กมธ.ทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เปิดเผยผลเรียกตำรวจชี้แจงเหตุรุนแรง “สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น” ผบ.เหตุการณ์ยอมรับสั่งตำรวจไม่ให้เอาปืนพกประจำกายเข้าสถานที่ควบคุมฝูงชน แต่ตำรวจชั้นผู้น้อยไม่ฟัง ทำให้มีผู้แอบเอาอาวุธปืนพกเข้าไปจำนวนมาก จนเกิดเหตุรุนแรง ทำให้นายวสุ การ์ด คปท.เสียชีวิต
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2557 เวลา 10.00 น. ได้มีการเชิญผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว พร้อมด้วย พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา, พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง และ พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงศ์ ซึ่งเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ หรือ ผบ.เหตุการณ์เข้าชี้แจงเพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ปะทะกันโดยตำรวจมีการใช้อาวุธปืนจริง กระสุนยาง และแก๊สน้ำตา ยิงใส่ผู้ชุมนุม ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2556 โดยผู้อำนวยการตำรวจแห่งชาติได้มอบหมายให้ พ.ต.ท.โสภณ เดินทางมาชี้แจงกับคณะ กมธ.เพียงคนเดียว เนื่องจากเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรง
จากการพิจารณาพบว่า ในข้อมูลของซีกตำรวจที่ ผบ.เหตุการณ์ได้ชี้แจงให้ กมธ.ฟังเป็นลำดับนั้น สรุปไปในแนวทางว่าผู้ชุมนุมเป็นผู้กระตุ้นให้เกิดความรุนแรง หลังจากนั้น นายไพบูลย์ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ศึกษาในเรื่องนี้ได้ลำดับเหตุการณ์ที่ฝั่งผู้ชุมนุมได้รับผลกระทบในแต่ละช่วงเวลา ที่โดนกระทำทั้งการยิงแก๊สน้ำตาที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล การใช้กระสุนยางที่ยิงอย่างหนักหน่วง และการใช้อาวุธปืนสั้นยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุม รวมถึงการที่มีการจับผู้ชุมนุมกว่า 14 คนไปซ้อม ซึ่งเป็นเหตุกระตุ้นปฏิกิริยาให้ผู้ชุมนุมรู้สึกโกรธแค้น ทำให้สถานการณ์ยิ่งรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
“ฝั่งตำรวจมีการใช้กระสุนจริง ตั้งแต่ช่วงประมาณ 12.00-15.00 น.ทำให้ผู้ชุมนุมบาดเจ็บถึง 4 ราย แต่ ผบ.เหตุการณ์ก็ยืนยันว่าไม่ได้รับรายงานทั้งหมด มีแต่ได้รับรายงานกรณีนายวสุ สุฉันทบุตรที่เสียชีวิตเพียงคนเดียว หลังจากนั้นในเวลา 16.00 น.ทางฝั่งตำรวจยังมีการยิงกระสุนปืนอย่างหนักใส่ผู้ชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมบาดเจ็บถึง 5 ราย รวมถึงพยาบาล ช่างภาพไทยรัฐ และประชาชนทั่วไป ก่อนที่จะมีตำรวจออกมาจากแนวรั้วกระทำการทุบรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ซึ่งเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ”
นายไพบูลย์เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ผบ.เหตุการณ์ได้ยอมรับว่า ได้กำชับด้วยวาจาห้ามตำรวจในพื้นที่ปฏิบัติการพกปืนพกประจำกายเข้าไปเด็ดขาด แต่ให้เก็บไว้ในรถ แต่เมื่อทาง กมธ.ทักท้วงว่ามีการใช้กระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุม และการที่ตำรวจแจ้งว่ามีปืนพกที่อยู่ในรถหายไปจำนวน 6 กระบอกนั้น ทำให้ทางกมธ.สงสัยว่าในเมื่อ ผบ.เหตุการณ์สั่งให้ตำรวจเอาปืนพกเก็บไว้ในรถ แต่ตำรวจมีจำนวนเป็น 1,000 นาย จะต้องมีปืนพกในรถเป็น 1,000 กระบอก ทำไมถึงมีแค่ 6 กระบอก
ทาง ผบ.เหตุการณ์จึงยอมรับว่า มีความเป็นไปได้ที่ตำรวจแอบนำปืนพกเข้าไปโดยไม่ฟังคำสั่ง ดังนั้นทาง กมธ.จึงเห็นว่าผู้บัญชาการไม่สามารถคุมตำรวจในความดูแลได้ จึงเป็นเหตุทำให้เกิดความรุนแรงโดยเฉพาะมีการใช้อาวุธจริงดังกล่าว เมื่อเกิดเหตุเช่นนี้ขึ้น ย่อมหมายความว่าตำรวจมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และต้องการให้ทางผู้บัญชาการตำรวจได้หลีกเลี่ยงอย่าให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก เช่น เมื่อมีการสั่งห้ามนายตำรวจชั้นผู้น้อยเอาอาวุธเข้าที่ควบคุมปฏิบัติต่อฝูงชน ก็ควรมีการเรียกจัดเก็บอาวุธ มีการลงทะเบียนอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่สั่งแค่วาจา