xs
xsm
sm
md
lg

กรุงเทพโพลล์ เผย ปชช.ส่วนใหญ่ไม่รู้หน้าที่ ส.ว.เกินครึ่งพร้อมใช้สิทธิ เชื่อไร้ปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โพล ม.กรุงเทพ เรื่องเลือก ส.ว.ส่วนใหญ่ทราบ 30 มี.ค.เลือกตั้ง ส.ว.เกินครึ่งออกไปสิทธิ แต่ส่วนมากไม่รู้ถึงหน้าที่ ส.ว.มองผู้สมัครมีนักการเมืองหนุนหลัง คิดว่าไม่มีปัญหาแบบเลือก ส.ส.รับปัญหาการเมืองส่งผลไม่อยากไปใช้สิทธิ พร้อมเลือกคนจากความสามารถ ชื่อเสียง พีอาร์ รองมา

วันนี้ (9 มี.ค.) ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “คนไทยกับการเลือกตั้ง ส.ว.ปี 57” เนื่องด้วยวันที่ 30 มีนาคมที่จะถึงนี้ เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา แทนวุฒิสมาชิก (แบบเลือกตั้ง) ชุดปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระลง ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) จึงทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 1,090 คน พบว่า

เมื่อถามว่าการรับทราบถึงการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ที่จะมีขึ้นในวันที่ 30 มีนาคม 2557 ร้อยละ 63.0 ระบุว่า ทราบ ร้อยละ 37.0 ระบุว่า ไม่ทราบ ต่อคำถามว่าความเห็นต่อการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งนี้ ร้อยละ 55.9 เผยว่า ตั้งใจออกไปใช้สิทธิแน่นอน ร้อยละ 18.8 เผยว่า คงไม่ออกไปใช้สิทธิ เพราะติดธุระ และร้อยละ 25.3 เผยว่ายังไม่แน่ใจ

ส่วนคำถามว่าการรับรู้ของประชาชนต่อหน้าที่หลักของสมาชิกวุฒิสภา ร้อยละ 35.7 เผยว่า ทราบ (โดยระบุว่า ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ตรวจสอบการใช้งบประมาณของแผ่นดิน เป็นต้น) ร้อยละ 64.3 เผยว่าไม่ทราบ

ด้านคำถามว่า ความเห็นต่อผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา ที่ลงเลือกตั้งในรอบนี้ ว่ามีนักการเมืองหรือพรรคการเมืองหนุนหลังอยู่หรือไม่ ร้อยละ 53.8 มองว่า มี ร้อยละ 10.5 มองว่า ไม่มี และร้อยละ 35.7 ระบุว่า ไม่แน่ใจ และต่อคำถามว่า จากปัญหาการเมืองที่เป็นอยู่ในขณะนี้ส่งผลทำให้เบื่อการออกไปเลือกตั้ง ส.ว.ในครั้งนี้หรือไม่ ร้อยละ 57.5 คิดว่าส่งผลทำให้เบื่อ ร้อยละ 42.5 คิดว่าไม่เบื่อ ไม่ส่งผล

ขณะที่ความเห็นต่อการเลือกตั้ง ส.ว.ในครั้งนี้ ว่าจะมีปัญหาเหมือนการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา หรือไม่ ร้อยละ 48.8 เห็นว่าคงไม่มี ร้อยละ 29.5 เห็นว่าน่าจะมี และร้อยละ 21.7 ระบุว่าไม่แน่ใจ

ทั้งนี้ เมื่อถามว่าเกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินใจเลือกบุคคลที่สมัครเป็น ส.ว.ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ร้อยละ 73.9 มองว่าดูจากความรู้ความสามารถ และผลงานที่ผ่านมา ร้อยละ 6.8 มองว่าดูจากชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักในสังคม ร้อยละ 6.8 มองว่าการประชาสัมพันธ์ตัวเองให้สังคมได้รับรู้ ร้อยละ 4.0 มองว่า เลือกคนที่มีความเกี่ยวโยงกับพรรคการเมือง หรือ นักการเมืองที่ชอบ และร้อยละ 8.5 ระบุว่าอื่นๆ อาทิ ดูจากบุคลิกภาพ ไม่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง เป็นคนดี ฯลฯ


กำลังโหลดความคิดเห็น