กกต.เดินหน้าจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า 26 ม.ค.ต่อไป เหตุ พ.ร.ฎ.เดิมยังมีผลอยู่ ชี้ 15 จังหวัดส่อหย่อนบัตรไม่ได้ อาจให้งดลงคะแนนไปก่อน ลั่น 2 ก.พ.ไม่มีเลือกตั้งใหญ่ เหตุปัญหาวุ่นวายหลายอย่าง เชื่อนายกฯ เข้าใจปัญหา เผยห้วงเวลาก่อนเดินไปสู่วันเลือกตั้งใหม่ คู่ขัดแย้งต้องถอยคนละก้าว
เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 25 ม.ค. ที่ตึกโดมบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)ศูนย์รังสิต นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงภายหลังการประชุม กกต.นาน 3 ชั่วโมงว่า ในวันนี้ กกต.ได้ประชุมปรึกษาหารือกันเรื่องแนวทางการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่าสามารถเลื่อนการเลือกตั้ง ส.ส.วันที่ 2 ก.พ.ออกไปได้ สิ่งสำคัญคือ กกต.ได้มีมติเชิญนายกรัฐมนตรีมาปรึกษาหารือในวันที่ 28 ม.ค.เวลา 14.00 น. เพื่อที่จะพิจารณาการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ส่วนสถานที่ให้นายกฯ และ ครม.กำหนดได้เพื่อความสะดวกของทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่จะเป็นระยะเวลาเท่าไหร่นั้น ในส่วนนี้จะมีการปรึกษาหารือกับนายกฯ ก่อน
เลขาธิการ กกต.กล่าวต่อว่า ในวันที่ 26 ม.ค.ยังคงมีการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตและในเขตจังหวัดตามกำหนดเดิม ขณะนี้มีการรายงานปัญหาเข้ามามากพอสมควร โดยเฉพาะ 15 จังหวัดภาคใต้คงจะไม่สามารถเปิดให้มีการลงคะแนนได้ อย่างไรก็ตามได้มีการเตรียมพร้อมอุปกรณ์ไว้หมดแล้ว ดังนั้นหากมีการปิดถนน ขัดขวางการเลือกตั้ง ก็ให้เจ้าหน้าที่ใช้มาตรา 78 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. คือ ถ้ามีเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้น กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ในที่เลือกตั้งกลางนอกเขตจะดูแลสถานการณ์โดยสามารถงดการลงคะแนนและรายงานต่อคณะกรรมการประจำเขตเลือกตั้ง และคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด เพื่องดการลงคะแนนออกไป 7 วัน รวมทั้งรายงานมายัง กกต.โดยด่วน ซึ่ง กกต.จะพิจารณาว่ามีเหตุผลเพียงพอหรือไม่ หากเห็นว่าสถานการณ์รุนแรงอยู่สามารถขยายวันลงคะแนนใหม่ได้อีก โดยกฎหมายไม่ได้กำหนดว่ากี่วัน
นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวว่า สำหรับวันเลือกตั้งใหม่นั้นยังไม่ได้กำหนดเพราะต้องปรึกษากับนายกฯ ก่อน แต่สิ่งสำคัญที่ กกต.ตั้งข้อสังเกต คือ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำพิพากษาคำร้องที่ กกต.ยื่นไป สรุปข้อหนึ่งคือ การเลือกตั้งที่เลื่อนไปเกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบ เกิดจากการแตกแยกทางความคิด กกต.พิจารณาว่าประเด็นไม่ได้อยู่ที่ต้องมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ ปัญหาคือระหว่างทางที่จะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจะทำให้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมยุติลงได้อย่างไร ซึ่งกระบวนการตรงนี้ กกต.ได้ดำริในเบื้องต้นว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเชิญทุกฝ่ายที่เป็นข้อขัดแย้งมาพูดคุยถอยกันคนละก้าว ให้ทุกฝ่ายของสังคม ผู้นำทางความคิด ผู้ที่มีบทบาทต่างๆ ได้เข้ามาช่วยกัน ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องมีทางออกร่วมกัน เป็นทางออกในทางสงบ สันติ มีผลยั่งยืนและการเลือกตั้งใหม่ที่จะมีขึ้นต้องตอบสนองระบอบประชาธิปไตยได้ ตรงนี้ต้องทำก่อนการจัดการเลือกตั้งครั้งต่อไป
“ระหว่างนี้จนถึงวันที่ 2 ก.พ.การเลือกตั้งคงเดินไปไม่ได้ เพราะมีสถานการณ์บ่งชี้อย่างที่ทราบกัน ส่วนจะเลื่อนไปเป็นวันใดนั้นตามกฎหมายนายกฯ และประธาน กกต.ต้องหารือกัน ซึ่งเส้นทางระหว่างนี้ต้องแก้ไขปัญหาพื้นฐานคือความคิดแตกแยกในสังคม ดังนั้นอาจจะต้องมีกระบวนการจัดการตรงนี้ก่อน ส่วนจะจัดการอย่างไร เราจะนัดผู้รู้ ผู้นำทางความคิดว่าทางออกจะเป็นอย่างไร”นายธีรวัฒน์กล่าว
นายธีรวัฒน์กล่าวอีกว่า สำหรับวันเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 26 ม.ค. กกต.ไม่อาจขัดขืนต่อระบบกฎหมาย ดังนั้นการเลือกตั้งที่กำหนดไว้ ผลบังคับทางกฎหมายยังมีอยู่ ก็ต้องเดินหน้าต่อไป กกต.ก็เสียใจ เพราะจะยุติโดยคำสั่ง กกต.ก็ยังหาทางตรงนั้นไม่เจอ ดังนั้นคงต้องปล่อยให้การเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 26 ม.ค. ดำเนินการต่อไป เพราะในทางกฎหมายกระบวนการเลือกตั้ง พ.ร.ฎ.มีผลบังคับใช้อยู่ในทางปฏิบัติ กกต.ไม่สามารถยุติลงได้โดยทันที เว้นแต่จะมี พ.ร.ฎ.ออกมาใช้บังคับใหม่ กกต.ก็หนักใจ เพราะว่าผลทางกฎหมายเป็นอย่างนั้น
นายธีรวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ข้อวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญชัดเจนว่าให้เลื่อนการเลือกตั้งได้ ถ้าไม่ลำเอียงจะมองเห็นภาพชัดเจนว่า การเลือกตั้งดำเนินต่อไปไม่ได้ ถามว่าหลังการเลือกตั้งใหม่ กระบวนการเลือกตั้งจะมาแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้หรือไม่ ขอเรียนว่า กกต.มีจุดยืนว่าการเลือกตั้งเป็นกระบวนการประชาธิปไตยที่จะนำไปสู่การยุติปัญหาในหลายๆ เรื่อง เป็นกระบวนการที่จะเปิดโอกาสให้คนไทยมาใช้เหตุใช้ผลความเป็นคนตัดสินใจเลือกตั้ง ถ้าเลือกตั้งเดินแล้วทำให้เสียเลือดเสียเนื้อ ทำให้คนบาดเจ็บล้มตาย กกต.ยอมรับไม่ได้ ดังนั้นอยากให้คนในสังคมช่วยกันคิดว่าระหว่างเดินไปสู่การเลือกตั้งใหม่จะทำอย่างไรให้คู่กรณี คู่ขัดแย้งได้พูดคุย เรียนรู้ซึ่งกันและกัน
เมื่อถามว่าหากคุยกับนายกฯ ให้เลื่อนการเลือกตั้ง แต่ กปปส.อาจจะไม่เห็นด้วย นายธีรวัฒน์ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าคนไทยรักบ้านเมือง ดังนั้นต้องเปิดโอกาสมาพูดคุยกัน ฝ่ายที่ไม่ยอมพูดคุย ไม่ยอมเริ่มต้นประชาชนจะตัดสินเอง เมื่อกำหนดวันเลือกตั้งใหม่สถานการณ์ต้องสงบก่อน ดังนั้นคู่ขัดแย้งจะมาพูดคุย ตนเชื่อว่าคนไทยดีที่สุดในโลกชาติหนึ่ง มีเหตุมีผล ถ้าถึงจุดๆ หนึ่งทุกอย่างก็จะเป็นไปได้ ตอนนี้เราไม่มีโอกาสที่จะให้ 2 ฝ่ายมาพูดคุย ถ้าแต่ละฝ่ายรู้จักถอย ทุกอย่างต้องเดินหน้าได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า การเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.จะยังเกิดขึ้นหรือไม่ นายธีรวัฒน์ กล่าวว่า ตนไม่เชื่อว่าจะมีขึ้นได้ เพราะสถานการณ์ขณะนี้การเลือกตั้งล่วงหน้าก็มีปัญหา การหากรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ก็ยาก เชื่อว่านายกฯ คงเข้าใจปัญหา เราจะมาคุยกันว่านอกจากการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ระหว่างทางจะคุยกันอย่างไรดี
เมื่อถามอีกว่า ในการเลือกตั้งครั้งใหม่พรรคประชาธิปัตย์ควรร่วมลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยใช่หรือไม่ นายธีรวัฒน์ กล่าวว่า กกต.ยังหวังผลว่าอยากให้คู่แข่งทางการเมืองทุกฝ่ายเข้ามาลงสมัครรับเลือกตั้ง ส่วนประเด็นที่คู่ขัดแย้งมีการประท้วงไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ดังนั้นก่อนจะถึงวันเลือกตั้งใหม่ ต้องมีกระบวนการทำความเข้าใจ และทำให้ความขัดแย้งลดน้อยลงและทำให้ 2 ฝ่ายถอยคนละก้าว ดังนั้นเราหวังว่า ช่วงระหว่างเวลาจะกำหนดการเลือกตั้งใหม่ จะมีกระบวนการทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น