หน.ทีม กม.ปชป.น้อมรับศาล รธน.วินิจฉัยเลือกตั้งไม่เข้าข่ายล้มการปกครอง ม.68 แม้มองรัฐจงใจทำผิด เตือนทำซ้ำยื่นข้อมูลร้องใหม่ จ่อชง ปมเห็นผลลัพธ์ไร้ รบ.ใหม่ แต่ดึงดันเดินหน้ารักษาอำนาจรักษาการ ทำผิด กม.เลือกตั้งหลายมาตรา มั่นใจโมฆะ ไม่ต่างปี 49 เหตุ ไม่เสมอภาค ไม่เป็นความลับ รอ กกต.ไต่สวนเลือกตั้งโมฆะเห็นชอบพร้อมส่งศาล ชม กกต.ชุดนี้กล้าหาญ แนะทำให้บ้านเมืองเดินได้
วันนี้ (13 ก.พ.) นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ยกคำร้องว่าการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 ไม่ได้เข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญว่า คณะทำงานกฎหมายส่งเรื่องนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นช่วงยุบสภา รัฐบาลต้องอยู่ภายใต้บังคับรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (4) ไม่ใช้ทรัพยากรบุคลากรของรัฐให้มีผลต่อการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลรักษาการไปเรื่อยๆ ทั้งที่รู้ว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่สามารถที่จะได้รัฐบาลใหม่ได้ รวมถึงการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกคำสั่งปิดสื่อแต่เปิดโอกาสให้ทีวีของรัฐบาลโฆษณาชวนเชื่อ จนทำให้เกิดการเลือกตั้งที่ไม่สุจริต เที่ยงธรรม ประชาชนเข้าใจผิดในความนิยมของพรรคการเมือง จึงถือเป็นความพยายามที่จะให้ได้อำนาจมาซึ่งวิธีการที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อศาลเห็นว่าไม่เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ตนก็เคารพคำวินิจฉัยเพราะเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้หากรัฐบาลยังทำซ้ำตนจะยื่นข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อร้องใหม่อีกครั้ง
“ก่อนหน้านี้ยื่นต่อ กกต.ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะมีการไต่สวนผมมาแล้ว 15 วัน กระบวนการต่อจากนี้จะมีการสรุปเสนอ กกต.ทั้ง 5 คน หาก กกต.เห็นชอบก็จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยผมคิดว่า กกต.ชุดนี้มีความกล้าหาญกว่าทุกชุด จึงขอเรียนไปยัง กกต.ที่เคยส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่อง สามารถออกพระราชกฤษฎีการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้หรือไม่นั้นความจริงควรหยิบประเด็นเรื่องเป็นโมฆะไปด้วย บ้านเมืองก็เดินได้ แต่ กกต.ขอความเห็นศาลแค่ว่าลงคะแนนใหม่ หรือกำหนดวันเลือกตั้งใหม่เท่านั้น และขอย้ำว่า ไม่มีองค์กรใดยืนยันว่าการเลือกตั้งสมบูรณ์แล้ว ตรงกันข้าม สิ่งที่เกิดขึ้นขัดต่อรัฐธรรมนูญชัดเจน ในลักษณะเดียวกับคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งปี 2549 เป็นโมฆะ” นายวิรัตน์กล่าว
นายวิรัตน์กล่าวว่า การยกคำร้องดังกล่าวเป็นคนละประเด็นกับเรื่อง การเลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะหรือไม่ เพราะศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นนี้ ซึ่งมีกระบวนการที่ขัดกฎหมายหลายประเด็น ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 30 ไม่เสมอภาค เพราะเลือกตั้งล่วงหน้าไม่ได้หายไปสองล้านคะแนน นอกจากนี้การเลือกตั้งต้องตรงและลับแต่ตอนนี้ไม่ลับ แม้ กกต.ไม่ประกาศผลเป็นทางการแต่มีการรายงานผลไปทั่วประเทศยกเว้น 28 เขตที่ไม่มีผู้สมัครเท่านั้น จึงไม่เป็นความลับมีผลต่อการจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า 2 ล้าน และอีก 28 เขต รวมเกือบ 10 ล้านคนที่จะลงคะแนนในวันข้างหน้า ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโมฆะในปี 2549 เพราะไม่เสมอภาคและไม่เป็นความลับ
“ปัญหาของรัฐบาลที่จะตามมา คือ ไม่สามารถเรียกประชุมสภาฯ ภายใน 30 วันตามมาตรา 127 ตั้งนายกฯ ไม่ได้ จะเป็นส่วนหนึ่งในข้อมูลที่จะใช้ยื่นเพิ่มเติมประกอบพฤติกรรมว่ารัฐบาลจงใจที่จะใช้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 เป็นเครื่องมือในการรักษาการในอำนาจต่อไป ทั้งที่รู้ผลลัพธ์ว่าไม่สามารถตั้งรัฐบาลใหม่ได้ เมื่อครบเวลาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ก็จะเป็นเงื่อนเวลาหนึ่งที่จะยื่นเพิ่มต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ และจะพิจารณาการกระทำใดๆ ที่นอกรัฐธรรมนูญของรัฐบาล ซึ่งในขณะนี้มีการทำผิด เช่น พยายามกู้เงิน 1.3 แสนล้านบาท ทำขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ทั้งหมดจะเก็บรวบรวมเพื่อยื่นเพิ่มเติมซ้ำอีกครั้ง เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่” นายวิรัตน์กล่าว