xs
xsm
sm
md
lg

เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์แห่งมหาชนชาวสยาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคล คือ วันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยุ่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เสด็จขึ้นครองราชย์ และวันฉัตรมงคลปีนี้เป็นวันครบรอบ 64 ปีแห่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 รัฐบาลในขณะนั้นได้เข้าเฝ้าฯสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กราบบังคมทูลฯ ขอพระราชทานอัญเชิญพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบต่อจากพระบรมเชษฐาธิราช เป็นพระมหากษัตริย์ไทยลำดับที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

เนื่องจาก ขณะนั้น พระองค์ทรงมีพระชนมายุเพียง 19 พรรษา ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จึงยังมิได้ทรงประกอบพิธีพระบรมราชาภิเษก และยังทรงศึกษาไม่จบ จึงได้เสด็จกลับไปศึกษาต่อยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และได้ทรงเปลี่ยนการศึกษาจากสาขาวิทยาศาสตร์ มาเป็นวิชากฏหมายและการเมืองเพื่อเตรียมพร้อมที่จะรับพระราชภาระในฐานะองค์พระประมุขของชาติ โดยมีคณะอภิรัฐมนตรี ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ ในขณะนั้น ทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประกอบด้วย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร , พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลงกฎ กรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์ , พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร , พระยามานวราชเสวี (ปลอด ณ สงขลา) และพลตำรวจเอก หลวงอดุลเดชจรัส (บัตร พึ่งพระคุณ)

พิธีบรมราชาภิเษก หมายถึง พระราชพิธีในการสถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์ หรือพิธีที่จัดขึ้นเพื่อรับรองฐานะความเป็นประมุขของรัฐอย่างเป็นทางการ

พระมหากษัตริย์พระองค์ใดที่ยังมิได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะไม่ใช้คำว่า “พระบาท”นำหน้าคำว่า“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”และจะยังไม่ใช้นพปฎลเศวตฉัตรหรือฉัตร 9 ชั้น อันเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระเจ้าแผ่นดิน

เมื่อสำเร็จการศึกษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัตกลับประเทศไทยในปี พ.ศ.2493 ทรงประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ต่อจากนั้นได้โปรดเกล้าฯ จัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 และจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493

ในวันนั้น ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

วันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี จึงเป็นวันเฉลิมฉลอง พระราชพิธี บรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์ ซึ่งเรียกอย่างเป็นทางการว่า“พระราชพิธีฉัตรมงคล” วันที่ 5 พฤษภาคมจึงเป็นวันฉัตรมงคล

พระราชพิธีฉัตรมงคลในรัชกาลปัจจุบัน ที่ผ่านมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงาน 3 วัน วันแรกคือวันที่ 3 พฤษภาคม จะเป็นงานพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย อุทิศถวายแด่พระบรมราชบุรพการี เป็นพิธีสงฆ์

วันที่ 4 พฤษภาคม เริ่มพระราชพิธีฉัตรมงคล หัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีฉัตรมงคล พระสงฆเจริญพระพุทธมนต์เย็น

วันที่ 5 พฤษภาคม เป็นวันฉัตรมงคล จะมีงานเลี้ยงพระและสมโภชเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ทหารยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติ 21 นัด และวันนี้ก็จะมีการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อีกทั้ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดปราสาทพระเทพบิดรในพระบรมมหาราชวังให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการและประชาชนทั่วไปได้เข้าไปกราบถวายบังคมพระบรมรูป

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระราชพิธีวันฉัตรมงคล 5 พฤษภาคม 2557 โดยใช้ศาลาราชประชาสมาคม วังไกลกังวล ซึ่งพระราชพิธีวันฉัตรมงคล จะมีขึ้นในวันที่ 3-4 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นผู้แทนพระองค์ ที่พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย พระบรมมหาราชวัง

สำหรับวันฉัตรมงคลปีนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระราชพิธีวันฉัตรมงคล 5 พฤษภาคม 2557 โดยใช้ศาลาราชประชาสมาคม วังไกลกังวล ซึ่งพระราชพิธีวันฉัตรมงคล ที่จะมีขึ้นในวันที่ 3-4 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นผู้แทนพระองค์ ที่พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย พระบรมมหาราชวัง

ส่วนงานพระราชพิธีวันฉัตรมงคล 5 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จฯ ออกมหาสมาคม ณ ท้องพระโรง ศาลาราชประชาสมาคม วังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยประทับรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักเปี่ยมสุข ทางประตูเสด็จฯ วังไกลกังวล เข้าสู่ถนนเพชรเกษม เลี้ยวขวาเข้าซอยหัวหิน 35 ด้านข้างสำนักงานวังไกลกังวล ไปยังท้องพระโรงศาลาราชประชาสมาคม วังไกลกังวล เพื่อให้พสกนิกรชาวไทยทั่วประเทศได้เฝ้าชื่นชมพระบารมี เหมือนเช่นที่ทรงเสด็จออกมหาสมาคม 5 ธันวาคม 2556

นับตั้งแต่วันที่ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์แห่งมหาชนชาวสยาม” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงอุทิศพระวรกาย ประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนของพระองค์อย่างต่อเนื่อง ทรงบำเพ็ญพระองค์อยู่ในทศพิศราชธรรม หรือ ธรรม 10 ประการของพระราชา อย่างเคร่งครัด

หกสิบสี่ปีที่ผ่านมา ทรงครองแผ่นดินโดยธรรมอย่างแท้จริง และธรรมแห่งราชานี้เองที่คุ้มครองปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้มั่นคง แข็งแรงมาจนถึงวันนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น