส.ว.สายรัฐ หนุนอัยการศึก เมินนายกฯ ม.7

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลุ่ม ส.ว.สายรัฐหนุนใช้อัยการศึกระงับรุนแรง แนะ ผบ.ทบ.เรียกคู่ขัดแย้งเจรจาหาทางออก ไม่หนุนกองทัพหานายกฯ คนกลาง “ส.ว.ไพบูลย์” เผยเข้าชื่อพร้อม 32 ส.ว.ให้ ปธ.วุฒิฯ ชงศาล รธน. สอบวินัย ครม.ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขัด รธน. เอื้อประโยชน์พวกพ้อง ก้าวก่าย กกต.ที่ควบคุมเลือกตั้ง ยกคำพิพากษามัดไม่ทำตาม กม. รมต.ต้องสิ้นสุดหน้าที่หรือไม่

วันนี้ (20 พ.ค.) ที่รัฐภา สมาชิกวุฒิสภาสายกลาง นำโดยนายวัน สุวรรณพงศ์ ส.ว.จังหวัดขอนแก่น นายชูศักดิ์ ศรีราชา ส.ว.อ่างทอง นายอานนท์ ต้นตระกูล ส.ว.จังหวัดน่าน ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงกรณีการประกาศกฎอัยการศึกของกองทัพว่า สมาชิกวุฒิสภาสายกลางเห็นด้วยกับการประกาศกฎอัยการศึกในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นการช่วยระงับเหตุการณ์ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงและจลาจลได้

ทั้งนี้ มีความเห็นในการสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นคนกลางในการเรียกคู่ขัดแย้งและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาเจรจาเพื่อหาทางออกให้กับประเทศในการกลับเข้าสู่ความสงบสุขโดยเร็ว นอกจากนี้ สมาชิกวุฒิสภายังระบุว่าไม่เห็นควรที่จะให้มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หรือนายกรัฐมนตรีมาตรา 7 พร้อมเรียกร้องให้บรรดาสมาชิกวุฒิสภาดำรงตนอยู่ฐานะคนกลาง เพื่อไม่ให้สังคมเกิดความสับสนและเป็นส่วนระงับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ขณะเดียวกัน ได้ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อกรณีการเดินหน้าหาทางออกให้กับประเทศของสมาชิกวุฒิสภาที่นำโดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา

ส่วนนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา เปิดเผยว่าตนพร้อม ส.ว.จำนวน 32 คนได้เข้าชื่อตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 92 ประกอบมาตรา 182 วรรคสาม เพื่อขอให้ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าคณะรัฐมนตรีได้กระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 หลังจากพบว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 (7) หรือไม่

ทั้งนี้ ในเอกสารคำฟ้องของนายไพบูลย์และคณะระบุว่า การกระทำของ ครม.มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 268 ว่าด้วยการมิให้ใช้อำนาจแทรกแซงข้าราชการ จึงขอให้ศาลรัฐธรรรมนูญวินิจฉัยด้วยว่าการกระทำลักษณะนี้เป็นเหตุให้รัฐมนตรีที่ร่วมอยู่ในคณะรัฐมนตรีนั้นสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีทุกคนหรือไม่ เนื่องจากการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงของ ครม.ก่อให้เกิดปัญหาว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ 3 ประการ ได้แก่ 1. ครม.ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น เป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับพวกของตนและพรรคการเมืองที่ตนเองสังกัดอยู่ ดังปรากฏตามที่ กกต.ได้ออกแถลงการณ์ให้ ครม.ทบทวนการใช้ พ.ร.ก.ดังกล่าว เนื่องจากมีผลต่อการเลือกตั้ง

2. ศรส.ที่ดำเนินการตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการทำหน้าที่ของ กกต. ซึ่งเป็นข้าราชการที่มีหน้าที่ควบคุมจัดการเลือกตั้งโดยตรงตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ทั้งที่การควบคุมดังกล่าวไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ศรส.แต่อย่างใด ทำให้การดำเนินการของ ศรส.เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 266(1)

และ 3. การออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งปรากฏตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติและจากการตรวจสอบพบว่าไม่ได้เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา

ด้วยเหตุผลทั้ง 3 ประการ การกระทำของ ครม.จึงเป็นการใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นรัฐมนตรีเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชประจำ พนักงาน หรือลูกจ้างของสำนักงาน กกต.ซึ่งเป็นหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างคะแนนความนิยมและความได้เปรียบให้กับตนเองและพรรคเพื่อไทย ที่ ครม.ในฐานะผู้ถูกร้องลงสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง การกระทำดังกล่าวจึงต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (1)







กำลังโหลดความคิดเห็น