xs
xsm
sm
md
lg

“กลุ่มบัวแก้วเสรี” ซัดแถลงการณ์อาเซียนแทรกแซงไทย รับลูก “ฮุน เซน” โลกล้อมประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประชุม “อาเซียน ซัมมิท” ที่กรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมาร์
“คนบัวแก้ว” ประณามแถลงการณ์ที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน แทรกแซงไทย รับลูก “ฮุน เซน” เป็นไปตามกลยุทธ์ “โลกล้อมประเทศ” ของรัฐบาลหุ่นยนต์ในระบอบทักษิณ ด้านสื่ออาวุโสสับ “ดร.ปึ้ง” ภาษาอังกฤษไม่กระดิกถูกเมินเวทีโลก

วันนี้ (14 พ.ค.) กลุ่มข้าราชการกระทรวงต่างประเทศได้ทำแถลงการณ์ในนาม Free Buakeaw Movement (กลุ่มบัวแก้วเสรี) พาดพิงถึงแถลงการณ์ของที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ระบุว่า ขอประณามอย่างรุนแรงต่อการออกแถลงการณ์ของผู้นำอาเซียน โดยระบุว่าแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นความพยายามของผู้อาเซียนที่มีสายสัมพันธ์กับอดีตนายก ในการล็อบบี้ประเทศสมาชิกให้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในไทย

แถลงการณ์ของกลุ่มบัวแก้วเสรีระบุว่า แถลงการณ์ร่วมของผู้นำอาเซียนครั้งนี้ถือว่าเป็นการละเมิดบทบัญญัติอาเซียนอย่างรุนแรงที่จะไม่เข้าแทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก และยังเป็นการละเมิดวัตถุประสงค์ของธรรมนูญอาเซียนที่จะเคารพอิสรภาพ อธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดน และการดำรงชีวิต โดยปราศจากการแทรกแซงจากภายนอก

กลุ่มบัวแก้วเสรีขอประณามการกระทำดังกล่าว (การออกแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมสุดยอดอาเซียน) ที่ใช้ถ้อยคำที่หยาบคายจากประเทศสมาชิก และกลุ่มบัวแก้วเสรีเชื่อว่า ภาวะชะงักงันทางการเมืองในประเทศไทยต้องการความร่วมมือของคนไทยในการจัดการสปิริตของอาเซียน และบทบัญญัติของอาเซียน ปัญหากิจการภายในต้องจัดการโดยประชาชนของประเทศนั้นการใช้อิทธิพลจากภายนอกด้วยแรงจูงใจที่ซ่อนเร้น จะต้องไม่มีที่ยืนในกิจการภายในของประเทศไทย

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2557 ที่กรุงเนปิดอว์ ประเทศพม่า ในที่ประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่จัดขึ้นก่อนที่จะมีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 24 ได้ออกแถลงการณ์ต่อสถานการณ์ทางการเมืองของไทย มีเนื้อหาว่า ขอสนับสนุนการแก้ไขปัญหาในไทยด้วยสันติวิธี โดยเรียกร้องให้ทุกกลุ่มแก้ไขความท้าทายที่เกิดขึ้นด้วยการเจรจาหาทางออก บนพื้นฐานของการเคารพต่อกฎหมายและหลักการในระบอบประชาธิปไตย

แถลงการณ์ระบุว่า ประเทศสมาชิกแห่งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ยังคงติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และขอสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อการแก้ไขความท้าทายที่เกิดขึ้นด้วยสันติวิธี ผ่านการเจรจาพูดคุยและบนพื้นฐานของความเคารพต่อกฎหมายและหลักการแห่งระบอบประชาธิปไตย

ในแถลงการณ์ระบุด้วยว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนขอย้ำจุดยืนเนื้อหาในแถลงการณ์ระดับผู้นำอาเซียนต่อสถานการณ์ทางการเมืองของไทย ที่ได้ออกในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ 14 ธ.ค. 2556 และเน้นย้ำความสำคัญของกระบวนการตามหลักประชาธิปไตย สนับสนุนการประนีประนอม เพื่อนำระบบกฎหมายและความผาสุขกลับคืนมาสู่ประเทศ เพื่อประโยชน์สุขตามเจตนารมณ์โดยรวมของประชาชนคนไทย

นอกจากนี้ แถลงการณ์ยังได้แสดงความมั่นใจต่อความสามารถของไทยที่จะก้าวข้ามความยากลำบากที่กำลังเกิดขึ้นไปได้ในที่สุด โดยประเทศสมาชิกอาเซียนพร้อมจะให้ความช่วยเหลือทุกวิถีทางที่เหมาะสมบนพื้นฐานของกฎบัตรอาเซียนด้วย

เรื่องนี้ นายเกษม อัชฌาสัย สื่อมวลชนอาวุโส เขียนไว้ในบล็อกเกอร์ เว็บไซต์สำนักข่าวเจ้าพระยา ระบุว่า การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 24 ที่กรุงเนปิดอว์ ซึ่งพม่าเป็นเจ้าภาพได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ 11 พ.ค. ปรากฏว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ได้ไปร่วมประชุมด้วยเพราะพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปเสียก่อน ในความผิดซึ่งศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่าใช้อำนาจในทางมิชอบในการโยกย้ายข้าราชการ

ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนซึ่งเปิดประชุมหารือเมื่อวันเสาร์ที่ 10 พ.ค. ก่อนหน้าการประชุมระดับผู้นำเพียงวันเดียว คือ ในวันอาทิตย์ที่ 11 พ.ค. ก็ได้ออกแถลงการณ์ที่เกี่ยวข้องกับไทยตามข้อเสนอของนายฮุนเซนนายกรัฐมนตรีกัมพูชาว่า “ชาติสมาชิกอาเซียนยังคงเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดต่อเหตุการณ์ที่พัฒนาอยู่ในราชอาณาจักรไทยและสนับสนุนอย่างเต็มที่สำหรับการแก้ไขปัญหาอย่างสันติต่อความท้าทายที่เกิดขึ้น ด้วยการเจรจา ด้วยความเคารพในหลักการประชาธิปไตยและตัวบทกฎหมาย”

“ชาติสมาชิกอาเซียนมีความเชื่อมั่นในความยืดหยุ่นของชาติไทยเพื่อเอาชนะความยากลำบากต่างๆ ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในขณะนี้และพร้อมที่จะให้ความสนับสนุนเท่าที่ควรจะทำได้อย่างเหมาะสมทั้งนี้ โดยยึดหลักการในกฎบัตรของอาเซียน”

ท่าทีของอาเซียนดังกล่าว ทำให้นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รักษาการรองนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการเข้าร่วมประชุมสุดยอดคราวนี้ออกมาแสดงความยินดีที่ผู้นำอาเซียนแสดงความห่วงใยสถานการณ์ในประเทศไทย ทั้งยังขอบคุณนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ที่เสนอแนะให้อาเซียนช่วยออกแถลงการณ์ดังกล่าว

อธิบายได้ว่า การที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รักษาการรองนายกรัฐมนตรีต้องไปเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยแทนที่จะเป็นนายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล ซึ่งก็เป็นรองนายกรัฐมนตรีเหมือนกันมีข้อสังเกตว่าก็คงเป็นเพราะภาษาอังกฤษของนายสุรพงษ์ ไม่กระดิกหู (แม้ยังรักษาการรองนายกรัฐมนตรีอยู่ก็ตาม) แถมยังพ้นจากตำแหน่งรักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศไปแล้วด้วย จากกรณีเดียวกันกับนางสาวยิ่งลักษณ์ที่ถูกชี้ศาลรัฐธรรมนูญขาดว่าพ้นตำแหน่ง

ทางการพม่าคงจะยุ่งยากลำบากใจมาก เพราะคาดหมายก่อนหน้าเสียด้วยซ้ำว่าผู้ที่น่าจะไปเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยจริงๆ ตามธรรมเนียมทางการทูตที่ถูกต้องก็คือ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ใช่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ซึ่งจะผิดธรรมเนียมหรือไม่อย่างไร เพราะเป็นแค่รองนายกรัฐมนตรีรักษาการ ก็น่าจะพิจารณากัน

แต่ไม่ว่าใครจะไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็น่าสนใจ เพราะปรากฏว่านายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเพื่อนรักของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้แสดงบทบาทให้ปรากฏชัดต่อชาติสมาชิกอื่นๆ ในฐานะผู้หวังดี โดยเป็นผู้นำเสนอให้ที่ประชุมสุดอาเซียนออกแถลงการณ์เร่งรัดให้ไทยยุติความขัดแย้งทางการเมืองที่สร้างความร้าวฉานกันมาเนิ่นนาน โดยให้ใช้การเจรจายุติปัญหาโดยเร็ว ซึ่งก็ปรากฏว่าที่ประชุมก็ยินดีทำตาม

เพียงแต่ไม่ยอมเอาเข้าร่วมอยู่ในแถลงการณ์ของระดับผู้นำเท่านั้น เพราะไม่แน่ใจในความเปลี่ยนแปลง ทางการเมืองในไทยที่เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว

ว่ากันว่าสมาชิกอาเซียนต้องระมัดระวังอย่างมากในการใช้ถ้อยคำที่จะไม่เข้าข้างคู่กรณี ซึ่งหมายถึงฝ่ายรัฐบาลรักษาการกับกลุ่ม กปปส.ซึ่งก่อนหน้านี้ในการประชุมสุดยอดอาเซียนกับญี่ปุ่นที่กรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ก็เคยร่วมกันเรียกร้องมาแล้ว ให้ไทยแก้ไขปัญหาภายในกรอบของประชาธิปไตย

อย่างไรก็ดี บางฝ่ายเห็นว่าการนำเสนอของนายฮุนเซนนั้นเป็นไปตามกลยุทธ์ “โลกล้อมประเทศ” ของรัฐบาลหุ่นยนต์ใน “ระบอบทักษิณ” ที่เมื่อพบโอกาสเมื่อไรก็จะใช้เมื่อนั้นเพื่อสร้างภาพ ทั้งๆ ที่ตระหนักว่าชาติเพื่อนบ้านเขารู้ทันกันหมดแล้วว่าไทยมีไส้กี่ขด แต่ก็ยังหวังให้โลกสากล มองรัฐบาลรักษาการไทยว่ามีความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ทั้งที่ความจริงเป็นแค่ระบอบทุนสามานย์ภายใต้เสื้อคลุมแห่งประชาธิปไตย

นั่นเป็นประเด็นแรกที่เกิดขึ้นและเกี่ยวข้องกับไทยที่ตกอยู่ในสภาพที่อิหลักอิเหลื่อ อันเนื่องมาจากภาวะการเมืองวิกฤตในเวลานี้ อีกประเด็นหนึ่งที่จะต้องติดตามก็คือ ในการประชุมสุดยอดคราวนี้ มีหัวข้ออะไรที่สำคัญนอกเหนือ ไปจากที่ว่ามาได้มีการการตั้งข้อสังเกตกันในหมู่นักการทูตอาเซียนก่อนหน้าว่าประเด็นที่น่าจะมีการหยิบยกมาพูดและพิจารณาอย่างยิ่ง ก็คือปัญหาความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ระหว่างจีนกับชาติสมาชิกอาเซียน คือเวียดนามและฟิลิปปินส์ ในการอ้างสิทธิเหนือน่านน้ำและการใช้ทรัพยากรในทะเลแถบหมู่เกาะพาราเซลส์

ทั้งนี้ ก่อนหน้าไม่กี่วัน ภูมิภาคดังกล่าวตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการเผชิญหน้าด้วยกำลังถ้าหากคู่กรณีไม่มีความอดทนเพียงพอ ในการออกแถลงการณ์ร่วมของผู้นำอาเซียนเมื่อวันอาทิตย์ ได้เรียกร้องให้แต่ละฝ่ายใช้ความอดทน ไม่ใช้กำลังในทะเลจีนใต้ให้ระงับการดำเนินการใดๆ ที่จะเพิ่มความตึงเครียดและให้ดำเนินการร่วมกันแต่เนิ่นๆ เพื่อกำหนดระเบียบปฏิบัติในทะเลจีนใต้ให้ชัดเจน ทั้งหมดนี้คือข้อใหญ่ใจความซึ่งน่าสนใจ เท่าที่สรุปได้ และนำมาเสนอต่อในที่นี้ จากที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 24 ณ กรุงเนปิดอว์ เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น