“อดุลย์” แจง กกต.แทน “เป็ดเหลิม” ค่าใช้จ่าย ศรส. เลี่ยงจ้อสื่อ คปท.เคลื่อนมาประชิด ชงแนวทางปฏิรูปเลือกตั้ง แต่ถูกห้ามเข้าพื้นที่ “ทนายนกเขา” ย้อนที่ผ่านมาเลือกตั้งเป็นฉากอ้าง ปชต. ต้องปฏิรูปให้สุจริต เที่ยงธรรม เท่าเทียม ทำไม่ได้ฝืนไป ทำลายการปกครองชาติ ปลุก กกต.กล้ายุติ เหตุตอนนี้เผด็จการ ไม่ฟังเจอกดดันซ้ำ “ภุชงค์” ชี้กุนซือ กม.กกต.มองเลือกตั้งไม่โมฆะทั้งระบบ รอดูคำวินิจฉัยทางการศาลพรุ่งนี้
วันนี้ (27 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีการประชุมครบ 5 คนหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการเลือกตั้ง 2 ก.พ.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หลังจากที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้งเดินทางกลับจากการดูงานการเลือกตั้ง ส.ว.นอกราชอาณาจักรที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และอิตาลีเมื่อช่วงเช้าที่ผ่ามา โดยในการประชุมยังมีวาระการพิจารณากรณีศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) ขออนุมัติใช้งบกลาง 2,039 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของศูนย์ฯ ซึ่ง กกต.ได้ขอให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะ ผอ.ศรส.มาชี้แจง แต่ ร.ต.อ.เฉลิมได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรอง ผอ.ศรส.เป็นผู้มาชี้แจงแทน โดยมีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจของ ศรส.ได้เตรียมเอกสารมาชี้แจงจำนวนมาก ซึ่ง พล.ต.อ.อดุลย์พยายามที่จะหลบผู้สื่อข่าวที่ดักรอสัมภาษณ์อยู่ ขึ้นไปยังห้องประชุม กกต.ทันที
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ กกต.กำลังมีการประชุม กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นำโดยนายนิติธร ล้ำเหลือ ที่ปรึกษา คปท. และนายอุทัย ยอดมณี ผู้ประสานงาน คปท. ได้เคลื่อนมวลชนมายังสำนักงาน กกต.เพื่อยื่นข้อเสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศว่าด้วยเรื่องการปฏิรูประบบการเลือกตั้ง โดยทางแกนนำต้องการยื่นหนังสือต่อ กกต. แต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไม่อนุญาตให้ผู้ชุมนุมเข้ามาในตัวอาคาร ทำให้ผู้ชุมนุมไม่พอใจ
จากนั้นนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.ได้ลงมารับหนังสือด้วยตนเอง โดยนายนิติธรกล่าวว่า เนื่องจากเห็นว่าที่ผ่านมาการเลือกตั้งเป็นเพียงฉากหนึ่งที่ทำให้เสมือนว่าประเทศมีประชาธิปไตย แต่จริงๆ ไม่ใช่ ดังนั้นจึงเห็นว่าจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปฏิรูปเสียก่อน การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจว่าการเลือกตั้ง 2 เม.ย.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กกต.ต้องคิดว่าการจะจัดให้มีการเลือกตั้งโดยที่ยังไม่มีการปฏิรูปนั้นจะสามารถทำให้ได้การเลือกตั้งที่สุจริต เที่ยงธรรม และเท่าเทียมหรือไม่ ถ้าคิดว่าไม่สามารถให้เกิด 3 หลักสำคัญนี้ได้แล้วก็ควรต้องยุติความคิดจัดการเลือกตั้ง เพราะถ้ายังเดินหน้าต่อก็จะเท่ากับ กกต.ทำลายการปกครองของประเทศนี้
“กกต.ต้องกล้าที่จะยืนยันว่าสถานการณ์ขณะนี้เป็นเผด็จการ เป็นทรราชยิ่งลักษณ์ ไม่เอื้ออำนวยต่อการจัดการเลือกตั้ง จึงต้องยุติการจัดการเลือกตั้ง แล้วปฏิรูปบ้านเมืองเสียก่อนให้เสร็จเสียก่อน แต่ถ้าปฏิรูปเสร็จสิ้นแล้ว กกต.ยังไม่สามารถจัดเลือกตั้งให้สุจริต เที่ยงธรรม เท่าเทียม กกต.ก็ต้องพิจาณาตัวเองลาออก” นายนิติธรกล่าว และระบุว่าหาก กกต.จะเดินหน้าจัดการเลือกตั้งโดยไม่รอการปฏิรูปบ้านเมืองเสียก่อน ก็จะเดินทางมากดดัน กกต.อีกครั้งในวันที่ กกต.เชิญประชุมพรรคการเมืองเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งที่เหมาะสม
ด้านนายภุชงค์กล่าวว่า ขณะนี้ทางสำนักงาน กกต.ยังไม่ได้รับคำวินิจฉัยกลางอย่างเป็นทางการของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่วินิจฉัยว่าการเลือกตั้ง 2 ก.พ.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ได้นำคำวินิจฉัยกลางอย่างไม่เป็นทางการมาพิจารณาในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับข้อกฎหมายในหลายประเด็นด้วยกัน เพื่อเตรียมความพร้อม ทั้งในส่วนของการดำเนินการของ กกต.ซึ่งถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และขณะนี้สังคมก็มีการเข้าใจว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะทั้งระบบ แต่ในความเป็นจริงแล้วที่ปรึกษากฎหมายของ กกต.มองว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ชี้ว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะทั้งระบบ แต่ชี้ว่าการเลือกตั้ง 2 ก.พ.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งประเด็นเหล่านี้เราจะนำเสนอที่ประชุม กกต.เพื่อพิจารณาด้วย แต่ทั้งนี้ก็คงต้องรอดูคำวินิจฉัยกลางอย่างเป็นทางการอีกครั้ง คาดทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญน่าจะส่งคำวินิจฉัยกลางอย่างเป็นทางการมาถึงสำนักงาน กกต.ได้ภายในวันพรุ่งนี้ (28 ก.พ.) อย่างไรก็ตาม หากคำวินิจฉัยกลางอย่างเป็นทางการมาถึงแล้ว ขั้นตอนต่อไปทางสำนักงาน กกต.ต้องมาสังเคราะห์อีกรอบ คาดว่าน่าจะนำเข้าที่ประชุม กกต.ได้ภายในสัปดาห์หน้า