กุ๊ยแดง กวป.ยังคาใจ ยื่นผู้ตรวจฯ สอบ 6 ป.ป.ช.ไม่ได้รับโปรดเกล้าฯ ขอให้ชงต่อศาลฏีกา และเสนอวุฒิฯ ถอดถอน พร้อมให้สอบทรัพย์สิน ลั่นให้เวลา 7 วัน อ้าง ปชช.ข้องใจทำหน้าที่ ต้องปกป้องสิทธิตามที่เสียภาษี บี้ยุติหน้าที่ ย้อนถามศาลฎีกา กม.ข้อไหนรับรอง ป.ป.ช.ไม่ได้โปรดเกล้าฯ บี้ผู้ตรวจฯ เคลียร์ชงเลือกตั้งโมฆะ เป็นจริงใครรับผิดชอบผลาญงบทิ้ง
วันนี้ (11 มี.ค.) นายศรรักษ์ มาลัยทอง แกนนำกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ กวป. เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย รองเลขาธิการและโฆษกผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายในการดำรงตำแหน่งประธานและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. รวม 6 คน ประกอบด้วย นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช., นายวิชา มหาคุณ, นายใจเด็ด พรไชยา, นายประสาท พงษ์ศิวาภัย, นายภักดี โพธิศิริ และนายวิชัย วิวิตเสวี ว่าหากบุคคลดังกล่าวไม่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 246 แล้วยังไม่มีอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และขอให้นำเรื่องส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเสนอวุฒิสภาเพื่อถอดถอนบุคคล ตามมาตรา 274 รวมทั้งขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลทั้ง 6 ภายหลังกรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 6 คนอ้างว่าได้ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว ดังนั้นจึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินให้คำตอบต่อสาธารณะชนภายใน 7 วัน
โดยนายศรรักษ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาประชนมีความเคลือบแคลงสงสัยในการทำหน้าที่ของกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 6 คนที่ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่กรรมการ 3 คน ได้รับการโปรดเกล้าฯ และการยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินที่อ้างว่าได้ยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินด้วย ก่อนที่จะยื่นต่อประธานวุฒิสภา ซึ่งในฐานะเป็นประชาชนผู้เสียภาษี จึงต้องมาปกป้องรักษาสิทธิในภาษีของตนเอง ตรวจสอบการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. เพราะแม้ ป.ป.ช.จะอ้างว่ามีคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยประเด็นนี้เอาไว้ ตนก็อยากจะถามศาลฯ เช่นกันว่าอ้างกฎหมายข้อไหน และกฎหมายข้อไหนให้ ป.ป.ช.ที่ไม่ได้รับโปรดเกล้าทำหน้าที่ได้ และขอให้กรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 6 คนแสดงความบริสุทธิ์ใจออกมา โดยการยุติการทำหน้าที่และออกมายอมรับกับประชาชนว่าไม่มีอำนาจในการปฏิบัติงานทันที
นอกจากนี้ นายศรรักษ์ยังกล่าวด้วยว่า ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้แจ้งเกี่ยวกับมติของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 เป็นโมฆะ ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ แล้วใครหรือหน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับความเสียหาย และงบประมาณที่ใช้ในการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน