รายงานการเมือง
จากรายชื่อผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินที่มี 17 คนเพื่อมาแทนประวิช รัตนเพียร ที่ลาออกไปและตอนนี้จ่อเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผลปรากฏว่าที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อ 22 ตุลาคม 56
ลงมติเลือก ผู้พิพากษาคนดังของวงการตุลาการ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ให้ได้เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นไปตามความคาดหมาย เพราะพรเพชรถือว่าเป็นเต็งหนึ่งมาตั้งแต่แรก
หลังมีคะแนนถึงเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่า ต้องได้อย่างน้อย 2 ใน 3 ของเสียงที่ประชุมกรรมการสรรหาฯ คือ 5 คะแนน ขณะที่ตามข่าวบอกว่าอีกสองคนที่เข้ามาลุ้นเบียดเช่นกัน คือ พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม และนางจีราวรรณ บุญเพิ่ม อดีตปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร แค่ได้ลุ้นเพราะคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ ได้ไปคนละ 1 คะแนน
ส่วนอดีตแม่บ้านสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่เพิ่งพ้นวาระไปอย่างเฉลิมศักดิ์ จันทรทิม อดีตเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินที่ก่อนหน้านี้ถูกคาดหมายเหมือนว่ามีสิทธิ์ลุ้น รอบนี้ก็พลาดไป
เหตุที่นายพรเพชรถูกวางเป็นเต็งหนึ่งมาตลอด เพราะเมื่อดูจากรายชื่อผู้สมัคร 17 คนจะพบว่าหลายคนเป็นพวกผิดหวังมาจากการเลือกกรรมการการเลือกตั้ง-กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาและส่วนใหญ่ที่มาสมัครเมื่อดูประวัติการทำงานโดยเฉพาะด้านกฎหมายอะไรต่างๆ แล้ว
พอคนเห็นชื่อ พรเพชร อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา-อดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่ตอนนี้เป็นผู้พิพากษาอาวุโสศาลอุทธรณ์ภาค 9 ก็ถูกจัดให้เป็นเต็งหนึ่งนับแต่เปิดชื่อ 17 ผู้สมัครออกมา
ส่วนคนอื่นที่คนพอรู้จักบ้าง ก็เช่น นายสุรสีห์ โกศลนาวิน อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ - พล.ต.ต.สังวรณ์ ภูไพจิตรกุล คนนี้ยังรับราชการอยู่ที่สถาบันฝึกอบรมและวิจัยการพิสูจน์หลักฐานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ - พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ ตู้จินดา อดีตประธาน กกต.กรุงเทพมหานคร เป็นต้น
ก่อนหน้านี้ มองกันว่ากรรมการองค์กรอิสระที่เหมาะสมกับนายพรเพชรตำแหน่งที่น่าจะลงตัวมากที่สุดสำหรับอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาผู้นี้มากที่สุด ก็คือ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” และเดิมข่าวบอกว่า พรเพชรมีสิทธิ์ได้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คนล่าสุดที่เข้าไปแทน “วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์” ที่ลาออกไปแล้ว เนื่องจากตอนที่นายพรเพชรไปสมัครคัดเลือกปรากฏว่า ในการลงคะแนนของ กรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ตอนนั้นมี “ไพโรจน์ วายุภาพ” อดีตประธานศาลฎีกาเวลานั้นเป็นประธานกรรมการสรรหาฯ ชื่อของพรเพชรมีสิทธิ์ถึงเกณฑ์เป็นคนแรกๆ ของการลงคะแนนเสียงด้วยซ้ำ เฉียดไปเฉียดมาจะเข้าอยู่แล้ว ขาดแค่ 1-2 คะแนน ก็ได้เป็นแล้ว
แต่สุดท้ายก็มาเป็น “ม้ามืด” อย่าง ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่ได้รับเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไป
ทำเอาผู้คนในวงการยุติธรรมเสียดายกันมากที่พรเพชรไม่ได้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังดีที่สุดท้ายก็ได้เข้าไปทำงานในองค์กรอิสระอย่างผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่แม้อำนาจ-บทบาทจะน้อยกว่าองค์กรอิสระอื่นๆ แต่หากผู้ตรวจการแผ่นดินได้คนเข้าไปทำงานแบบเข้มข้น ก็น่าจะทำให้ที่คนมองว่าผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นแค่พวกเสือหลับ ไร้เขี้ยวเล็บ อาจคิดผิดก็ได้
ก็ต้องรอให้กระบวนการขั้นตอนทางกฎหมายเสร็จสิ้นกันไปก่อน เพราะต้องมีทั้งการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาตรวจสอบประวัติ และต้องให้วุฒิสภาลงมติเห็นชอบอีกเมื่อขั้นตอนทุกอย่างเรียบร้อยก็คงได้เห็นการทำงานของอดีตผู้พิพากษาที่วันนี้เปลี่ยนจากสวมเสื้อครุยมาถือไม้บรรทัดผู้ตรวจการแผ่นดินคอยทำหน้าที่สอดส่องดูแลการทำงานและการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ และนักการเมืองผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง ให้อยู่ในหลักในเกณฑ์ตามกฎหมายและประมวลจริยธรรมการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ-ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ดี
ตอนนี้ก็มีหลายเรื่องที่มายื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินสะสางตรวจสอบตามขั้นตอนต่อไป ที่มีทั้งเรื่องเสื้อแดง-เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์-รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่างฝ่ายต่างร้องกันไปมานัวเนียกันไปหมด
ล่าสุดเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมากลุ่ม นปช.เสื้อแดงก็ไปยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบพฤติกรรมและจริยธรรมของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.กรณีที่ให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มม็อบอุรุพงษ์ที่นปช.อ้างว่ากทม.มีการสนับสนุนรถปั่นไฟ ที่มีสัญลักษณ์ กทม.และคำว่าใช้ในราชการเท่านั้น อีกทั้งยังแจกน้ำดื่ม และไม่ยอมบังคับใช้ พ.ร.บ.รักษาความสะอาด และ พ.ร.บ.จราจร จึงเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
ก่อนหน้านี้ก็มีกรณีเครือข่ายภาคประชาชนปกป้องประเทศที่นำโดยนายสมมาตร์ พรนที เคยเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบกรณี ส.ส.พรรคเพี่อไทยเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันในการประชุมรัฐสภาเมื่อ 10 ก.ย. 56 ที่มีการลงมติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ที่ผู้ร้องเห็นว่า เรื่องนี้สร้างความอับอาย เสื่อมเสียชื่อเสียงของประเทศเป็นความผิดตามประมวลจริยธรรมนักการเมืองและยังเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ส่วนเรื่องตำรวจที่คั่งค้างก็เช่นกรณี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ถูกร้องให้สอบเรื่องเดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่มาเก๊า หลังก่อนหน้านี้ก็เคยมีภาพไปให้ทักษิณประดับยศที่ต่างประเทศ ก่อนหน้านี้ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ออกมาบอกว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็มีการสอบเรื่องนี้อยู่ แต่ก็พบว่าเรื่องก็เงียบหายไป
ก็ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินกระทุ้งไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วยว่า ให้เร่งออกมาบอกด้วยว่าสีกากีสอบกันเองช่วยกันเอง ตอนนี้มันไปถึงไหนแล้ว เพราะใครๆ ก็รู้ยังไง สตช.ก็ต้องดองเรื่องไปเรื่อยๆ หรือไม่ก็แทงเรื่องกลับมาทำนองช่วย ผบช.น. น้องรักทักษิณอยู่แล้ว เพราะรู้ว่าผู้ตรวจการแผ่นดินก็ทำอะไรไม่ได้ต่อให้พยานหลักฐานชัดเจนว่า ผบช.น.บินไปให้ทักษิณตบไหล่ติดยศที่ต่างประเทศ และยังเหิมเกริมไปอีกหลายครั้ง ตำรวจไม่เห็นต้องทำกั๊กเรื่องให้เสียเวลา
โดยเฉพาะเรื่องกระทรวงการต่างประเทศคืนหนังสือเดินทางให้นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ผู้ตรวจการแผ่นดินอย่าให้เรื่องเงียบหายไปเสียล่ะ ประชาชนเขาอยากรู้กระทรวงการต่างประเทศจะช่วยกันอุ้มทักษิณ-สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศไปได้นานแค่ไหน