อดีตประธานวุฒิฯ ยุค “สภาทาส” อ้างรองประธาน ส.ว.ชงนายกฯ คนกลางทำไม่ได้ อ้าง รธน.ชัดต้องมาจาก ส.ส. เตือนทำได้แค่แทนประธานในที่ประชุม ยันยังไม่เข้าข่ายมาตรา 7 เตือนเป็นมติวุฒิฯ ผิดกฎหมาย โวสากลต้องเลือกตั้ง ยกเว้นแต่ไทยอยากมีระบอบใหม่ ดักคอศาล รธน.วินิจฉัยหมดสภาพรักษาการไม่ได้ หนุน “นิคม" นั่งเก้าอี้ต่อ ชี้สถานภาพ “ยิ่งลักษณ์” หมด 2 เม.ย.แค่คิดไปเอง
วันนี้ (10 มี.ค.) นายสุชน ชาลีเครือ อดีตประธานวุฒิสภาและผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย แสดงความเห็นต่อข้อเสนอที่จะให้รองประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ประธานวุฒิสภาเพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีคนกลาง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7 ว่า ตนเห็นว่าเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 117 กำหนดไว้ชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. ซึ่งในอดีตเมื่อปี 2549 ตนเคยทำหน้าที่รักษาการประธานวุฒิสภามา เกือบ 7 เดือนเพราะ ส.ว.ครบวาระลง โดยช่วงนั้นก็มีการยุบสภาและมีการเลือกตั้ง ส.ส.แต่ยังไม่ประกาศผล ทั้งนี้ มีกลุ่มบุคคลชั้นสูงมาเสนอให้แต่งตั้งนายกฯ มาตรา 7 แต่ตนก็ไม่ได้นำความกราบบังคมทูลฯแต่อย่างใด เนื่องจากขัดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ดังนั้น ประธานวุฒิสภารักษาการจะทำหน้าที่ได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 ที่ระบุไว้เท่านั้น คือพิจารณาเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ แต่งตั้ง ถอดถอนบุคคลตามองค์กรรัฐธรรมนูญ การประกาศสงคราม จะทำนอกเหนือจากนี้ไมได้
นายสุชนกล่าวต่อว่า ในทำนองเดียวกันรองประธานวุฒิสภาต้องทำตามมาตรา 124 ทำหน้าที่แทนประธานในที่ประชุมวุฒิสภากรณีที่ประธานวุฒิสภาไม่อยู่ แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้ทำหน้าที่รักษาการแทนประธานวุฒิสภาได้ ทั้งนี้ได้หารือกับอดีตประธานวุฒิสภาหลายท่านก็เห็นว่ากรณีนี้ไม่ใช่เข้าข่ายมาตรา 7 เพราะฉะนั้นการแต่งตั้งนายกฯ ที่ไม่ได้เป็น ส.ส.จะกระทำไม่ได้ และถ้าออกเป็นมติของวุฒิสภาก็จะยิ่งผิดกฎหมาย ที่ให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลฯ ขึ้นจะถูกฟ้องร้องถึงขั้นติดคุกได้
“ฉะนั้นตามหลักสากลทั่วโลกต้องมีการเลือกตั้ง แม้แต่ประเทศที่มีสงคราม แตกแยกกันก็ยังจบลงด้วยการเลือกตั้ง ถ้าได้รัฐบาลไม่ดีก็ต้องเลือกตั้งกันใหม่ จึงจะจบลงด้วยประชาธิปไตย ยกเว้นประเทศไทยคิดอยากจะมีระบอบการปกครองใหม่ แต่ตนเป็นคนหนึ่งที่ไม่ยอมเรื่องนี้ เช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่” นายสุชนกล่าว
เมื่อถามว่า กลุ่ม ส.ว.สรรหาจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยการหมดสภาพรักษาการของประธานวุฒิสภา นายสุชนกล่าวว่า เป็นความคิดเห็นของบุคคล จะส่งตีความอย่างไรก็ทำได้ แต่กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถนำไปวินิจฉัยได้ อย่างไรก็ตาม ขอให้ประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ตามกฎหมายต่อไปเพราะทำนอกเหนือจากกฎหมายไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าใครคิดจะเสนอนายกฯ คนกลางก็ให้แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 171 หากใครอยากได้อย่างนั้นก็ต้องปฏิวัติรัฐประหารกันเอาเอง ดังนั้นขอให้ทุกคนกลับเดินตามครรลองของกฎหมายจะดีกว่าไม่อยากเห็นประเทศแตกแยกต่อไป บ้านเมืองจะได้เดินหน้าได้
ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ส่วนรัฐบาลรักษาการก็ทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ต่อไป ถ้านายกฯรักษาการไม่ได้ก็ให้รองนายกฯ ขึ้นมาทำหน้าที่รักษาการแทนต่อไป เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกใหม่อะไร แต่เป็นไปตามมาตรา 7 ประเพณีที่มีมา ส่วนที่หลายฝ่ายออกมาระบุว่าการทำหน้าที่ของนายกฯ รักษาการจะสิ้นสุดลงในวันที่ 2 เม.ย. 57นั้นว่า เป็นการคิดกันเอาเอง เพราะเปิดประชุมสภาและเสนอชื่อนายกฯ ไม่ได้ตามมาตรา 172 ที่ครบกำหนดภายใน 60 วันคือ 2 เม.ย. 57 แต่หลังจากนั้นรัฐธรรมนูญก็ยังระบุว่าถ้ายังไม่ได้ชื่อนายกฯ ก็ให้เวลาอีก 180 วัน แต่ถ้ายังไม่ได้อีกก็ต้องว่ากันอีกครั้ง