“พิชาย” ย้ำเรื่องพลังงานจำเป็นต้องพูด จะเอาไว้ทีหลังไม่ได้ ชี้ “สุเทพ” เลิกห่วงผลประโยชน์ของพรรคพวก ถึงจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง แนะ กปปส.ถกหาขอบเขตว่าสามารถพูดได้แค่ไหน รายละเอียดบางอย่างไม่ต้องลงก็ได้
วันนี้ (11 ก.พ.) รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวในรายการ “เกาะติดชัตดาวน์กรุงเทพฯ” ทางเอเอสทีวี ตอนหนึ่งว่า การปฏิรูปพลังงานด้วยการทวงคืน ปตท.กลับมาเป็นของรัฐทั้งหมด คงทำได้ยาก แต่มันก็มีกลไก เช่น ให้กระทรวงการคลังซื้อหุ้นเพิ่ม เพื่อให้กำไรตกเป็นของรัฐมากขึ้น
มีการตั้งข้อสงสัยว่าทำไม กปปส.ไม่คุยเรื่องพลังงาน โดยมีการบอกว่าเพราะข้อมูลของวิทยากรไม่ตรงกัน ถกเถียงกันว่าไทยมีน้ำมันมากหรือน้อย เรื่องนี้ไม่ยาก ตนแนะนำว่าให้ตั้งกรรมการชุดหนึ่ง มีสมาคมวิชาชีพและภาคประชาชนไปสำรวจดูเลยโดยอาศัยหลักวิชาการครบถ้วนโปร่งใส เมื่อนั้นทุกคนก็จะยอมรับตามข้อเท็จจริงที่ได้ จะได้มีข้อมูลตรงกัน
นายพิชาย กล่าวต่อว่า เรื่องพลังงานยังไงก็จำเป็นต้องพูดเพราะเป็นที่ต้องการของประชาชนจำนวนมาก ผู้นำรัฐบาลหรือผู้นำมวลชนต้องฟังเสียงประชาชน จะบอกว่าเอาไว้ทีหลังไม่ได้ แล้วก็ต้องตรึกตรองดูว่าพูดได้ในขอบเขตแค่ไหน ระดับไหนบ้าง เช่น เรื่องค่าภาคหลวง การปรับโครงสร้างให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น ส่วนรายละเอียดบางอย่างอาจไม่จำเป็นต้องลง
แล้วตนก็คาดว่า นายสุเทพ ต้องพูดสักวัน เพราะกระแสมาแรงมากขึ้นๆ ตอนนี้เวทีต่างๆ ของ กปปส.ที่ไม่ใช่เวทีหลัก ก็มีการพูดกันแล้ว นายสุเทพ มีอิทธิพลสูง พูดออกมาจะทำให้ประชาชนมีความหวัง และจะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มต่างๆ มากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น นายสุเทพ ถึงจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ที่ไม่ต้องกังวลว่าพรรคพวกตัวเองจะเสียผลประโยชน์ ในเมื่อมาถึงขนาดนี้แล้วจะห่วงผลประโยชน์ของคนอื่นทำไม ต้องทำเรื่องใหญ่เพื่อผลประโยชน์ประเทศชาติ
นายพิชาย ยังกล่าวถึงสถานการณ์การชุมนุม ว่า ตอนนี้ฝ่ายรัฐบาลพยายามโต้กลับด้วยการคุกคามแกนนำโดย ศรส.ตั้งแต่การจับนายสนธิญาณ และวันนี้ก็คุกคามนักธุรกิจ ด้วยการเปิดชื่อว่าเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้ กปปส.อันนี้จะมีผลกระทบต่อธุรกิจหรือเศรษฐกิจภาพรวม ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ
ทางด้าน กปปส.เอง ดูท่าทีถึงตอนนี้ยังไม่มีหมัดเด็ด คงกำลังรอทฤษฎีมะม่วงหล่น การชุมนุมก็ดำเนินต่อไปได้ ส่วนชาวนาคงมีการชุมนุมหลายๆ จังหวัด เพิ่มแรงกดดันรัฐบาลมากขึ้น แต่อย่าหวังว่ารัฐบาลจะลาออก คงต้องพึ่งองค์กรอิสระให้รีบทำงาน เช่น ป.ป.ช.แต่ก็คงอีกนาน กปปส.คงต้องชุมนุมยาว อาจจะไปถึง เม.ย.ก็ได้ แล้วการยันแบบนี้ส่งผลกระทบยาว ปีหน้าอาจเป็นปีวิกฤตของชาวนา เพราะไม่มีตังค์ไปทำนาต่อ