xs
xsm
sm
md
lg

ศอ.รส.แถลง ฉ.7 ขู่มีนายกฯ คนกลาง เกิดพวกปะทะสร้างสงครามกลางเมืองแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ธาริต” แถลงเอง โว ศอ.รส. ตั้งตาม กม. สั่ง ปปง. ลุยยึดทรัพย์ “สุเทพ” และ กปปส. แถมเรียกร้องมาตรา 3 และ 7 มิชอบด้วยกฎหมาย ชี้นายกฯ คนกลาง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ล่วงละเมิดพระราชอำนาจ จี้ยุติทูลเกล้าฯ โบ้ยก่อปมเหตุร้ายในบ้านเมือง โวมีข้อมูลบ่งชี้ มีมวลชนไม่พอใจก่อเหตุปะทะ ทำสงครามกลางเมือง สับทำสถานการณ์ตึงเครียด วิกฤตที่สุดแล้ว



วันนี้ (11 พ.ค.) นายธาริต เพ็งดิษฐ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย อ่านแถลงการณ์ ศอ.รส. ฉบับที่ 7 โดยระบุใจความสำคัญเรียกร้องให้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวก รวมถึงกลุ่มการเมืองและกลุ่มผู้สนับสนุนบางกลุ่ม ยุติการกระทำผิดต่อกฎหมายด้วยการคัดเลือกและทูลเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะนอกจากจะเป็นความผิดต่อกฎหมายแล้ว ยังจะเป็นสาเหตุให้เกิดความรุนแรงและเหตุร้ายขึ้นในบ้านเมือง ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์ในปัจจุบันมีข้อมูลเพียงพอที่บ่งชี้ได้ว่าจะเกิดความรุนแรงและเหตุร้ายขึ้นในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ ศอ.รส. โดยเฉพาะหากยังมีการคัดเลือกและเสนอแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีขึ้นมาใหม่ตามที่ กปปส. เรียกร้อง จะต้องเกิดความไม่พอใจจากมวลชนอีกกลุ่มหนึ่งอย่างรุนแรงและลุกลามไปถึงการก่อเหตุร้ายและเข้าปะทะกันอย่างแน่นอน จนอาจกลายเป็นสงครามกลางเมืองได้ในที่สุด

นายธาริต กล่าวว่า ศอ.รส. ขอแสดงความเสียใจต่อพี่น้องประชาชนที่เคยคาดหวังว่า สถานการณ์โดยรวมจะผ่อนคลายดีขึ้น แต่นายสุเทพ กลับยกระดับเพิ่มความตึงเครียดของสถานการณ์มากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะการประกาศคัดเลือกแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีนอกกฎหมายดังกล่าว และการกระทำอุกอาจต่างๆ เช่น การบุกเข้าไปยึดทำเนียบรัฐบาลแล้วประกาศจัดตั้งเป็นกองบัญชาการ การเข้าปิดล้อมสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ และการซ่องสุมกำลังพร้อมอาวุธต่างๆ จนขณะนี้อาจกล่าวได้ว่าถึงจุดวิกฤตมากที่สุดแล้ว ศอ.รส. จึงจำเป็นจะต้องยกระดับการใช้มาตรการบังคับใช้กฎหมายที่เคร่ดครัดและเข้มข้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่กำลังจะเกิดในเวลาอันใกล้นี้ จึงขอให้ประชาชนแยกตัวออกจากกลุ่มผู้ชุมนุม มากที่สุด เพื่อความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาชน

อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ ศอ.รส. ฉบับที่ 7 ระบุว่า ถึงข้อเรียกร้องต่อกลุ่ม กปปส. รวมถึงกลุ่มการเมืองและกลุ่มผู้สนับสนุน ให้ยุติการกระทำผิดต่อกฎหมายด้วยการคัดเลือกและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและแจ้งเตือนประชาชนให้แยกตัวออกจากการชุมนุม โดยระบุว่า ศอ.รส. เป็นหน่วยงานพิเศษที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดย ศอ.รส. มีภารกิจสำคัญในการสนธิกำลังทั้งข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ และข้าราชการพลเรือน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต่างๆ เพื่ออำนวยการและปฏิบัติการให้เกิดความเรียบร้อยในทุกๆ มิติ ทั้งในเขตพื้นที่รับผิดชอบ และสังคมในภาพรวม

บัดนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับแกนนำ กปปส. ได้ร่วมกันกระทำความผิดต่างๆ นานา อย่างต่อเนื่อง และสร้างความเสียหายกับประเทศชาติบ้านเมืองตลอดมา จนในที่สุดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้ พนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวกแกนนำถึง 51 คน ในข้อหาอุกฉกรรจ์ที่สำคัญ ได้แก่ร่วมกันเป็นกบฏ ร่วมกันก่อการร้าย ร่วมกันขัดขวางการเลือกตั้ง ร่วมกันเป็นอั้งยี่หรือซ่องโจร และข้อหาอื่นๆ รวมทั้งหมด 10 ข้อหา และโดยที่พนักงานอัยการได้สั่งฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวก ในข้อหาก่อการร้ายเพิ่มเติม อันเป็นความผิดมูลฐานของความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน ศอ.รส. จึงได้สั่งการให้สำนักงาน ปปง. เข้าดำเนินการเพื่อดำเนินคดีฐานฟอกเงิน อันจะนำไปสู่การยึดทรัพย์สินของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวก เพิ่มเติมอีกด้วย

นอกจากนี้ นายสุเทพ ยังถูกดำเนินคดีสำคัญอีกหลายคดี และล้วนเป็นคดีอุกฉกรรจ์มาก เช่น คดีร่วมกันฆ่าประชาชนในการชุมนุมปี 2553 หรือที่เรียกว่าคดี “98 ศพ” คดีทุจริตก่อสร้างโรงพักของข้าราชการตำรวจ คดีทุจริตก่อสร้างแฟลตของข้าราชการตำรวจ คดีกระทำผิดต่อกฎหมายเลือกตั้งที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี คดีบุกรุกที่ดินเขาแพง และคดีอื่นๆ ดังนั้น การกระทำของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ยังไม่ยอมเลิกการชุมนุม และชักนำมวลชนต่างๆ อยู่ในขณะนี้จึงเป็นการใช้มวลชนเป็นเกราะกำบัง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกดำเนินคดี และไม่ถูกจับกุมตามหมายจับของศาล ซึ่งเป็นการบิดเบือนและหาประโยชน์จากมวลชน และสร้างความเดือดร้อนแก่ชาติบ้านเมืองเพื่อตนเองและพวกพ้องโดยแท้

พฤติการณ์การกระทำของนายสุเทพ และแกนนำ กปปส. นอกจากจะเป็นความผิดต่อกฎหมายแล้ว ยังมีข้อเรียกร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายต่างๆ นานา อาทิเช่น การเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่โดยอ้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 3 และมาตรา 7 ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถกระทำได้ตามกฎหมาย และแม้รัฐบาลจะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชน และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ อันเป็นการรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย แต่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนำ กปปส. ก็ยังคงกระทำการขัดขวางไม่ให้มีการเลือกตั้ง จนในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รวมถึงรัฐมนตรีบางคนสิ้นสุดลง อีกทั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ได้มีมติว่าข้อกล่าวหามีมูลกรณีการยื่นถอดถอน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โครงการรับจำนำข้าว ก็ถือได้ว่าข้อเรียกร้องของนายสุเทพ ที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง ได้รับการตอบสนองแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีบางคนสิ้นสุดลงเฉพาะตัว และวินิจฉัยต่อไปว่าเป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นการเฉพาะให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 182 ยังคงต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 คณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ “เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี” ไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ที่กำหนดให้ “ในระหว่างที่คณะรัฐมนตรีต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ เพราะนายกรัฐมนตรีตาย ขาดคุณสมบัติ ต้องคำพิพากษาให้จำคุก สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง หรือวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนจากตำแหน่ง ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ปฎิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน”

ตามที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และกลุ่มแกนนำ ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวานนี้ รวมถึงกลุ่มการเมืองและกลุ่มผู้สนับสนุนบางกลุ่ม ได้พยายามเรียกร้องไปยังบุคคลสำคัญต่างๆ เช่น ประธานวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อร่วมกันคัดเลือกและทูลเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญนั้น ศอ.รส. ขอยืนยันว่าข้อเรียกร้องตามแถลงการณ์ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถกระทำได้โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เนื่องจากการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 171 มาตรา 172 และมาตรา 173 โดยนายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ปัจจุบันยังไม่อาจมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรที่จะทำหน้าที่คัดเลือกและให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว ประกอบกับปัจจุบันยังคงมีคณะรัฐมนตรีที่มีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล “เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี” อยู่ ดังนั้น การดำเนินการที่จะให้มีนายกรัฐมนตรีคนกลาง จึงเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจกระทำได้ และโดยเฉพาะการดำเนินการเพื่อจัดตั้งนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีขึ้นอีกชุดหนึ่งในขณะที่คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ นอกจากจะเป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายแล้ว ยังจะเป็นการล่วงละเมิดพระราชอำนาจต่อองค์พระมหากษัตริย์เป็นอย่างยิ่ง

อนึ่ง ด้วยความเคารพต่อบุคคลสำคัญที่นายสุเทพ กับพวกกล่าวถึง เช่น ประธานวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งล้วนเป็นบุคคลที่มีความสำคัญของประเทศเป็นอย่างยิ่ง ศอ.รส. มีความเชื่อมั่นต่อความเป็นผู้รักษากฎหมาย และเป็นผู้ใหญ่สำคัญในบ้านเมืองที่จะไม่กระทำในสิ่งที่นอกเหนือกฎหมาย ซึ่งในที่นี่ขอแสดงความเคารพและความศรัทธาเชื่อมั่น ดังนั้น การที่ ศอ.รส. จำเป็นต้องมีแถลงการณ์ฉบับนี้ ก็เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจอันถูกต้อง และหลีกเลี่ยงเหตุความไม่สงบและเหตุร้ายแรงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น

ศอ.รส. จึงขอเรียกร้องให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวก รวมถึงกลุ่มการเมืองและกลุ่มผู้สนับสนุนบางกลุ่ม ยุติการกระทำผิดต่อกฎหมายด้วยการคัดเลือกและทูลเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะนอกจากจะเป็นความผิดต่อกฎหมายแล้ว ยังจะเป็นสาเหตุให้เกิดความรุนแรงและเหตุร้ายขึ้นในบ้านเมือง ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์ในปัจจุบันมีข้อมูลเพียงพอที่บ่งชี้ได้ว่าจะเกิดความรุนแรงและเหตุร้ายขึ้นในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ ศอ.รส. โดยเฉพาะหากยังมีการคัดเลือกและเสนอแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีขึ้นมาใหม่ตามที่ กปปส. เรียกร้อง จะต้องเกิดความไม่พอใจจากมวลชนอีกกลุ่มหนึ่งอย่างรุนแรงและลุกลามไปถึงการก่อเหตุร้ายและเข้าปะทะกันอย่างแน่นอน จนอาจกลายเป็นสงครามกลางเมืองได้ในที่สุด

ศอ.รส. ขอแสดงความเสียใจต่อพี่น้องประชาชนที่เคยคาดหวังว่า สถานการณ์โดยรวมจะผ่อนคลาย ดีขึ้น แต่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับแกนนำ กปปส. กลับยกระดับเพิ่มความตึงเครียดของสถานการณ์มากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะการประกาศคัดเลือกแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีนอกกฎหมายดังกล่าว และการกระทำอุกอาจต่างๆ เช่น การบุกเข้าไปยึดทำเนียบรัฐบาลแล้วประกาศจัดตั้งเป็นกองบัญชาการ การเข้าปิดล้อมสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ และการซ่องสุมกำลังพร้อมอาวุธต่างๆ จนขณะนี้อาจกล่าวได้ว่าถึงจุดวิกฤตมากที่สุดแล้ว ศอ.รส. จึงจำเป็นจะต้องยกระดับการใช้มาตรการบังคับใช้กฎหมายที่เคร่ดครัดและเข้มข้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่กำลังจะเกิดในเวลาอันใกล้นี้ จึงขอให้พี่น้องประชาชนแยกตัวออกจากกลุ่มผู้ชุมนุม และแจ้งเตือน บุตรหลาน ญาติมิตรให้หลีกเลี่ยงออกห่างจากที่ชุมนุมให้มากที่สุด ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยและสวัสดิภาพของพี่น้องประชาชน

ศอ.รส. จึงเห็นสมควรแถลงการณ์มาเพื่อพี่น้องประชาชนได้รับทราบ อนึ่ง แถลงการณ์ฉบับนี้เป็นความเห็นและดำเนินการโดยฝ่ายบริหารของ ศอ.รส. โดยตรง ซึ่งไม่ได้ขอให้ฝ่ายทหารร่วมมีความเห็นและดำเนินการด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น