“อภิสิทธิ์” ระบุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซ้ำเติมสถานการณ์ไทยย่ำแย่ บริหารเศรษฐกิจลำบาก งงประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ไม่รีบออกข้อกำหนด ยื้อไปจันทร์หน้า มันฉุกเฉินตรงไหน ดักคอรัฐบาลกู้แบงก์กรุงไทยขัดกฎหมาย
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความกังวลต่อการประกาศ พ.ร.ก.ว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ของรัฐบาลว่า ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศหลายด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่จะทำให้การบริหารเป็นไปด้วยความยากลำบากยิ่งขึ้น เช่นกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน มีมติเสียง 4:3 ไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย แสดงให้เห็นว่าขณะนี้ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะไปซ้ำเติมต่อสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ให้หนักยิ่งขึ้น ขณะที่ภาคสื่อสารมวลชนก็แสดงความกังวลต่อการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ขณะที่ภาคการเมืองโดยเฉพาะการเลือกตั้งก็กังวลว่าอาจมีการใช้อำนาจพิเศษสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบหรือไม่
“ผมก็ยังงงๆ คือขณะที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน นายกฯ จะต้องออกข้อกำหนดตามมาตรา 11 หรือ 12 ของ พ.ร.ก. เพื่อยืนยันอำนาจของเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าไปทำการต่างๆ แต่ประกาศที่บอกว่า จะใช้ข้อกำหนดห้ามสิ่งนั้นสิ่งนี้ ซึ่งในสถานการณ์ซึ่งอ้างว่าฉุกเฉินนั้น ผบ.ศ.รส.บอกให้รอถึงวันจันทร์หน้าแล้ว มันภาวะฉุกเฉินอย่างไร แต่ในส่วนของประชาชนกลับไม่รู้สึกหวาดกลัวต่อการประกาศ พ.ร.ก.ของรัฐบาล กลับออกมาร่วมกับ กปปส.ต่อต้านรัฐบาลมากยิ่งขึ้น เป็นเพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากฝ่ายประชาชน ดังนั้นการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาลจึงใช้ไมได้ผลกับประชาชน”
ส่วนกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการพิจารณาประเด็นการเลื่อนวันเลือกตั้งในวันพรุ่งนี้ (24 ม.ค.) นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนคาดหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องนี้ไว้พิจารณามิเช่นนั้นจะทำให้ปัญหายังคงคาราคาซังต่อไป แต่หากมีการรับเรื่องไว้พิจารณาก็จะได้ความกระจ่างในข้อกฎหมายกรณีอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะทำให้ต่อไป นายกรัฐมนตรีไม่สามารถนำไปเป็นข้ออ้างโยนเรื่องไปให้ กกต.ได้อีก ก็จะคลี่คลายสถานการณ์ไปได้ระดับหนึ่ง แต่ในแง่ของการเลือกตั้งตนไม่แน่ใจว่าจะสามารถคลี่คลายปัญหาได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนปัญหาโครงการจำนำข้าวที่มีกลุ่มเกษตรกรชาวนาออกมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินให้กับผู้เข้าร่วมโครงการนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนรู้สึกเห็นใจกับกลุ่มชาวนาต่อความเดือดร้อน และเป็นสิทธิที่เขาควรจะได้รับเงินดังกล่าว และหวังว่าหากมีการเปลี่ยนรัฐบาล สิ่งแรกที่รัฐบาลชุดใหม่จะต้องดำเนินการคือจ่ายเงินให้กับชาวนาและต้องยกเลิกนโยบายดังกล่าวด้วย เพราะพิสูจน์ชัดแล้วว่าไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนที่รัฐบาลจะกู้เงิน 1.3 แสนล้านบาทกับธนาคารกรุงไทยนั้น ตนไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะสามารถทำได้ตามกฎหมายหรือไม่