xs
xsm
sm
md
lg

“องอาจ” ชี้ 4 สัญญาณรุกรุนแรง แนะ 4 ข้อแก้ปมชาติ “จุฤทธิ์” สับ “อ๋อย” ลืมทำงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
รองหัวหน้าประชาธิปัตย์ จวกคาร์บอมบ์โผล่เวทีแจ้งวัฒนะมุ่งทำลายม็อบ ทำชาติเสียหายหนัก เชื่อรุนแรงขึ้น ซัดรัฐไม่เอาจริงหาคนทำ ชี้ 4 ประการสัญญาณความรุนแรง แนะ 4 ข้อแก้วิกฤตชาติ ด้าน “จุฤทธิ์” สับ “จาตุรนต์” มุ่งการเมืองไม่แก้การศึกษา





วันนี้ (23 มี.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกับกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.ที่พัฒนาไปถึงขั้นการใช้คาร์บอมบริเวณสถานที่ชุมนุมแจ้งวัฒนะว่า เป็นการพัฒนาจากอาวุธเบาไปสู่อาวุธหนัก อาวุธสงคราม กระทั่งถึงคาร์บอมบ์ โดยความรุนแรงล้วนแต่มุ่งประสงค์ต่อผู้ที่ดำเนินการให้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. คปท.และกลุ่มอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการกระทำความรุนแรงกับองค์กรศาลและองค์กรอิสระที่กำลังพิจารณาคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แม้ว่าจะระบุไม่ได้ว่าเกิดจากการกระทำของฝ่ายใด แต่น่าสงสัยว่าเป็นการกระทำต่อฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลหรือองค์กรที่กำลังตรวจสอบนายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาลเป็นหลัก และผลความรุนแรงไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ชุมนุมและองค์กรอิสระเท่านั้น แต่เกิดความเสียหายกับชาติอย่างประเมินค่าไม่ได้ โดยเฉพาะกรณีคาร์บอมบ์สร้างความเสียหาย ความหวาดวิตกกับนานาชาติเป็นอย่างยิ่ง

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เชื่อว่า ความรุนแรงจะพัฒนามากขึ้นทั้งรูปแบบและวิธีการ แต่กลับไม่มีความเอาจริงเอาจังจากรัฐบาลในการหาคนผิดมาลงโทษ ดังนั้นจึงขอเรียกร้องว่านายกฯไม่ควรปล่อยปละละเลยให้เกิดความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อมีคาร์บอมบ์ที่แจ้งวัฒนะอาจจะมีเกิดอีกในหลายจุดบริเวณพื้นที่ กทม.หรือจังหวัดอื่น หากนายกฯยังไม่รีบตัดไฟแต่ต้นลมในการดำเนินการกับผู้ใช้ความรุนแรง ก็คิดว่าจะมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จึงขอให้นายกฯดำเนินการอย่างจริงจังด้วยเพื่อไม่ให้เกิดคาร์บอมบ์อีกในอนาคต

“กรณีที่ ป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาหลายคดีที่เกี่ยวข้องกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และรัฐบาลว่า ยิ่งมีคดีมากเท่าไหร่ สัญญาณความรุนแรงและความเผชิญหน้ามีมากขึ้นตามลำดับ โดยเห็นว่ามี 4 ประการคือ 1.ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบและทุกวธีการในการข่มขู่ศาลรัฐธรรมนูญ และ ป.ป.ช.หนักหน่วงมากขึ้น ทั้งกรณีระเบิดใกล้บ้านนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นตัวอย่างความรุนแรงที่เกิดจากการตรวจสอบรัฐบาล 2.สร้างความรุนแรงในลักษณะก่อให้เกิดความเกลียดชังในกลุ่มคนสนับสนุนรัฐบาล มีขบวนการดิสเครดิตองค์กรอิสระและศาล ทั้งจากคนที่เป็นแกนนำในรัฐบาลในลักษณะเปิดเผยแบบบนดินและใต้ดินในโลกโซเชียลมีเดีย ก่อให้เกิดความเกลียดชังควบคู่กับปลุกระดมให้เกิดการใช้ความรุนแรงต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญและ ป.ป.ช. 3.มีการประกาศสะสมอาวุธสู้กับทหาร โดยมีการใช้คำพูดที่สะท้อนนัยยะว่าจะใช้ความรุนแรง ยืมเงินธนาคาร บุกปั๊มน้ำมัน ยึดรถประชาชนที่ติดธงชาติ หลังจากที่องค์กรอิสระตัดสินคดีที่ส่งผลกระทบต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ จนทำให้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ และ 4.การนัดรวมพลครั้งใหญ่ของคนเสื้อแดงที่อาจบุกเข้า กทม.ซึ่ง กปปส.ชุมนุมอยู่ที่สวนลุมพินีและจะเคลื่อนไหวใหญ่ในวันที่ 29 มี.ค.อีกครั้ง ทั้งหมดชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์บ้านเมืองมีแนวโน้มมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น” นายองอาจ กล่าว

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาระงับยับยั้งไม่ให้มีการส่งสัญญาณที่จะนำไปสู่ความรุนแรงในบ้านเมือง แต่นายกฯและรัฐมนตรีในรัฐบาลรวมทั้งตำรวจซึ่งมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยกลับไม่มีท่าทีใดๆ ในการส่งสัญญาณว่าพร้อมที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง นอกจากนั้น การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงล้วนแต่เป็นกลุ่มบุคคลที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับรัฐบาลหรือ เป็นมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาลทั้งสิ้น การที่รัฐบาลปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการใดๆ นั้น ทำให้มองได้ว่า นายกฯต้องการให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในบ้านเมืองใช่หรือไม่ จึงไม่มีการระงับยับยั้ง ดังนั้นหากความรุนแรงเพิ่มขึ้นนางสาวยิ่งลักษณ์จะต้องรับผิดชอบต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น และจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกรรมจากการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมในฐานะที่ปล่อยปละละเลยให้เกิดความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จึงหวังว่าเมื่อนายกฯเห็นสัญญาณว่าจะรุนแรงมากขึ้นจะเห็นแก่ประโยชน์ของบ้านเมือง โดยเข้ามาดำเนินการเพื่อให้สถานการณ์ความรุนแรงไม่เพิ่มขึ้น

นายองอาจ กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่าการเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 เป็นโมฆะว่า จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยทุกฝ่ายในสังคมอยากเห็นการเลือกตั้งที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่ล้มเหลวเป็นโมฆะเหมือนที่เกิดขึ้นกับการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.57 ดังนั้น เมื่อ กกต.ได้รับคำวินิจฉัยฉบับสมบูรณ์ควรเริ่มดำเนินการให้การเลือกตั้งครั้งใหม่เป็นการเลือกตั้งที่จะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย สามารถก่อให้เกิดผลในการแก้วิกฤตประเทศได้ สิ่งที่ควรดำเนินการคือ 1.ควรมีกระบวนการพูดคุยจากผู้มีส่วนเกี่่ยวข้องในการทำให้การเลือกตั้งสำเร็จลุล่วงได้ดังเป้าหมายที่ทุกคนปรารถนา โดยรูปแบบและวิธีการที่สำคัญคือ รัฐบาล และ กกต.ต้องคุยกันก่อนเพื่อร่วมกันตัดสินใจให้กระบวนการพูดคุยเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายสามารถเกิดขึ้นได้ 2.การพูดคุยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการคุยกันระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.ผู้ชุมนุมคัดค้านการเลือกตั้ง เพราะต้องการให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง โดยคิดว่าการพูดคุยดังกล่าว ซึ่งจะทำให้โอกาสในการหาจุดร่วมกันมีหวังมากขึ้น

3.รัฐบาลมีอำนาจสูงสุดในบ้านเมืองจำเป็นต้องมีส่วนในการพิจารณาแก้ปมข้อเรียกร้องของ กปปส.ถ้าไม่เสียสละอำนาจของตัวเองลงบ้างการขึงพืดเผชิญหน้าจะไม่สามารถยุติลงได้ ทำให้โอกาสในการเลือกตั้งครั้งใหม่ไม่สามารถเกิดได้โดยง่าย ดังนั้นรัฐบาลต้องแก้ปมโดยเริ่มต้นจากการสละอำนาจบางส่วนด้วยการปรับท่าทีเข้ามาแก้ปมข้อเรียกร้องของ กปปส.และ 4.การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นไม่ควรรีบร้อน เร่งรัด เพียงเพื่อให้มีการกำหนดวันเลือกตั้งเกิดขึ้นเท่านั้น แต่ควรมีเวลาพอสมควรให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยสามารถดำเนินการได้ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ระบุถึงกรอบเวลาการกำหนดวันเลือกตั้งให้ยึดบรรทัดฐานศาลรัฐธรรมนูญในปี 2549 ซึ่งไม่ได้อยู่ในกรอบเวลา 45 หรือ 60 วันแต่อย่างใด แต่มีการกำหนดวันเลือกตั้งหลังจากนั้นประมาณ 6 เดือน เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

“หากรัฐบาลดำเนินการตามข้อเรียกร้องทั้ง 4 ข้อ จะทำให้การเลือกตั้งได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย และจะต้องเริ่มต้นจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ และรัฐบาลเสียสละอำนาจบางส่วนให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้ ไม่ใช่ยึดอำนาจไว้กับตัวเองในขณะที่ปัญหาบ้านเมืองเพิ่มมากขึ้นจะไม่สามารถนำชาติเข้าสู่ภาวะปกติได้ จึงหวังว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะพิจารณาบนพื้นฐานประโยชน์ชาติไม่ใช่เอาชนะบนซากปรักหักพังของบ้านเมือง ซึ่งสุดท้ายจะไม่มีใครชนะเลย”

ด้าน นายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฏ์ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งเพื่อให้ได้รัฐบาลที่เคารพกฎหมาย เป็นคำตอบของประเทศไทย โดยในขณะนี้พรรคเพื่อไทยเรียกร้องแต่การเลือกตั้งเพื่อรองรับสถานะรัฐบาลเท่านั้น โดยเฉพาะนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ ที่ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กในเรื่องการเมืองแต่ไม่ยอมแก้ปัญหาในกระทรวงศึกษาธิการ เช่น กรณีการจัดซื้อจัดจ้างแท็บเล็ตว่าบริษัทผีที่เข้ามาเป็นใคร เกี่ยวข้องกับคนที่ไม่มีแผ่นดินอยู่หรือไม่ จึงขอให้นายจาตุรนต์ตอบคำถามเหล่านี้ก่อนที่จะมาถามหาการเลือกตั้งที่เป็นธรรม

พร้อมกันนี้ นายจุฤทธิ์ ยังแต่งกลอนย้อนศรนายจาตุรนต์ว่า “เมื่อรัฐบาลเอาแต่ทำผิดกฎ คิดไปหมดซ้ำซาก หลากหลายเรื่อง แม้ห่้ามปราม บอกกล่าว ก็เปล่าเปลือง ห่วงแต่ว่า บ้านเมือง จะย่อยยับ รัฐบาล ไม่ฟังใคร ต่อไปแล้ว ไม่มีแม้ วี่แวว จะถอยกลับ ชาติสูญเสีย เกินกว่า คณานับ พาย่อยยับ ประชาชน ทนรับกรรม” โดยเห็นว่านายจาตุรนต์ต้องคำนึงถึงความจริงเหล่านี้ด้วยไม่ใช่แต่งกลอนตำหนิองค์กรอิสระเพียงอย่างเดียว

รองโฆษกพรรคยังตั้งคำถามถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าจะรักษาประชาธิปไตยอย่างไร ความหมายของประชาธิปไตยคือลงคะแนนแล้วจบประชาชนห้ามถาม ห้ามคัดค้าน ฝ่ายค้านห้ามตรวจสอบ แม้เสียงข้างมากจะทำผิดรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ เป็นเรื่องที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องตอบ ที่สำคัญคืองบประมาณปี 2557 กว่า 2 ล้านล้านบาท มีการใช้งบประมาณแม้ว่าจะเป็นรัฐบาลรักษาการ นี่คือการรักษาประชาธิปไตยเพื่อขอใช้งบประมาณโดยไม่มีการตรวจสอบใช่หรือไม่ และขอตั้งคำถามว่าจะรักษาประชาธิปไตยทำไมเวลามีสภาหนีสภาแต่พอไม่มีสภาอ้างว่าจะรักษาประชาธิปไตยโดยที่ไม่มีสภาตรวจสอบ


กำลังโหลดความคิดเห็น