กกต. ยกคำร้อง “เยาวภา” ขนคนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า อ้างสันกำแพง-ดอยสะเก็ด เป็นพื้นที่ภูเขา เจ้าของรถขนคนไปลงคะแนนแค่เอาเครือญาติไปหย่อนบัตร อีกด้านแจกใบแดงผู้สมัคร ส.ว.นครปฐม เหตุใช้ข้อความป้ายหาเสียง “ไม่เอาระบอบทักษิณ” ขัดกฎหมาย เผยเรื่องร้องคัดค้าน ส.ว.22 เรื่อง อุบลฯ มากที่สุด 5 เรื่อง ยื้ออนุมัติ ศรส.ใช้งบกลาง 2309 ล้าน เลื่อนไปลงมติ 8 เม.ย.
วันนี้ (2 เม.ย.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงว่า ที่ประชุม กกต.มีมติเสียงข้างมากยกคำร้องคัดค้านการประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.เขต 3 เชียงใหม่ ที่นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง จากการเลือกตั้งซ่อมส.ส.เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2556 โดย กกต.เห็นว่าไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงจนทำให้เชื่อได้ว่านางเยาวภามีการสั่งให้ขนคนไปลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 12 เม.ย. 56 อย่างที่นางกิ่งกาญจน์ ณ เชียงใหม่ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวหาว่า นางเยาวภาได้มีการจัดหารถยนต์ 20 คันเพื่อนำผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า และเห็นว่าพื้นที่ อ.สันกำแพง ดอยสะเก็ด เป็นพื้นที่ภูเขา การที่ผู้ถือครองกรรมสิทธิ์รถยนต์ทั้ง 20 คัน พาผู้มีสิทธิไปใช้สิทธินั้นเป็นการนำเครือญาติไปใช้สิทธิโดยไม่มีการว่าจ้าง
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเสียงข้างมากให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือให้ใบแดงรวมทั้งดำเนินคดีอาญากับนายธนวัฒน์ เขียวรุ้งเพชร ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จ.นครปฐมซึ่งไม่ได้รับเลือกตั้ง จากกรณีป้ายหาเสียงมีข้อความว่า “ชัดเจนไม่เอาระบอบทักษิณ โกงชาวนา ฆ่าเด็กบริสุทธิ์” โดย กกต.เห็นว่าข้อความดังกล่าวไม่เข้าข่ายเป็นการนำเสนอสิ่งที่เป็นหน้าที่ของ ส.ว. ตามที่กฎหมายกำหนด โดย กกต.จะได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการตรวจสอบการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกฤษฎีกาพิจารณาต่อไป ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 5 วัน ส่วนการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ว.นั้นในวันที่ 8 เม.ย.นี้ กกต.จะพิจารณาประกาศรับรองผลผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ว.ที่ไม่มีเรื่องร้องเรียนรอบแรก ขณะที่คำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ว. ขณะนี้มีทั้งสิ้น 22 เรื่อง ซึ่ง จ.อุบลราชธานี ที่มีเรื่องร้องคัดค้านมากสุด 5 เรื่อง
นายภุชงค์ยังกล่าวด้วยว่า ในการประชุมวันนี้ ที่ประชุม กกต.ยังได้รับฟังความคิดเห็นในข้อกฎหมายจากผู้แทนสำนักงบประมาณ กรณีศูนย์รักษาความสงบ หรือ ศรส. ขออนุมัติใช้งบกลาง 2,309 ล้านบาท เพื่อดำเนินกิจการของ ศรส. จากที่ก่อนหน้านี้ กกต.มีข้อสัยว่า ตามกฎหมายแล้วหากมีการใช้จ่ายไปแล้วจะมีการขอเบิกย้อนหลังได้หรือไม่ ซึ่งผู้แทนสำนักงบประมาณชี้แจงว่า หากมีความจำเป็นในกรณีฉุกเฉินสามารถใช้งบประมาณของหน่วยงานตนเองไปก่อนได้ แล้วมาขอเบิกงบกลางในภายหลัง แต่ทั้ง กกต.ยังไม่ได้มีมติ โดยได้นัดลงมติเรื่องดังกล่าวในวันที่ 8 เม.ย.ด้วย
สำหรับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งว่าการเลือกตั้ง 2 ก.พ.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น กกต.จะเชิญหน่วยงานความมั่นคงมาหารือประเมินสถานการณ์ในวันที่ 8 เม.ย. และจากนั้นวันที่ 22 เม.ย.ก็จะเชิญ 73 พรรคการเมืองมาหารือ โดยยืนยันว่า กกต.จะเร่งดำเนินการให้มีการตรา พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่โดยเร็วเพื่อให้มีรัฐบาลมาบริหารประเทศในเวลาที่เหมาะสม โดยกรอบเวลาที่ กกต.วางไว้เป็นการเอาแนวปฏิบัติมาจากปี 2549 หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 เม.ย. 49 เป็นโมฆะ และได้มีการนำเสนอให้หน่วยงานความมั่นคงและพรรคการเมืองได้พิจารณา เพื่อจะได้รับทราบว่าการจะจัดการเลือกตั้งให้เรียบร้อยและสำเร็จได้นั้น ต้องมีช่วงระยะเวลาที่สถานการณ์ต่างๆ เรียบร้อย มีเวลาให้ กกต.แก้ไขระเบียบต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนอย่างที่ผ่านมา โดยคิดว่าระยะเวลาดังกล่าวไมได้กระทบต่ออายุของรัฐบาลรักษาการเพราะก็สามารถรักษาการได้ตามที่กฎหมายกำหนดได้ต่อไป หากการจัดการเลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จ แต่ทั้งนี้ กกต.ก็ทราบข้อจำกัดในการบริหารประเทศของรัฐบาลรักษาการ ทั้งเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย การขออนุมัติงบประมาณต่างๆ และก็ไม่ได้ต้องการให้รัฐบาลรักษาการนานเกินไป