เลขาฯ กกต.เผยสถานที่เลือกตั้งในเขตมี 111 แห่ง นอกเขต 64 แห่ง งดลงคะแนน เป็นอำนาจของ กปน. เหตุถูกกีดขวาง ถือว่าผิดอาญาขอรวมหลักฐานจัดการ แจงไม่ได้ใช้สิทธิล่วงหน้านอกเขต ถือว่าหมดสิทธิ แต่ล่วงหน้าในเขตยังมีสิทธิ ชี้ กกต.คุยนายกฯ ไม่แน่ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่จะทัน วานนี้ยังสาหัส 2 ก.พ.ต้องพร้อมที่สุด ผลหารือเหมือนเหรียญสองด้าน
วันนี้ (27 ม.ค.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า สำหรับจำนวนสถานที่เลือกตั้งในเขตจำนวน 548 แห่งทั่วประเทศ มีงดการลงคะแนน 111 แห่ง ส่วนสถานที่เลือกตั้งนอกเขต 152 แห่ง งดการลงคะแนน 64 แห่ง จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งมีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ 55,243 คน มีผู้มาใช้สิทธิลงคะแนน 38,093 คน คิดเป็น 68.96% ส่วนผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด มีผู้มาลงทะเบียน 2,163,025 คน มีผู้มาใช้สิทธิลงคะแนน 113,030 คน
เลขาธิการ กกต.กล่าวต่อว่า ในการประกาศงดการลงคะแนนทั้งการเลือกตั้งนอกเขตจังหวัดและในเขตเลือกตั้ง อำนาจเป็นของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) สาเหตุเนื่องจากมีการปิดล้อม กีดขวางการเข้าไปในหน่วยเลือกตั้ง และประชาชนไม่สามารถเดินทางเข้าไปใช้สิทธิได้ กปน.จึงใช้อำนาจตามมาตรา 78 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. งดการลงคะแนน อย่างไรก็ตาม กปน.ต้องเก็บเอกสาร บัตรเลือกตั้ง ส่งไปเก็บไว้ในที่ปลอดภัย เมื่อถามถึงการดำเนินการกับผู้ขัดขวางการเลือกตั้ง นายภุชงค์กล่าวว่า การขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ กกต.หรือประชาชนผู้ไปใช้สิทธิ ถือเป็นความผิดอาญา แต่ต้องรวบรวมพยานหลักฐานภาพถ่าย ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายก่อนดำเนินการ
นายภุชงค์กล่าวต่อว่า สำหรับประชาชนที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดในวันที่ 26 ม.ค. ตามกฎหมายไม่สามารถไปใช้สิทธิในภูมิลำเนาในวันที่ 2 ก.พ.ได้ แต่ประชาชนที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้ง สามารถไปใช้สิทธิได้ในวันที่ 2 ก.พ. ถ้าวันที่ 2 ไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ให้แจ้งต่อนายทะเบียนทองถิ่น เช่น กทม.ไป ผอ.เขต ถ้าไม่สะดวกสามารถแจ้งทางไปรษณีย์ได้ ส่วนต่างจังหวัดสามารถแจ้งปลัดเทศบาล หรือนายอำเภอเพื่อจะได้ไม่เสียสิทธิภายในวันที่ 9 ก.พ.
เมื่อถามถึงกรณีที่ กกต.จะพูดคุยกับนายกฯ ในวันที่ 28 ม.ค. นายภุชงค์กล่าวว่า กกต.คงไปพบนายกฯทั้ง 5 คน ทั้งนี้ กกต.คงมีแนวคิดอยู่แล้ว ในส่วนของสำนักงาน กกต.เพียงแค่เตรียมความเรียบร้อยในวันที่ 2 ก.พ.เพราะไม่แน่ใจว่า พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่จะทันหรือไม่ จะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งในวันที่ 26 ม.ค.ยังหนักหนาสาหัสขนาดนี้ โดยเฉพาะ กทม.และ 15 จังหวัดภาคใต้ แล้วในวันที่ 2 ก.พ.หน่วยเลือกตั้งมีเป็นแสนหน่วย แต่ละหน่วยต้องมีอุปกรณ์เลือกตั้งครบ กกต.ต้องเตรียมพร้อมให้มากที่สุด สำหรับแนวทางการหารือที่จะออกมา ก็เหมือนเหรียญสองด้าน วันที่ 28 ม.ค.จะรู้ว่าเหรียญจะออกมาด้านใด