กกต. เตรียมถกเกจิด้าน กม. พรุ่งนี้ หาข้อยุติผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี มีอำนาจทูลเกล้าฯ และรับสนองพระบรมราชโองการร่าง พ.ร.ฎ. แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งหรือไม่ หลังที่ประชุม กกต. หวั่นหากไม่ชัดเจน ดำเนินการไปอาจทำให้ กกต. กลายเป็นผู่ร่วมกระทำความผิด ถูกฟ้องได้ พร้อมเล็งทางออกแบบไร้ข้อโต้แย้ง ใช้ช่อง รธน. ม. 214 ยื่นศาล รธน. วินิจฉัย ขณะเดียวกัน ส่อเลือกตั้งไม่ทัน 20 ก.ค. อาจต้องเลื่อนวันเลือกตั้งไป 3 ส.ค.
รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันพรุ่งนี้ (12 พ.ค.) เวลา 16.00 น. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะมีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กกต. ที่ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการด้านกฎหมาย รวม 8 คน เพื่อหารือถึงความชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้มีอำนาจในการทูลเกล้าฯ ร่าง พ.ร.ฎ. แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. ใหม่ หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง รวมถึงปัญหาการตราร่าง พ.ร.ฎ. ที่ กกต. และคณะกรรมการกฤษฎีกาผู้แทนฝ่ายรัฐบาล เห็นขัดแย้งกันกรณีที่จะให้มีการบรรจุถ้อยคำว่า หากเกิดปัญหาให้สามารถเลื่อนวันเลือกตั้งได้ ไว้ในร่าง พ.ร.ฎ. ด้วย เนื่องจากในการประชุม กกต. เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา มีการถกเถียงกันกว้างขวางว่า นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีตามความหมายของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2545 มาตรา 10 เป็นผู้มีอำนาจที่จะทูลเกล้าและรับสนองพระบรมราชโองการร่าง พ.ร.ฎ. แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. ใหม่ หรือไม่
โดยฝ่ายสำนักงาน กกต. ก็มีความเห็นเป็น 2 ทาง ฝ่ายหนึ่งมองว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เหมือนนายกรัฐมนตรีทุกอย่างเพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 195 ที่กำหนดเกี่ยวกับกรณีผู้รับสนองพระบรมราชโองการในการตรากฎหมายว่า ต้องเป็นรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็คือรัฐมนตรีและถึงแม้ไม่มีนายกรัฐมนตรีแล้ว รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีหรือผุ้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ก็สามารถทูลเกล้าฯและรับสนองพระบรมราชโองการได้ แต่ประธาน กกต. ในฐานะผู้ร่วมรักษาการตามร่าง พ.ร.ฎ. ไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่ใช่รัฐมนตรี ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็เห็นว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีสามารถปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ ได้เพียงบางอย่างบางเรื่องเท่านั้นทำให้ที่ประชุมเห็นว่า จำเป็นต้องมีความชัดเจนเสียก่อนว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่เพียงไร
“ในที่ประชุม กกต. มองว่า เหตุการณ์บ้านเมืองขณะนี้ไม่ปกติหาก กกต. มีการหารือหรือเสนอเรื่องที่เป็นความขัดแย้งกับรัฐบาลเกี่ยวกับการจะให้บรรจุถ้อยคำว่า “ให้สามารถเลื่อนวันเลือกตั้งได้หากเกิดเหตุความจำเป็น” ไปยังผู้ที่ กกต. เองก็ไม่ชัดเจนว่ามีอำนาจในการทูลเกล้าหรือไม่ อาจทำให้ถูกตีความว่า กกต. ยอมรับแล้วว่าผู้ที่ กกต. เสนอเรื่องและหารือด้วยนั้นเป็นผู้มีอำนาจเต็ม และหากท้ายที่สุดมีการยื่นเรื่องให้องค์กรศาลวินิจฉัยว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจทูลเกล้าหรือไม่ กกต. จะอาจต้องตกผู้ร่วมกระทำความผิดไปด้วย ยิ่งมีหนังสือของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินให้รัฐบาลชดใช้ค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้ง 2 ก.พ. ด้วยแล้ว กกต. ยิ่งต้องระมัดระวัง เพราะครั้งนี้ กกต. เป็นผู้เสนอว่าวันเลือกตั้งที่เหมาะสมคือวันที่ 20 ก.ค. ขณะที่รัฐบาลแม้รับที่จะเข้ามาช่วยดูแลการจัดการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลก็ไม่ยืนยันว่า จะคุมสถานการณ์ความขัดแย้ง จนทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยได้ ดังนั้นหากเกิดปัญหาขึ้นกับการเลือกตั้งรอบใหม่ กกต. ก็ยากที่รอดจากการที่ไม่ต้องรับผิดชอบเหมือนครั้งที่แล้วได้ จึงจำเป็นที่ กกต. จะต้องมีความชัดเจนก่อนที่จะหารือกับรัฐบาลในวันที่ 14 พ.ค.” แหล่งข่าว ระบุ
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กกต. ยังเห็นว่า แม้ กกต. จะมีการหารือกับผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีในวันที่ 14 พ.ค. เวลา 14.00 น. ทางรัฐบาลโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็คงยืนยันว่าตามความหมายของมาตรา 10 วรรคสี่ วรรคห้า ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีมีอำนาจเทียบเท่านายกรัฐมนตรี สามารถทูลเกล้า และรับสนองพระบรมราชโองการร่าง พ.ร.ฎ. กำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. ใหม่ได้ แต่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง และอาจทำให้ กกต. ตกเป็นจำเลย ก็อาจจะใช้ช่องทางรัฐธรรมนูญมาตรา 214 มีความขัดแย้งระหว่างองค์กรยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และแน่นอนว่าระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. ไปจนถึงวันที่ 22 พ.ค. ซึ่งเป็นวันที่เดิม กกต. และรัฐบาลเห็นร่วมกันว่าจะให้ร่าง พ.ร.ฎ. แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป มีผลบังคับใช้ เพื่อจะเลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ค. นั้น เหลืออยู่เพียง 8 วันซึ่งอาจไม่เพียงพอกับขั้นตอนของการทูลเกล้าฯ และโปรดเกล้าฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้น มีแนวโน้มว่าแม้วันที่ 14 พ.ค. กกต. และรัฐบาลจะหารือจนได้ข้อยุติในประเด็นผู้มีอำนาจทูลเกล้าแล้ว หรือข้อความในมาตรา 4 ของร่าง พ.ร.ฎ. ก็ยากที่จะเลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ค. ได้ทัน ซึ่งสำนักงานก็ได้เตรียมเสนอปฏิทินแผนงานจัดการเลือกตั้งใหม่ให้ที่ประชุม กกต. และรัฐบาลพิจารณาแล้ว โดยจะเลื่อนวันเลือกตั้งจากเดิมวันที่ 20 ก.ค. ราว 2 สัปดาห์ คือให้วันที่ 3 ส.ค. เป็นวันเลือกตั้ง และให้ร่าง พ.ร.ฎ. มีผลใช้บังคับจากเดิมวันที่ 22 พ.ค. เป็นวันที่ 5 มิ.ย. รวมระยะเวลาจัดการเลือกตั้งนับแต่วันที่ร่าง พ.ร.ฎ. มีผลใช้บังคับจนถึงวันเลือกตั้ง 58 วัน