“พล.ต.วราห์” ยันทหารยังคงกำลัง ตั้งจุดตรวจความมั่นคง 176 จุดเหมือนเดิม แม้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่พร้อมปรับลดจุดตรวจหากได้ข้อสรุปจาก ศรส. ด้านกองทัพบกโต้ “จตุพร” มั่วข้อมูลหวังทำลายกองทัพ กล่าวหาทหารทำบัญชีผีรับเบี้ยเลี้ยงปฏิบัติหน้าที่ดูแลความปลอดภัย ยันมีบันทึกกรายชื่อเป็นหลักฐานชัด ตรวจสอบได้ ส่วนอัตราเบี้ยเลี้ยงเป็นไปตามระเบียบราชการ
พล.ต.วราห์ บุญญะสิทธิ์ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.1 รอ.)ในฐานะผู้บัญชาการกำลังทหาร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่รัฐบาลจะมีการปรับลดจุดตรวจความมั่นคง ภายหลังจากที่มีการประกาศยกเลิก พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) มาใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (พ.ร.บ.ความมั่นคง) ว่า เบื้องต้นทหารยังคงปฏิบัติหน้าที่และตั้งจุดตรวจความมั่นคงเหมือนเดิม ไม่ได้มีการปรับลดหรือเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ยังคงมีจุดตรวจ 176 จุด แต่มีการปรับรูปแบบให้มีความกระชับ รัดกุมเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
ส่วนที่ทางศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ (ศรส.) กำลังพิจารณาปรับลดจุดตรวจความมั่นคงทหารนั้น คงต้องรอให้ได้ข้อสรุปจาก ศรส.ที่ชัดเจนเสียก่อน โดยในส่วนของความมั่นคงก็ต้องไปประชุมหารือกัน อย่างไรก็ตามในส่วนของทหารเราไม่มีปัญหาและพร้อมจะดำเนินการตาม ศรส.
ด้าน พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในแห่งราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวว่า ทหารยังคงกำลังในการดูแลสถานการณ์การชุมนุมต่อไป แต่อาจจะปรับเปลี่ยนการทำงานต่างๆ ขึ้นอยู่กับผู้เกี่ยวข้อจะพิจารณา
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะรอง ผอ.กอ.รมน.ฝากให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยกรอบการทำงานของ กอ.รมน.ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง เป็นไปตามขั้นตอนที่ต้องเห็นชอบโครงสร้างและหลักการตามแผนปฏิบัติต่างๆ ขณะที่การใช้กำลังทหารยังอยู่ในฐานะผู้ช่วยเจ้าพนักงาน สนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยใช้กำลังทหารรวม 56 กองร้อย แบ่งเป็น กองทัพบก 47 กองร้อย กองทัพเรือ 7 กองร้อย พร้อมสารวัตรทหาร กองทัพอากาศ 2 กองร้อยพร้อมสารวัตรทหาร
ด้าน พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก กล่าวชี้แจงกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง อ้างว่ามีทหารผีที่มีชื่อแต่ไม่มีตัวตนออกมาปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย แต่กลับมีการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยได้รับเบี้ยเลี้ยงวันละ 700 บาท ซึ่งมากกว่าทหารที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เรื่องดังกล่าวป็นการสงสัยเชิงกล่าวหา กองทัพบกยืนยันว่าเรื่องอัตราเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวเป็นไปตามระเบียบราชการ ทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน ภายใต้บัญชีกำลังของศูนย์รักษาความสงบที่จะได้รับในอัตราเดียวกันทั้งหมด โดยมีรัฐบาลเป็นผู้อนุมัติ
สำหรับทหารขอยืนยันว่าจำนวนยอดในการเบิกก็ตรงตามจำนวนของผู้ปฏิบัติงานจริง โดยในภาพรวม เจ้าหน้าที่ของ ศรส.ทั้งหมดคงมีกำลังอยู่หลายหมื่นนาย แต่ในส่วนทหารจะมียอดสัดส่วนอยู่เพียง 1 ใน 5 ของกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งหมด ซึ่งได้รับมอบหมายในภารกิจดูแลสถานที่สำคัญกับภารกิจดูแลเฝ้าระวัง และการบริการประชาชนในรูปแบบของจุดตรวจ จุดตรวจร่วม และจุดให้บริการต่างๆ ซึ่งสังคมสามารถสัมผัสเห็นได้ในเชิงประจักษ์อยู่แล้วว่ากำลังทหาร ที่ปฏิบัติอยู่มียอดจำนวนตรงกับปริมาณงานภารกิจที่ได้รับ มีบันทึกเป็นหลักฐานตรวจสอบได้
“ผู้ที่กล่าวถึงอาจได้รับข้อมูลคลาดเคลื่อนจากผู้ไม่หวังดีที่พยายามสร้างความแตกแยก หรืออาจพยายามทำลายกองทัพ เพราะการเสนอข้อมูลลักษณะนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีผลกระทบองค์กร ไม่อยากให้ประเมินหรือมองสิ่งต่างๆ โดยอาศัยเพียงทัศนคติส่วนบุคคลเพียงอย่างเดียว อยากขอให้ทุกฝ่ายลดการพูดจากล่าวหาให้ร้ายผู้บังคับบัญชาและกองทัพโดยปราศจากหลักฐาน หรือได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ในช่วงนี้ข้อมูลด้านการข่าวพบว่าสังคมขัดแย้งมากขึ้น จึงไม่อยากให้ทุกพวกทุกฝ่ายใช้ความรุนแรงมาต่อสู้กัน ไม่ว่าจะเป็นในทางลับ ทางเปิดเผย หรือโดยในทางวาจา หรือโดยในทางปฏิบัติก็ดี อยากให้ทุกพวกทุกฝ่ายได้คำนึงถึงประเทศชาติด้วยในฐานะที่เป็นคนไทยด้วยกัน”
พ.อ.วินธัยกล่าวว่า สำหรับเรื่องการตั้งบังเกอร์ภายหลังจากที่มีการประกาศยกเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็น พ.ร.บ.ความมั่นคง ขณะนี้ทางทหารยังคงตั้งจุดตรวจร่วมบริการประชาชน หรือบังเกอร์ จำนวน 176 จุดตามเดิม เนื่องจากการดูแลรักษาความปลอดภัยและเฝ้าระวังเหตุต่างๆ ยังคงเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจตามปกติ ซึ่งการปรับหรือลดบังเกอร์นั้นต้องพิจารณาตามสถานการณ์ ในเรื่องของบังเกอร์ที่ผ่านมาก็ได้พยายามปรับรูปแบบให้มีความกลมกลืนกับสถานที่นั้นๆ บางส่วนย้ายไปอยู่ในจุดที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคง ยังคงต้องมีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเฝ้าระวังรักษาความปลอดภัยเหมือนเดิม