xs
xsm
sm
md
lg

พท.ชี้ศาลไร้สิทธิวินิจฉัยเลื่อนเลือกตั้ง ฉะ กสม.อัปยศค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยื่นยุติชุมนุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.เหวง โตจิราการ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย(แฟ้มภาพ)
“โหวงเหวง” อ้างศาล รธน.รับคำร้อง.วินิจฉัยเลื่อนเลือกตั้ง ไม่ชอบด้วย รธน. เชื่อเป็นโมฆะ แจง รธน.ไม่ได้ให้อำนาจ กกต.-รัฐ เลื่อนเลือกตั้ง จวก กสม.แถลงการณ์ค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อัปยศ โวย รบ.ปชป.เคยใช้ดันไม่ค้าน โบ้ย กปปส.ชุมนุมทำลายชาติ-ขี้ข้าแม้ว ชงศาล รธน.ไต่สวนฉุกเฉิน ให้ กปปส.ยุติชุมนุม ชี้ขวางเลือกตั้ง มีอาวุธโจมตี จนท. ชุมนุมไม่สงบเหมือนที่ศาลชี้รอบแรก โยงสั่งไล่ล่าฝ่ายตรงข้ามทำ “ขวัญชัย” ถูกยิง

วันนี้ (24 ม.ค.) ที่พรรคเพื่อไทย นพ.เหวง โตจิราการ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ขอให้วินิจฉัยกรณีความขัดแย้งระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) กับ กกต.ในการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 214 ระบุถึงกรณีที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กร ดังนั้น การขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรานี้ต้องมีความขัดแย้งที่เกี่ยวอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐบาลกับ กกต. ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 235 ได้ให้อำนาจ กกต.ในการจัดการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้ให้อำนาจในการกำหนดวันเลือกตั้ง และรัฐธรรมนูญมาตรา 108 บัญญัติให้ การเลือกตั้ง ต้องเกิดขึ้นใน 45-60 วันหลังจากมีการยุบสภา และการยุบสภาทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียว แสดงว่าพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งในกรณีนี้ มีได้เพียงครั้งเดียว รัฐบาลจึงไม่มีอำนาจในการเลื่อนการเลือกตั้ง ในเมื่อทั้ง 2 ฝ่ายไม่มีอำนาจในการเลื่อนการเลือกตั้ง ส่วนตัวจึงมองว่าการรับเรื่องดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้นไม่ว่าผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร ส่วนตัวก็คิดว่าการวินิจฉัยดังกล่าวย่อมเป็นโมฆะ ตั้งแต่ต้นเนื่องจากการรับเรื่องไว้พิจารณาไม่ชอบตั้งแต่ต้น

นพ.เหวง ยังได้กล่าวถึง กรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์คัดค้านการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เนื่องจากสถานการณ์ และองค์ประกอบในขณะนี้ยังไม่เข้าขั้นร้ายแรงเพียงพอ รัฐบาลควรเน้นบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพว่า แถลงการณ์ดังกล่าวถือว่าอัปยศสิ้นดี เพราะก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในหลายเหตุการณ์ทั้งที่ไม่มีความรุนแรง เช่นกรณีที่นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย นำคนเสื้อแดงบุกเข้าสภาฯ เพราะเห็นว่ามีคนถืออาวุธสงคราม เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 53 นั้น กสม.ก็ไม่ออกมาคัดค้านการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแต่อย่างใด รวมถึงกรณีที่มีการประกาศใช้กระสุนจริงในปี 53 ก็ไม่เห็นออกมาคัดค้าน แต่วันนี้ กปปส.ได้นำมวลชนปิดสถานที่ราชการ ปิดล้อมไม่ให้มีการรับสมัคร มีการใช้ความรุนแรง รวมถึงมีการปาระเบิดในที่ชุมนุมของ กปปส.เอง และดูเหมือนว่าจะยังคงเดินหน้าปิดสถานที่ราชการไม่หยุด ทั้งหมดนี้เป็นการทำลายความมั่นคงของชาติ และไม่อาจดำเนินการตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงได้ จึงอยากถาม กสม.ว่าจะให้รัฐบาลใช้เครื่องมืออะไรในการดูแลความสงบหากไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ส่วนนายสิงห์ทอง บัวชุม สมาชิกพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและไต่สวนฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองชั่วคราว สั่งให้กลุ่ม กปปส.นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. และกลุ่ม คปท.ยุติการชุมนุม เนื่องจากเห็นว่าการชุมนุมไม่ได้เป็นการชุมนุมอย่างสงบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 มีการละเมิด พ.รบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งพบว่าการชุมนุมมีการใช้อาวุธ และความรุนแรง เกิดความไม่สงบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐด้วยอาวุธอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ซึ่งการชุมนุมยังได้มีการไปปิดล้อมสถานที่ราชการอีกหลายแห่ง และมีลักษณะเป็นการขัดขวางการเลือกตั้ง จนไม่ให้ผู้สมัครทั้ง 28 เขตเลือกตั้งใน 8 จังหวัด ตลอดจนยังมีการข่มขู่เจ้าหน้าที่ กกต. ไม่ให้มาปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง อีกทั้งยังมีการดำเนินการไปปิดสำนักงานคุรุสภา ที่เป็นสถานที่พิมพ์บัตรเลือกตั้ง ซึ่งมีการทำลายแท่นพิมพ์และฉีกบัตรเลือกตั้งเสียหาย นอกจากนี้การชุมนุมดังกล่าว ยังมีความเชื่อมโยงกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีสมาชิกและกรรมการบริหารพรรค ให้การสนับสนุน ทั้งนี้แม้ว่าจะมีการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ยังพบว่ามีการกระทำผิดซ้ำซาก

นายสิงห์ทองกล่าวว่า แม้ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญจะเคยมีคำวินิจฉัยว่าการชุมนุมกลุ่มกปปส.เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ สงบสันติ ปราศจากอาวุธ แต่ภายหลังเดือน ธ.ค. 56 เป็นต้นมามีความชัดเจนว่าไม่ได้เป็นไปอย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัย รวมทั้งยังมีการประกาศที่จะจับตัวนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี รวมทั้งแกนนำคนเสื้อแดง โดยทราบว่ามีรายชื่อผู้ที่ กปปส.จะไล่ล่าจับถึง 700 คน ทำให้เชื่อว่าการที่นายขวัญชัย ไพรพนา แกนนำคนเสื้อแดง จ.อุดรธานีถูกลอบยิงนั้น ก็มาจากการถูกขึ้นบัญชีไล่ล่าดังกล่าว และเห็นว่าหากสถานการณ์การชุมนุมมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงมากกว่านี้ รัฐบาลก็จำเป็นต้องประกาศเคอร์ฟิว


กำลังโหลดความคิดเห็น