ตัวแทนกลุ่ม 40 ส.ว.-ปชป.ยื่นคำร้องศาล รธน.วินิจฉัย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชี้ หน.เพื่อแม้ว ผู้สมัครร่วมนายกฯ เป็น 18 คน ขัด ม.68 ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินระหว่างยุบสภา ใช้ทรัพยากรรัฐดำเนินการมีผลเลือกตั้ง ขัดระเบียบ กกต. ผิด ม.237 ถึงยุบพรรค แจงผู้สมัครประชุม ครม.รู้เห็นออก พ.ร.ก. แถมขัดคำวินิจฉัยศาล รธน. ชี้ กปปส.ชุมนุมสงบ สถานการณ์ไม่ฉุกเฉิน ซึ่งต่างจากปี 53 เชื่อหวังปิดปากสื่อ ทำเลือกตั้งไม่ยุติธรรม ทำให้ได้อำนาจไม่เป็นตาม รธน.
วันนี้ (24 ม.ค.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เดินทางยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้วินิจฉัยว่าประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พรรคเพื่อไทย (พท.) รวมทั้งนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้า พท. ในฐานะคณะที่ปรึกษาศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) และรัฐมนตรีของ พท.ที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง รวมทั้งสิ้น 18 คน เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองและกระทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิถีทางที่มิได้บัญญัติไว้ในรับธรรมนูญขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ หากเห็นว่าเข้าข่ายให้ศาลสั่งระงับการกระทำดังกล่าวและยุบพรรคที่บุคคลดังกล่าวเป็นสมาชิกอยู่
นายไพบูลย์กล่าวว่า เป็นการยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 กล่าวหาพรรค พท. นายจารุพงศ์ หัวหน้า พท. และผู้สมัคร พท.ที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจำนวน 18 คน ได้ร่วมกันกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เนื่องจากช่วงการออก พ.ร.ก.ฉุนเฉินอยู่ระหว่างยุบสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นจึงต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญมาตรา 181 (4) ซึ่งการอนุมัติของ ครม.ได้มีการใช้ทรัพยากรของรัฐไปดำเนินการและมีผลต่อการเลือกตั้งนอกจากนี้ยังขัดต่อระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อีกด้วย
“ดังนั้นจึงเป็นการกระทำผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ว่าด้วยการยุบพรรคการเมือง เนื่องจากมีผู้รับสมัครการเลือกตั้งอยู่ในที่ประชุม ครม. ซึ่งหัวหน้า พท.ก็ร่วมอยู่ด้วย จึงเป็นการกระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรคสอง ซึ่งถือว่าถ้าพรรคการเมืองได้รู้เห็นในการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น เพื่อทำให้ได้อำนาจการปกครองโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางตามรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68” นายไพบูลย์กล่าว
นายวิรัตน์กล่าวว่า การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นการกระทำที่ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวินิจฉัยว่าการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.เป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และสถานการณ์ขณะนี้ไม่ได้ฉุกเฉิน เนื่องจากมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. แต่ขณะนี้ยังไม่มีมาตรการใดๆ ออกมา ซึ่งการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในครั้งนี้ไม่เหมือนกรณีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเมื่อปี 53 เนื่องจากการชุมนุมขณะนี้ผู้ชุมนุมเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ
“การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินขณะนี้อยู่ในช่วงการเลือกตั้ง ดังนั้นเป้าหมายเพื่อยับยั้งไม่ให้สถานีโทรทัศน์บลูสกาย ทีนิวส์และสื่ออื่นๆ เสนอข่าวสารความจริงว่าเป็นอย่างไร จึงเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (3), (4) เพื่อต้องการปิดปากทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยบริสุทธิ์ ยุติธรรม และเป็นการกระทำของพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 237 วรรคสองที่เป็นการได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงเข้าตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ในฐานะที่ผู้ร้องเป็นผู้ทราบการกระทำดังกล่าว” นายวิรัตน์กล่าว