กกต.มีมติเชิญ ผบ.4 เหล่าทัพ พร้อมหน่วยงานความมั่นคงอื่นๆ ร่วมประเมินหาวันเลืออกตั้งใหม่ 8 เม.ย.ก่อนถก 73 พรรคการเมือง 22 เม.ย.ส่วนกรณีร้องคัดค้าน “เจ๊แดง” ขนคนใช้สิทธิเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ปี 56 คาดจะมีมติยกคำร้อง ด้านเลขาฯ กกต.เผยเตรียมพิจารณาประกาศรับรองผล ส.ว.รอบแรก 8 เม.ย.
วันนี้ (1 เม.ย.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวภายหลังการประชุม กกต.ที่มีการพิจารณคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการเลือกตั้ง 2 ก.พ.ไม่ชอบด้วยรับธรรมนูญ ว่า ที่ประชุม กกต.มีมติให้เชิญหน่วยงานความมั่นคง อาทิ ผู้นำ 4 เหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย แม่ทัพภาค 4 และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8, 9 ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มาหารือถึงเพื่อประเมินสถานการณ์ว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ได้เมื่อใด ในวันที่ 8 เม.ย.เวลา 14.00 น.ที่สำนักงาน กกต.โดยอยากให้ผู้บังคับบัญชาของแต่ละหน่วยงานมาร่วมหารือด้วยตนเอง เนื่องจากจะได้รับทราบและสะท้อนปัญหาให้ กกต.ทราบข้อเท็จจริง เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญได้มีการระบุถึงสถานการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศ ดังนั้นจึงต้องมีการหารือเพื่อเตรียมการในประเด็นดังกล่าวป้องกันไม่ให้การเลือกตั้งต้องสูญไป และเสียงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน
และหลังจากนั้น กกต.จะเชิญพรรคการเมืองจำนวน 73 พรรค ที่ กกต.รับรองเป็นพรรคการเมืองมาหารือในวันที่ 22 เม.ย.เวลา 14.00 น.แต่ที่พรรคการเมืองจะให้ กกต.จัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45-60 วัน นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคงเป็นไปไม่ได้
นายศุภชัย ยังกล่าวถึงกรณีมีประชาชนไปฟ้องดำเนินคดีกับ กกต.และศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่สามารถจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ได้ว่า เขาอยากฟ้องก็ให้เขาฟ้อง ถ้าเราคิดว่าไม่ได้ทำอะไรผิดหรือไปกลั่นแกล้งใคร แต่ กกต.ทำหน้าที่อย่างสุจริตและเป็นกลาง สิ่งนั้นก็เหมือนเป็นเกราะคุ้มกัน จึงไม่ได้รู้สึกกดดันกับเรื่องดังกล่าว เพราะการกระทำที่ผ่านก็อาจจะไม่ถูกใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ส่วนที่พรรคเพื่อไทยเตรียมล่ารายชื่อมาถอดถอน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ออกจากตำแหน่งหรือให้มีการเปลี่ยนตำแหน่งด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้งนั้น หากเรื่องนี้มีการยื่นเข้ามา กกต.ก็จะพิจารณาด้วยความรอบคอบ กกต.แต่ละคนมีวิจารณญาณเป็นของตัวเอง ไม่ใช่ใครมาจี้แล้ว กกต.จะทำตามเสียทั้งหมด อย่างไรก็ตาม กกต.ก็จะเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายสามารถแสดงความเห็นในการทำงานของ กกต.ได้ เพราะถ้าหากมีใครบอกว่าเรื่องใด กกต.ทำไม่ถูกก็จะต้องนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้น
รายงานข่าวแจ้งว่า ในที่ประชุมได้มีการวิเคราะห์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญแล้วเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ระบุถึงสาเหตุที่ทำให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ.ไม่เสร็จเรียบร้อยมาจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง จน กกต.ไม่สามารถที่จะให้มีการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ใน 28 เขตได้ เป็นกรณีที่ กกต.ต้องพิจารณาว่าหากจะมีการจัดการเลือกตั้งใหม่และให้เกิดความสำเร็จ กกต.ต้องคำนึงเรื่องสถานการณ์ความสงบเป็นสำคัญ ถ้า กกต.จัดการเลือกตั้งแล้วเกิดปัญหาซ้ำเดิม กกต.จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ทำให้ที่ประชุม กกต.เห็นว่าจำเป็นที่ต้องเชิญหน่วยงานความมั่นคงมาหารือ เพื่อประเมินสถานการณ์และวันที่เหมาะสมในการจัดการเลือกตั้ง
นอกจากนี้ที่ประชุมก็ได้มีการพิจารณากรณีที่ 53 พรรคการเมืองมีการประชุมและยื่นข้อเสนอให้ กกต.จัดเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน นับแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย แม้ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ได้กำหนดแนวปฏิบัติ แต่ก็มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้การเลือกตั้ง 2 เม.ย.49 เป็นโมฆะ เป็นแนวทางที่ให้ กกต.สามารถนำมาปฏิบัติได้ โดยทางสำนักงานได้มีการเสนอว่าตอนปี 49 หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยจนถึงวันเลือกตั้งใหม่ที่มีการกำหนดให้เป็นวันที่ 15 ต.ค. 49 ใช้เวลาทั้งสิ้น 160 วัน โดยในห้วงเวลา 160 วันดังกล่าว มีการกำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 60 วันนับแต่ พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้น กกต.น่าจะใช้กรอบระยะเวลาดังกล่าวเป็นหลักในการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ในครั้งนี้ ซึ่งได้มีการเสนอเป็น 3 รูปแบบ โดยแต่ละรูปแบบจะยึดกรอบกำหนดจัดการเลือกตั้งใหม่ภายในเวลา 60 วัน นับแต่ พ.ร.ฎ.มีผลบังคับใช้ โดยให้นับย้อนจากเวลาดังกล่าวขึ้นไป 30 วัน หรือ 60 วัน หรือ 90 วัน สำหรับให้ กกต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมเพื่อให้การเลือกตั้งใหม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวมทั้งแก้ไขระเบียบ กกต.ที่เป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้ง เช่น ระเบียบการรับสมัคร ส.ส.ที่อาจจะนำระบบการรับสมัครทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษมาใช้ปฏิบัติเป็นการทั่วไป ดังนั้นการกำหนดวันเลือกตั้งจะมี 3 รูปแบบ คือในกรอบระยะเวลา 90 วัน 120 วัน และ 150 วัน
ด้าน นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.กล่าวว่าในวันที่ 8 เม.ย.ช่วงเช้า กกต.ต้องประชุมพิจารณารับรองผลการเลือกตั้ง ส.ว.ทำให้ต้องมีการเชิญประชุมฝ่ายความมั่นคงในช่วงบ่าย
ส่วนกรณีการพิจารณาคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 3 เชียงใหม่ เมื่อปี 56 ที่นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ได้รับจากเลือกตั้ง กรณีขนคนไปลงคะแนนเลือกตั้งนั้น กกต.แต่ละคนได้ลงมติแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถรวมมติได้ จึงจะมีการแถลงเรื่องนี้อีกครั้งในวันพรุ่งนี้ อย่างไรก็ตามมีรายงานว่ากรณีดังกล่าว กกต.น่าจะมีมติเสียงข้างมากให้ยกคำร้อง