xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมาธิปไตยไม่มา จึงหาประชาธิปไตยไม่เจอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ค่ำวันหนึ่งของเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 คณะบุคคลหนึ่ง เข้านมัสการพระพรหมคุณาภรณ์ ( ป.อ. ปยุตโต ) ที่วัดญาณเวศกวัน เพื่อกราบเรียน ขอคำปรึกษา ในเรื่องสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงนั้น ซึ่งประชาชนจำนวนมาก ภายใต้การนำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชุมนุมขับไล่ รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

สาระของการปุจฉาวิสัชนาในครั้งนั้นถูกบันทึกและจัดทำเป็นหนังสือ ธรรมาธิปไตยไม่มา จึงหาประชาธิปไตยไม่เจอ (จุดบรรจบ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์) และบันทึกเสียงลงในแผ่นซีดีธรรมบรรยาย ชุดธรรมะ สู่การเมือง

เนื้อหาที่คัดลอกมานำเสนอนี้ อยู่ในบทที่ 8 - ของหนังสือ ชื่อตอน ธรรมาธิปไตย


ธรรมาธิปไตยไม่ใช่ระบบการปกครอง แต่เป็นคุณธรรมหรือคุณสมบัติในตัวคน แม้แต่สังฆะซึ่งเป็นสถาบันที่พระพุทธเจ้าตั้งขึ้นเอง ก็ไม่มีการปกครองที่เรียกว่าธรรมาธิปไตย คำว่า ธรรมาธิปไตย ไม่ใช่การปกครองที่ไหนทั้งนั้นแม้แต่ในคณะสงฆ์ แต่เป็นคุณสมบัติในตัวบุคคล

ธรรมาธิปไตย เป็นคำเก่าที่มีอยู่ก่อนแล้วในพระไตรปิฎก โดยมีความหมายของมันเองมาแต่เดิม ทีนี้ชื่อของมันเกิดมาคล้ายเข้ากับคำใหม่ที่เขาคิดบัญญัติขึ้นมาไม่นานนี้ว่า ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการบัญญัติเพื่อให้เป็นคำแปลของคำฝรั่งว่า democracy เมื่อเวลาผ่านมา คำว่า ประชาธิปไตย มีการใช้ดาษดื่นมาก จนกลายเป็นว่า คนรู้จักคำว่า ประชาธิปไตย มากกว่าคำว่า ธรรมาธิปไตย พอเจอคำ ธรรมาธิปไตย ก็เลยชักจะมองความหมายของมันไปในเชิงที่จะให้เข้ากับหรือให้อนุวัตรตามความหมายของคำว่า ประชาธิปไตย

ไป ๆ มา ๆ ธรรมาธิปไตย ก็เลยจะมีความหมายที่คลุมเครือหรือสับสน เพราะยกขึ้นมาพูดทีไร ก็มักมีเงาของคำว่า ประชาธิปไตย เข้ามาพาดผ่าน

ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครอง ซึ่งมีเรื่องของการจัดตั้งวางระบบ มีกระบวนการขั้นตอนระเบียบวิธีอะไรต่าง ๆ ในการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม

ระบบจัดตั้งที่ว่านี้ไม่มีในธรรมธิปไตย เพราะฉะนั้น ถ้าจะไปบอกให้พัฒนาประชาธิปไตยไปเป็นธรรมาธิปไตย ก็ย่อมมองไม่ชัด แล้วถ้าคนเข้าใจผิดว่าธรรมาธิปไตยเป็นระบอบเป็นระบบ ก็เลยจะยุ่งกันใหญ่ จึงต้องให้ชัดว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครอง

ทีนี้ ธรรมาธิปไตยคืออะไรล่ะ อันนี้ต้องดูที่การตัดสินใจของบุคคล

ธรรมาธิปไตย เป็นเกณฑ์ตัดสินใจ ให้ได้ประชาธิปไตยที่ดี ตรงนี้ดูให้ชัดนะ คือว่าในการปกครองทุกระบอบ มีองค์ประกอบสำคัญ คือ อำนาจตัดสินใจ อันนี้เป็นตัวกำหนดเด็ดขาด

การปกครองระบอบต่าง ๆ ทั้งหลายนั้น เมื่อมองไปให้ถึงที่สุดตัวกำหนดก็อยู่ที่อำนาจตัดสินใจ หมายความว่า อำนาจตัดสินใจสูงสุดอยู่ที่ไหน การปกครองก็คือระบอบนั้น จะเป็นระบอบการปกครองไหนก็ดูว่าอำนาจตัดสินใจสูงสุดอยู่ที่ใด

ถ้าอำนาจตัดสินใจอยู่ที่บุคคลผู้เดียว ก็เป็น เผด็จการ ถ้าอำนาจตัดสินใจอยู่ที่คณะบุคคล ก็เป็น คณาธิปไตย ถ้าอำนาจตัดสินใจอยู่ที่ประชาชน ก็เป็น ประชาธิปไตย

ตอนนี้ บ้านเมืองของเรานี้ ตกลงกันว่าให้เป็นประชาธิปไตย อำนาจตัดสินใจก็จึงมาอยู่ที่ประชาชน ปัจจุบัน เรามีระบอบประชาธิปไตยที่มีตัวแทน ประชาชนก็มอบอำนาจตัดสินใจนี้ให้แก่พวกตัวแทนที่พวกตนเลือกตั้งไปนั้น แล้วตัวแทนหรือผู้แทน(ส.ส.) เหล่านี้ ยังไปประชุมกันเลือกผู้นำหรือหัวหน้าผู้บริหารขึ้นมาให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง ก็เลยเท่ากับไปมอบอำนาจตัดสินใจ ให้กับคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น

ดังนั้น นายกรัฐมนตรีก็จึงเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ และทำการตัดสินใจในนามของประชาชน

ในเมื่ออำนาจตัดสินใจเป็นสิ่งสำคัญ เรียกได้ว่าเป็นหัวใจของการปกครองนั้น มันก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งว่า บุคคลผู้ตัดสินใจ จะใช้อำนาจตัดสินใจนั้น ด้วยเอาอะไรเป็นตัวกำหนด หรือเอาอะไรเป็นเกณฑ์ตัดสินใจ

นี่เราดูตรงนี้นะ ไม่ว่าระบอบไหน จะเป็นระบอบเผด็จการหรือเป็นระบอบคณาธิปไตย หรือเป็นระบอบประชาธิปไตย ในเวลาที่ใช้อำนาจตัดสินใจ จะเอาอะไรเป็นเกณฑ์

ถ้าเอาตัวเอง เอาความยิ่งใหญ่ของตน เอาความทะนงตัว เอาทิฐิความเห็นความเชื่อยึดถือส่วนตัว เอาผลประโยชน์ของตน เป็นเกณฑ์ตัดสิน ก็เป็นอัตตาธิปไตย

ถ้าตัดสินใจไปตามกระแสความนิยม เสียงเล่าลือ หรือแม้แต่ไม่เป็นตัวของตัวเอง คอยฟังว่าใครจะว่าอย่างไร อย่างที่ว่าแล้วแต่พวกมากลากไป หรือตามแรงกดดัน จะเอาใจเขา จะหาคะแนน หรือตอบแทนการเอื้อประโยชน์ ก็เป็นโลกาธิปไตย

ถ้าเอาความจริงความถูกต้องดีงาม หลักการ กฎ กติกา เหตุผล ประโยชน์ที่แท้จริงของชีวิตและสังคม เป็นเกณฑ์ตัดสิน โดยใช้ปัญญาหาข้อมูลตรวจสอบข้อเท็จจริงและความคิดเห็นที่รับฟังอย่างกว้างขวาง ให้ถ่องแท้ ชัดเจน และพิจารณาอย่างดีที่สุด เต็มขีดแห่งสติปัญญาจะมองเห็นได้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ก็เป็นธรรมาธิปไตย

ฉะนั้น ผู้เผด็จการก็เป็นได้ทั้งอัตตาธิปไตย โลกาธิปไตย และธรรมาธิปไตย คณาธิปไตยก็เป็นได้ทั้งอัตตาธิปไตย โลกาธิปไตย และธรรมาธิปไตย ประชาธิปไตยก็เช่นเดียวกัน ก็เป็นได้ทั้งอัตตาธิปไตย โลกาธิปไตย และธรรมาธิปไตย แต่ที่เราต้องการ ซึ่งดีที่สุด คือให้เป็นธรรมาธิปไตย

ถ้าผู้เผด็จการใช้เกณฑ์ตัดสินแบบธรรมาธิปไตย ก็เป็นเผด็จการที่ดี แต่เรากลัวว่าเขาจะตัดสินใจไม่รอบคอบ เพราะรู้ข้อมูลไม่ทั่วถึงหรือปัญญาอาจจะไม่พอ เป็นต้น ถ้าคณาธิปไตยที่ไหน เป็นธรรมาธิปไตย มันก็ยังดี คือเป็นอย่างดีที่สุดของคณาธิปไตย แต่เราเห็นว่ามีจุดอ่อนอยู่มาก

ทีนี้เราหวังว่า ถ้าระบอบเป็นประชาธิปไตย และคนใช้อำนาจตัดสินใจด้วยเกณฑ์ธรรมาธิปไตย ก็จะดีที่สุด จะเป็นอย่างนี้ได้ ก็ต้องให้ประชาชนทุกคนเป็นธรรมาธิปไตยเพราะประชาชนทุกคนมีอำนาจตัดสินใจ ตั้งแต่เลือกตั้งเลยทีเดียว ทุกคนตัองตัดสินใจเลือกด้วยเกณฑ์ธรรมาธิปไตย

ธรรมาธิปไตยของชาวบ้าน ถูกทดสอบครั้งสำคัญวันเลือกตั้ง พอถึงวันเลือกตั้ง เราตัดสินใจด้วยธรรมาธิปไตย เลือกใครล่ะก็ใช้ปัญญาพิจารณาตรวจตราไล่ดูให้ชัดที่สุด ใครพรรคไหนเป็นคนดีมีธรรมมีปัญญาซื่อสัตย์สุจริตมุ่งทำประโยชน์แก่ส่วนรวมแน่นอน ก็ได้ตัวเลย บอกว่าคนนี้เป็นผู้แทนของเราได้

ผู้แทนเป็นอย่างไร ก็แสดงว่าผู้เลือกคงเป็นอย่างนั้น ถ้าผู้เลือกเป็นคนดี ก็คงได้ผู้แทนที่เป็นคนดี ถ้าผู้แทนชั่ว ก็ต้องสงสัยไว้ก่อนว่าผู้เลือกก็คงจะชั่วหรือมีคุณภาพต่ำ มองไปได้ถึงทั้งประเทศ คนชาติอื่นมองดูที่ ส.ส.ไทย แล้วบอกว่า คนไทยก็คืออย่างนี้

พูดสั้น ๆ ว่า ธรรมาธิปไตยจะต้องเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจของทุกกิจกรรมในระบอบประชาธิปไตย เริ่มตั้งแต่การเลือกตั้ง ซึ่งเป็นบททดสอบการใช้อำนาจตัดสินใจครั้งสำคัญยิ่งใหญ่ สำหรับประชาชนในระบอบประชาธิปไตย


ทีนี้ คนที่มีอำนาจตัดสินใจใหญ่ที่สุด คือผู้บริหารสูงสุด ในกรณีนี้ก็คือนายกรัฐมนตรี เพราะได้รับมอบความไว้วางใจให้เป็นผู้ใช้อำนาจตัดสินใจนี้แทนประชาชน ในนามของประชาชน หรือในนามของประเทศชาติทั้งหมด

เพราะฉะนั้น การใช้อำนาจตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีจึงสำคัญที่สุด ถ้านายกรัฐมนตรีผู้ทำหน้าที่ตัดสินใจแทนประชาชนนี้ ใช้อำนาจตัดสินใจสูงสุดนั้น ด้วยเกณฑ์ธรรมาธิปไตย ก็หวังได้ว่าเขาจะรักษาประเทศชาติไว้ด้วยดี และตัวเขาเองก็จะเป็นรัฐบุรุษ แต่ถ้านายกรัฐมนตรีใช้เกณฑ์อัตตาธิปไตย หรือโลกาธิปไตยในการตัดสินใจ แล้วไม่ช้าไม่นานนัก ประเทศชาติก็มีหวังปั่นป่วนวุ่นวาย และตัวเขาเองก็จะเป็นอะไรที่ตรงข้ามกับรัฐบุรุษ

ตอนนี้ เรามีประชาธิปไตยที่ว่าเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุดหรือเลวน้อยที่สุดแล้ว ทำไมจึงต้องมาโอดครวญแต่ปัญหากันอยู่เรื่อย เรื่องก็คือว่า การใช้อำนาจตัดสินใจมันไปไม่ค่อยจะถึงธรรมาธิปไตยกันเลย หรือว่าธรรมาธิปไตยมันไม่ค่อยจะเด่นขึ้นมาให้เห็นชัดที่จะทำให้ชื่นใจมั่นใจ เมื่อไร ๆ ก็ได้แต่นัวเนียตัดพ้อต่อว่า กระทั่งทะเลาะกันอยู่ ที่เรื่องอัตตาธิปไตยกับโลกาธิปไตยนั่นแหละ บางทีทำท่าจะเอาธรรมาธิปไตย แต่ก็อยู่แค่ธรรมชั้นสองที่เป็น กฎคนทำ อ้างกันอยู่นั่น ติดอยู่แค่นั้น ขึ้นไม่ค่อยถึงธรรมแท้ที่เป็น กฎแห่งธรรม ก็เลยเอาดีจริงไม่ได้

ระบอบประชาธิปไตยจะดีได้ คนต้องเป็นธรรมาธิปไตย เฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บริหารสูงสุดที่ใช้อำนาจตัดสินใจในนามของประชาชน จะต้องทำการตัดสินใจด้วยเกณฑ์ธรรมาธิปไตย และ ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจตัดสินใจ แต่ละคนต้องทำการตัดสินใจขั้นพื้นฐานของประชาธิปไตย ที่จะเลือกผู้แทนมารับมอบอำนาจตัดสินใจของตนไป ด้วยการเลือกตั้งที่ใช้เกณฑ์ธรรมาธิปไตย


กำลังโหลดความคิดเห็น