เราเคยได้ยินมานานแล้วว่า ปัญหาความยากจนของชาวนาไทยนั้น เกิดจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกกดขี่ขูดรีดจากนายทุน เจ้าที่ดิน นายทุนเงินกู้ โรงสี พ่อค้าส่งออก
นายทุนเจ้าที่ดินขูดรีดค่าเช่าที่นา นายทุนเงินกู้ขูดรีดดอกเบี้ย โรงสี พ่อค้าส่งออก ขูดรีดผลผลิต โดยกดราคารับซื้อข้าวจากชาวนา ในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ทำให้ชาวนาต้องกู้หนื้ยืมสินมาปะทังชีวิต มาเป็นทุนในการปลูกข้าวฤดูกาลใหม่ ตกอยู่ในวงจรหนี้สินอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
การหากินกับค่าเช่าทางเศรษฐกิจแบบนี้ ถือว่า ล้าสมัย เมื่อเทียบกับกลโกงของระบอบทักษิณ ที่ทำกับชาวนา ไม่ขูดรีด ไม่กดราคา แต่ใช้วิธีปล้นข้าวจากชาวนาเลย
รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้ความยากจนของชาวนา มาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเข้าสู่อำนาจ ผ่านคูหาเลือกตั้ง โดยการชูนโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ด ตันละ 15,000 บาท ซึ่งพี่ชาย น.ช.ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศด้วยความภูมิใจว่า เขาเป็นผู้คิดนโยบายนี้เอง
ผู้ที่คัดค้าน ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ เพราะเชื่อว่า เป็นไปไมได้ที่ประเทศไทยจะเป็นผู้กำหนดราคาข้าวในตลาดโลก การรับซื้อข้าวทุกเมล็ดในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด 50% จะทำให้ข้าวไทยไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
มีผู้ที่เห็นว่า โครงการจำนำข้าว เป็นนโยบาย two in one คือ ไม่ใช่เป็นเพียงนโยบายประชานิยมเพื่อหาเสียงของพรรคเพือ่ไทยเท่านั้น แต่ยัง เป็นนโยบายที่ถูกออกแบบมาเพื่อการทุจริตของพวกพ้องในระบอบทักษิณทุกขั้นตอน องค์การระหว่างประเทศ เช่น ไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก และสถาบันจัดอันดับเครดิตอย่างมูดี้ส์ เตือนว่า โครงการนี้จะทำให้ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะที่สูงเกินไป เป็นอันตรายต่อเสถียรภาพการคลังของประเทศ
คนเหล่านี้ ถูกคนในรัฐบาลกล่าวหาว่า ไม่เห็นใจชาวนา ไม่อยากเห็นชาวนาหลุดพ้นจากความยากจน นายกฯ นกแก้ว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ท่องโพยเป็นนกแก้วนกขุนทองว่า อยากให้ชาวนามีความสุข อยากเห็นรอยยิ้มของชาวนา จึงยืนยันที่จะทำโครงการนี้ต่อไป
สองปีกว่าๆ ของโครงการจำนำข้าว ตั้งแต่ฤดูกาลผลิตปี 54/55 – ปี 55/56 รัฐบาลใช้เงินไปแล้ว 700,000 ล้านบาท กับโครงการนี้ ประเทศไทยมีข้าวเก็บในสต็อกถึง 17 ล้านตัน ประเทศไทยสูญเสียความเป็นผู้นำการส่งออกข้าวของโลก เพราะข้าวไทยขายไม่ได้เนื่องจากราคาสูงกว่าคู่แข่ง ระบบการส่งออกข้าวของประเทศพังพินาศ เพราะรัฐบาลกว้านซื้อข้าวสารมาเก็บไว้เพียงรายเดียว พ่อค้าส่งออกต้องเลิกกิจการหรือหันไปซื้อข้าวเขมร ข้าวเวียดนามมาส่งออกแทน
ในขณะที่โรงสีที่เข้าโครงการ ร่ำรวยกันเป็นร้อยๆ ล้าน จากส่วนต่างราคาที่รับซื้อจากชาวนา กับราคาที่ขายให้รัฐบาล จากการรับจ้างสีข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร จากการให้รัฐบาลเช่าโกดังเก็บข้าวสาร
รวยที่สุด จากโครงการจำนำข้าว คือ เครือข่ายของระบอบทักษิณ ที่ซื้อข้าวจากรัฐบาลในราคาถูก โดยรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงพาณิชย์โกหกมาตลอดสองปีว่า เป็นการระบายข่าวแบบจีทูจี แต่แท้จริงแล้วคือ เอาข้าวราคาถูกไปเวียนเทียนขายให้โรงสี เพื่อเอากลับมาจำนำอีกรอบหนึ่ง หรือทำข้าวถุงขายในประเทศ
ตัวใหญ่ที่สุดของกระบวนการโกงข้าวนี้คือ “เสี่ยเปี๋ยง “ นายอภิชาต จันทร์สกุลพร เจ้าของบริษัทเพรสซิเดนท์ อะกรีเทรดดิ้ง ซึ่งผูกขาดซื้อข้าว จากโครงการจำนำข้าวสมัยรัฐบาล นช.ทักษิณ มาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เสี่ยเปี๋ยง ตั้งบริษัทสยามอินดิก้า มารับซื้อข้าวจากรัฐบาล ในราคถูก อ้างว่า เป็นการขายแบบจีทูจี แต่ความจริงแล้ว เอาไปขายให้โรงสี และผู้ผลิตข้าวถุงในประเทศ
สำหรับชาวนา สองฤดูกาลแรกของโครงการจำนำข้าว ดูเหมือนจะดี ได้เงินเป็นกอบเป็นกำ แม้ว่า จะไม่ถึงตันละ 15,000 บาท อย่างที่รัฐบาลโฆษณาชวนเชื่อเพราะถูกโรงสีหักค่าความชื้น แต่พอเข้าสู่ฤดูกาลผลิต 2556/2557 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 ฝีก็เริ่มแตก วงจรการหมุนเงินของรัฐบาลเริ่มถึงทางตัน เพราะ เงินที่ รับจำนำข้าวโดยผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เมื่อจ่ายออกไปแล้ว ไม่หมุนกลับคืนมา หรือ เข้ามาน้อยกว่าที่ออกไป เนื่องจากขายข้าวไม่ได้ ที่ขายได้ในประเทศ ก็เป็นการขายให้กับพรรคพวกในราคาถูกกว่าทีรับซื้อมาเกือบครึ่ง คือ ขายให้กับนายอภิชาต ขายให้กับ บริษัทสยามรักษ์ ซึ่งมีเลขานุการ รมต. พาณิชย์ นายบุณทรง เตริยาภิรมย์ และ รมช.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล เป็นกรรมการ เป้นต้น
วงเงินรับจำนำข้าว ที่รัฐบาลตั้งไว้ 5 แสนล้านบาท จึงเหลืออยู่เพียง 20,000 กว่าล้านบาท รัฐบาลขอให้ ธ.ก.ส. นำเงินฝากของประชาชนมาจ่ายค่าข้าวไปก่อน 5 หมื่นล้านบาท จากที่เคยจ่ายไปแล้ว 9 หมื่นล้านบาท แต่ สหภาพแรงงาน ธ.ก.ส. คัดค้าน และผู้บรหาร ธ.ก.ส. เองก้ไม่กล้าเอาเงินฝากของประชาชนมาถลุง เพราะมีโอกาสติดคุกสูง รัฐบาลจึงต้องเพิ่มวงเงินจำนำข้าว อีก 1 แสน 3 หมื่นล้านบาท แต่ต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการการเลือกตังก่อน
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 จนถึง วันที่ 11 มกราคม 2557 มีชาวนานำข้าวมาจำนำ 10.8 ล้านตัน ธ.ก.ส. ออกใบประทวนให้ 1.7 ล้านใบ แต่จนถึงวันที่ 8 มกราคม 2557 เพิ่งจ่ายเงินตามใบประทวนไปได้เพียง 289,000 ใบ เหลือใบประทวนที่ชาวนายังขึ้นเงินไมได้ 1.4 ล้านใบ คิดเป็นข้าว 6.5 ล้านตัน ชาวนาต้องไปกู้เงินนอกระบบมาใช้จ่าย เพราะ ธ.ก.ส.ไม่มีเงินจ่ายค่าข้าวให้ ชาวนาในภาคกลางตอนบนหลายจังหวัด รวมตัวกันประท้วงปิดถนนมาแล้วสองครั้ง เพื่อทวงเงินค่าข้าวจากรัฐบาล โดยรัฐบาลรับปากว่าจะจ่ายให้ แต่เมื่อถึงกำหนดก็เบี้ยว จนครั้งล่าสุด รับปากว่าจะจ่ายให้ในวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา แต่ถึงเวลาก็ชักดาบเหมือนเดิม
ใบประทวนที่ชาวนายังขึ้นเงินไม่ได้ 1.4 ล้านใบ หากคิดว่า รัฐบาลรับจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท ค่าข้าวที่รัฐบาลเป็นหนี้ชาวนาอยู่ คิดเป็นเงินเกือบ 1 แสนล้านบาท คือ ประมาณ 975,000 ล้านบาท
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประเมินว่า รัฐบาลน่าจะขายข้าวได้อย่างมากประมาณ 20,000 ล้านบาท เพราะจากสถิติระบายข้าวอยู่ที่เดือนละ 10,000 ล้านบาท และต่อให้รัฐบาลขายข้าวได้มากถึง 50,000 ล้านบาท ก็ไม่เพียงพอนำมาชำระชาวนาที่มีใบประทวนค้างอยู่เป็นแสนล้านบาท
เพราะฉะนั้น ในวันที่ 25 มกราคมนี้ เงินจากการระบายขายข้าวคงจ่ายให้ชาวนาได้บางส่วนเท่านั้น และการจะระบายข้าวได้เงินเป็นแสนล้านบาทคงต้องใช้เวลา 8-9 เดือน ดังนั้น กว่าชาวนาทุกคนจะได้เงินจำนำข้าวคงต้องรอจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่
ถ้าการเก็บค่าเช่านาแพงๆ คิดดอกเบี้ยเงินกู้สูงๆ กดราคาข้าวให้ต่ำๆ คือ การกดขี่ ขูดรีด ชาวนา การเอาข้าวไปจากชาวนาโดยไม่จ่ายเงินค่าข้าวให้ แม้เวลาจะล่วงเลยไปกว่า 3 เดือนแล้ว ก็ควรจะเรียกว่า เป็นการปล้น เพราะการเก็บค่าเช่านา การคิดดอกเบี้ย เจ้าที่ดิน นายทุน ยังต้องมีการลงทุนคือ ที่ดิน เงินต้น แต่ระบอบทักษิณ ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย หลอกให้ชาวนาเอาข้าวมาจำนำ แลกกับกระดาษใบหนึ่ง ซึ่งไม่ต่างอะไรกับเช็คเด้ง แล้วก็เปิดโกดังให้ “ เสียเปี๋ยง”มาขนข้าวออกจากโกดังไปขาย โดยจ่ายค้าข้าวให้ครึ่งหนึ่งของต้นทุน
มันคือการ“ปล้น“ชัดๆ