รายงานการเมือง
เป็นไปตามคาดกับผลการเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั่วประเทศ 77 คน เกือบ 70-80 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ได้รับเลือกล้วนเป็นเครือข่ายของพรรคการเมือง-นักการเมืองทั้งระดับชาติ และท้องถิ่น
ส่วนที่เหลือก็มีหลายคนที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา เพราะปัจจัยอื่นเช่นเคยเป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัด, อดีตรองผู้ว่าฯ-อดีต ส.ว.ปี 43 หรือเป็นเอ็นจีโอในพื้นที่ แต่ก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่า “เครือข่ายนักการเมือง”
สำหรับรายชื่อว่าที่ ส.ว.ครั้งนี้มีหลายคนมีความเกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์ และกปปส.อย่างชัดเจน เช่น บุญส่ง ไข่เกตุ อดีต ส.ส.ตราด ประชาธิปัตย์ หรือ พ.ต.อ.นรินทร์ บุษยวิทย์ อดีตรอง ผบก.ชุมพรที่ ลูกหมี-ชุมพล จุลใส อดีต ส.ส.ชุมพร แกนนำ กปปส.ประกาศชัดว่าหนุนหลัง หรืออย่าง ทวี ภูมิสิงหราช ว่าที่ ส.ว.พัทลุง กับบทบาทที่ชัดก็คือเป็นประธาน กปปส.พัทลุง ที่เคลื่อนไหวคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส.ในพัทลุงอย่างแข็งขันมาตลอด
แต่เมื่อเช็กชื่อว่าที่ ส.ว.แต่ละคนแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า สายเครือข่ายพรรคเพื่อไทย-คนเสื้อแดง-พรรคร่วมรัฐบาลในเวลานี้ คือ ชาติไทยพัฒนา-ชาติพัฒนา-พลังชล ได้รับเลือกเข้ามาในสัดส่วนที่มากกว่าของประชาธิปัตย์-กปปส.หลายคน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ-อีสาน-กลาง
อย่างไรก็ดี มีหลายจังหวัดที่เห็นได้ชัดว่ามีการแข่งขันกันเองของเครือข่าย “เพื่อไทย-เสื้อแดง-พรรคร่วมรัฐบาล” บางจังหวัดพวกเพื่อไทยก็แข่งกันเองเลย เช่นที่ จ.ร้อยเอ็ด สมเกียรติ พื้นแสน น้องชาย พล.ต.อ.วิรุฬ ฟื้นแสน อดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพื่อไทย 2 สมัย ก็แข่งกับ วิรัตน์ นาเมืองรักษ์ น้องชายนิรันดร์ นาเมืองรักษ์ อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ดหลายสมัย แถมยังมีแกนนำเสื้อแดงร้อยเอ็ดลงอีกด้วย แต่ผลสุดท้ายก็เป็น สมเกียรติ ฟื้นแสน ที่ชนะการเลือกตั้ง เพราะมีข่าวว่าอดีต ส.ส.ร้อยเอ็ดหลายคนสนับสนุน โดยเฉพาะนิสิต สินธุไพร แกนนำ นปช.และอดีต ส.ส.ร้อยเอ็ดหลายสมัย
กรณีแบบนี้ยังมีอีกหลายที่ เช่น จ.ศรีสะเกษ ก็ปรากฏว่า ไสว สดใส ที่เป็นประธานกลุ่มลำดวนแดงเพื่อประชาธิปไตยจังหวัดศรีสะเกษ ก็แข่งกันอย่างหนักกับ วิลดา อินฉัตร น้องสาวมาลินี อินฉัตร อดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อไทยที่ถึงขั้นขอให้อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำ นปช.ไปช่วยหาเสียงให้น้องสาวเมื่อช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง แล้วผลก็ออกมาว่า วิลดา อินฉัตร ก็ชนะได้เป็นว่าที่ ส.ว.ตามคาด
สายเพื่อไทย-เสื้อแดงแข่งกันเองแบบนี้ยังมีหลายจังหวัด โดยเฉพาะในภาคเหนือ-อีสานที่ผู้สมัครหลายคนอิงฐานเสียงเพื่อไทย-เสื้อแดง และพยายามหาเสียงอย่างไม่เป็นทางการเพื่อบอกคนในพื้นที่ว่าเป็นคนของใคร
แม้จะมีกระแสข่าวว่าผู้สมัครหลายคนในภาคเหนือ อีสาน ที่ไม่ได้มีญาติเป็น ส.ส.เพื่อไทย ก็พยายามร้องขอให้ ทักษิณ ชินวัตร ช่วยส่งสัญญาณไปยังอดีต ส.ส.เพื่อไทยในภาคเหนือ-อีสานให้ช่วยเหลือ แต่ทักษิณไม่เอาด้วยเพราะเกรงจะมีปัญหาปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ บางจังหวัดที่พวก “เพื่อไทย-เสื้อแดง” แข่งกันเองก็ปล่อยไป ไม่ลงมาเกี่ยวข้อง เหตุเพราะก็ไม่อยากมีปัญหา เดี๋ยวเกิดว่าบางจังหวัดพวกอดีต ส.ส.เพื่อไทยแข่งกันเอง เช่นฝ่ายหนึ่งก็จะส่งเครือญาติอีกฝ่ายหนึ่งก็ส่งเครือญาติหรือคนใกล้ชิดลงสมัคร แล้วสู้กันอย่างหนัก แล้วทักษิณไปหนุนหลังฝ่ายหนึ่ง ก็ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่พอใจ
ผลก็เลยเป็นอย่างที่เห็น ในภาคเหนือ อีสาน รวมถึงภาคกลางบางจังหวัด สายเพื่อไทยและเสื้อแดงแข่งกันเอง จนมีข่าวว่าทำให้อดีต ส.ส.เพื่อไทยหลายคนที่เดิมไม่ถูกกันอยู่แล้วยิ่งขัดแย้งกันหนัก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่ ส.ว.หลายคน ภาพอาจไม่ชัดว่าเป็นอดีต ส.ส.เพื่อไทยตั้งแต่สมัยไทยรักไทย-พลังประชาชน หรือเป็นญาติของอดีต ส.ส.เพื่อไทย ชนิดเห็นกันจะจะ แบบประเภทอย่าง ศรีเมือง เจริญศิริ อดีต รมว.ศึกษาธิการ สมัยสมชาย วงศ์สวัสดิ์-อดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน แต่ก็มีหลายคนดูแล้วก็น่าจะได้รับแรงหนุนจากสายเพื่อไทย และแม้ภาพบางคนอาจไม่ชัดแต่ก็อยู่ในข่ายที่เชื่อว่าเมื่อเข้าไปเป็น ส.ว.แล้วฝ่ายเพื่อไทย หรือแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลน่าจะดึงเข้ากลุ่มให้ไปเป็น ส.ว.สายอิงรัฐบาลเพื่อไทยได้ไม่ยาก
ทั้งนี้ นอกจาก สมเกียรติ ฟื้นแสน จากร้อยเอ็ด, วิลดา อินฉัตร จากศรีสะเกษ-ศรีเมือง เจริญศิริ มหาสารคาม ที่เห็นชัดว่าเป็นสายเพื่อไทย-เสื้อแดงแล้ว ยังพบว่ามีว่าที่ ส.ว.อีกหลายคนเป็นเครือข่ายเพื่อไทยแน่นอน เช่น ดวงพร เทียนทอง ผู้บริหารโรงแรมอรัญเมอร์เมด ที่สระแก้ว หลานเสนาะ เทียนทอง แกนนำพรรคเพื่อไทย อาภรณ์ สาราคำ ว่าที่ ส.ว.อุดรธานี เมียขวัญชัย ไพรพนา, อุบลราชธานี สมชาย เหล่าสายเชื้อ นักธุรกิจเจ้าของโชว์รูมโตโยต้าใหญ่ระดับประเทศ ที่ จ.อุบลราชธานี ที่เอาชนะ ณัฐณิชาช์ เพิ่มทองอินทร์ ภรรยา พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์อดีตปลัดกระทรวงกลาโหมมาได้แบบสบายๆ แม้ภาพอาจดูกลางๆ แต่ก็มีข่าวว่าอดีต ส.ส.อุบลราชธานี ยอมรับเองว่าสมชายสนิทกับเกรียง กัลป์ตินันท์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
แล้วก็ยังมีอีกบางส่วน เช่น ที่ จ.นครสวรรค์ พบว่า ร.อ.จักรวาล ตั้งภากรณ์ ว่าที่ ส.ว.นครสวรรค์ ก็คือพี่ชาย บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีต รมช.พาณิชย์ ที่คุมพื้นที่นครสวรรค์ให้กับพรรคเพื่อไทยอยู่ตอนนี้ หรือ มณเฑียร สงฆ์ประชา ที่ตอนนี้รอจ่อว่าที่ ส.ว.ชัยนาท ก็เป็นพี่ชายของนางมันทนา สงฆ์ประชา อดีต ส.ส.ชัยนาทที่ตอนนี้ย้ายมาอยู่เพื่อไทยพร้อมสมศักดิ์ เทพสุทิน หรือธงชัย ศรีสุขจร ว่าที่ ส.ว.นครปฐม นักธุรกิจรายใหญ่ในจังหวัด ก็มีข่าวว่าแนบแน่นกับพี่น้องตระกูลสะสมทรัพย์ ทั้งไชยาและเผดิมชัย
หรือ นายอดิศร กำเนิดศิริ ว่าที่ ส.ว.เชียงใหม่ที่ลาออกจากรองผู้ว่าฯ เชียงใหม่มาลงสมัคร แม้ต้องสู้กับ ถาวร เกียรติไชยากร อดีต ส.ว.เชียงใหม่ น้องชายสุรพล เกียรติไชยากร อดีต ส.ส.เชียงใหม่ เพื่อไทย แต่เพราะเสียงอดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ไม่เป็นเอกภาพ ผนวกกับตัวอดิศรก็รู้จักสนิทกับอดีต ส.ส.เชียงใหม่เพื่อไทยหลายคนที่อาจพอคุยกันได้ แล้วก็เป็นดังคาด เลยได้เป็นว่าที่ ส.ว.เชียงใหม่แบบไม่ได้เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ผลเลือกตั้งที่ออกมาบางจังหวัดก็แสดงให้เห็นว่าประชาชนก็คงไม่ต้องการให้สายเพื่อไทยผูกขาดการเมืองในจังหวัดแบบเบ็ดเสร็จจึงไม่เลือกคนของเพื่อไทยเสียเลย ยิ่งบางจังหวัดคู่แข่งขันชื่อเสียงดีกว่าก็เอาชนะคนของสายเพื่อไทยได้ไม่ยาก
เช่นที่ จ.ปทุมธานี นิพัทธา อมรรัตนเมธา อดีต ส.ว.ปี 43-อดีต ผวจ.ปทุมธานี ที่ชนะ มาลา หาญสวัสดิ์ สะใภ้ตระกูลหาญสวัสดิ์ ที่ผูกขาดการเมืองในปทุมธานีมาหลายสิบปีไปได้ หรือที่ จ.พะเยา ซึ่ง เสถียร เชื้อประเสริฐศักดิ์ ทนายความและอดีตรองประธานสโมสรฟุตบอล พะเยาเอฟซี คว่ำเต็งหนึ่ง ไพรัตน์ ตันบรรจง อดีตนายก อบจ.พะเยา น้องชายไพโรจน์ ตันบรรจง อดีต ส.ส.พะเยา เพื่อไทยหลายสมัยไปได้แบบหักปากกาเซียน
ขณะที่พวกเครือข่ายสายพรรคร่วมรัฐบาลก็มีเข้ามาหลายคน อาทิ สายพรรคชาติไทยพัฒนา อย่าง จองชัย เที่ยงธรรม อดีตแกนนำพรรคชาติไทย ที่จ่อเป็น ส.ว.สุพรรณบุรี ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ อดีต ส.ส.พรรคชาติไทย หรือชาติพัฒนาก็เช่น บุญพา ลิมปะพันธุ์ คนนามสกุลเดียวกับ ประพาส ลิมปะพันธุ์ แกนนำพรรคชาติพัฒนารวมถึง พงษ์ศิริ กุสุมภ์ ที่หลายสายบอกว่าได้เป็น ส.ว.นครราชสีมา เพราะได้แรงหนุนจากสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เนื่องจากสนิทกันมาก เพราะพงษ์ศิริเคยเป็นรองผู้ว่าฯ โคราชหลายปี ส่วนที่ จ.ชลบุรี สุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ อดีต ส.ส.ชลบุรีลูกทีม สนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชลมาร่วม 20 ปี
เชื่อว่าหลังจากนี้ สายทักษิณคงเข้าไปรุกคืบแทรกแซงวุฒิสภาตามเคยแน่นอน เพื่อหวังผลในการยึดครองสภาสูงจะได้ทำให้คดีถอดถอนต่างๆ ที่ ป.ป.ช.จะส่งมา เสียงถอดถอนจะได้ไม่ถึง
โดยอาจมีการเข้าไปชอปปิ้งซื้อตัว ส.ว.ทั้งหลายที่พร้อมเสนอตัวเพื่อแลกกับผลประโยชน์ หลังฝ่ายทักษิณ เสนอสิ่งล่อใจพวก ส.ว.ทั้งหลายให้เข้ามาเป็นพวก เช่น ผลประโยชน์การเมือง สินน้ำใจต่างๆ เหมือนอย่างที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้ทั้งสมัย ส.ว.ปี 43 และ ส.ว.ปี 51
หาก ส.ว.หลายคนยอมขายตัว เป็นทาสให้ระบอบทักษิณ “สภาชิน” แบบปี 43 กลับมาอีกรอบแน่นอน