รมว.ยธ.เผยหลังร่วมกับ รมต.เฝ้าเก้าอี้นายกฯ คุยกับตัวแทนวุฒิฯ ย้ำทางออกทางเดียวคือเร่งเลือกตั้ง ย้อน ส.ว.หนุนนายกฯ คนกลาง อ้างทำได้ ชี้ถึงทำจริงอำนาจรัฐก็ไม่ต่างชุดนี้ ก่อนท่องบทลาออกไม่ได้ ต้องอยู่จนมี ครม.ใหม่ ที่ขอมาทำไม่ได้ รัฐหนุนปฏิรูปแต่ก่อนเลือกตั้งทำไม่ได้ เว้นแต่ปฏิรูปเลือกตั้งให้ไปคุย กกต.
วันนี้ (19 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการหารือทางลับระหว่างรัฐบาลและวุฒิสภา เพื่อหาทางออกประเทศ วันเดียวกัน ได้เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 10.00 น.ที่หน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพมหานคร โดยที่รัฐบาลมีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี และนายเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม เป็นตัวแทนหารือร่วมกับนายพีระศักดิ์ พอจิต ส.ว.อุตรดิตถ์ ในฐานะว่าที่รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 และนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ ส.ว.สรรหา ซึ่งนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา ว่าที่ประธานวุฒิสภา มอบหมายเป็นตัวแทนเจรจา เนื่องจากนายสุรชัยไม่สามารถเข้าร่วมหารือด้วยได้ ได้แจ้งต่อนายนิวัฒน์ธำรงก่อนการประชุมเริ่มขึ้นประมาณ 1 ชั่วโมงว่าป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลกะทันหัน ขณะที่การหารือใช้เวลาเพียง 50 นาที และสถานที่การประชุมถูกปิดเป็นความลับเนื่องจากเกรงว่ากลุ่ม กปปส.จะบุกล้มการเจรจา หลังประกาศไล่ล่ารัฐมนตรี
ด้านนายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม เปิดเผยภายหลังหารือว่าทาง ส.ว.ได้มีการสอบถามแนวทางการแก้ไขปัญหาการเมืองเวลานี้ของรัฐบาล นายนิวัฒน์ธำรงยืนยันว่า ทางออกทำได้ภายใต้กฏหมายรัฐธรรมนูญเวลานี้มีทางเดียว คือ ต้องเร่งให้มีการเลือกตั้งให้เสร็จเร็วที่สุดตามแนวทางที่รัฐบาลได้เดินมาโดยตลอด ขณะที่ฝ่าย ส.ว.ยืนยันที่จะให้มีนายกรัฐมนตรีคนกลาง อ้างข้อกฎหมายว่าทำได้ที่จะให้มีนายกฯ ที่มีอำนาจเต็ม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีอำนาจเต็ม ตนก็ได้สอบถามไปว่า แล้วจะทำอย่างไรกับ พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไปที่ยังอยู่ เพราะถึง ส.ว.ได้คนมาเป็นนายกฯ ได้คนมาเป็น ครม.ก็ไม่มีอำนาจเต็ม อำนาจไม่ต่างรัฐบาลชุดปัจจุบัน ส่วนเรื่องที่จะให้รัฐบาลรักษาการลาออก ยืนยันว่าลาออกไม่ได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 รัฐมนตรีต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่จนกว่ามี ครม.ชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งมาปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป สุดท้ายทางตัวแทน ส.ว.จะขอนำการพูดคุยวันนี้ไปหารือที่ประชุมวุฒิสภาก่อน
นายชัยเกษมกล่าวว่า นอกจากนี้นายนิวัฒน์ธำรงยังได้พูดถึงการปฏิรูปว่ารัฐบาลสนับสนุนการปฏิรูป แต่จะให้ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งไม่ได้ ก็ได้ฝากให้ไปช่วยคิดมา ที่ทำได้แน่ๆ คือการปฏิรูปการเลือกตั้งซึ่งเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีอำนาจเต็มและอยากจะแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง ใครอยากแก้ไขก็ไปประสาน กกต. ซึ่ง ส.ว.บอกไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยความจริงแค่มีความเห็นว่าการเลือกตั้งเป็นทางออกที่ดีก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องเข้ามามีส่วนนับสนุนการเลือกตั้ง ส่วนเรื่องที่ขอมายืนยันอย่างไรก็ทำไม่ได้ เพราะไม่มีสภาผู้แทนราษฎร และจะไม่มีการแถลงร่วม เนื่องจากเป็นเพียงแค่การหารือ และการหารือไม่ได้สอบถามว่าจะให้ใครเป็นนายกฯ มาตรา 7 เพราะมันทำไม่ได้อยู่แล้ว รัฐบาลไม่สามารถให้ได้ตามที่ ส.ว.ต้องการ เพราะไม่มีประโยชน์อะไร คนที่ขึ้นมาได้มีอำนาจเต็มอย่างที่ ส.ว.กล่าวอ้าง รัฐบาลยินดีร่วมมือทุกเรื่องแต่ต้องภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ