xs
xsm
sm
md
lg

“มีชัย” แจงช่องเลื่อนเลือกตั้ง อยู่ที่ กกต.จะใช้ดุลพินิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มีชัย ฤชุพันธุ์ (แฟ้มภาพ)
“มีชัย ฤชุพันธุ์” แจงช่องทางเลื่อนวันเลือกตั้ง หากเกิดเหตุสุดวิสัย และเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่ กกต.จะต้องวินิจฉัย ส่วนที่ รธน.กำหนดให้ต้องเลือกตั้งภายใน 60 วันหลังยุบสภา ป้องกันรัฐบาลเจ้าเล่ห์ยุบสภาแล้วอยู่รักษาการตีกินยาว

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภา ตอบคำถามในเว็บไซต์มีชัยไทยแลนด์ดอทคอม ที่มีผู้ถามความเห็นว่าสามารถเลื่อนวันเลือกตั้งตามที่มีบางฝ่ายเสนอได้หรือไม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเมืองที่อ่อนไหวเปราะบาง

นายมีชัยตอบว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 108 วรรคสอง บัญญัติว่า การยุบสภาให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

ถ้าสังเกตให้ดีก็จะเห็นว่า รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนว่า การกำหนดวันเลือกตั้งภายในอย่างช้าไม่เกิน 60 วัน และต้องเลือกตั้งในวันเดียวกัน เราเคยสงสัยกันบ้างไหมว่า ในเวลาที่ กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ให้ใบแดงหรือใบเหลือง แล้วก็กำหนดวันเลือกตั้งใหม่สำหรับเขตเลือกตั้งที่ไม่สุจริตนั้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นระยะเวลาที่เกินเวลาที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาแล้วทั้งนั้น กกต.ทำได้อย่างไร

และเคยสงสัยกันบ้างไหมว่า ในเมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดว่าต้องจัดการเลือกตั้งเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร แต่ทำไม กกต.จึงกำหนดให้มีการเลือกตั้งในต่างประเทศวันหนึ่ง กำหนดให้มีการมาลงคะแนนล่วงหน้าอีกวันหนึ่ง และวันเลือกตั้งทั่วๆ ไปอีกวันหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนกับไม่ตรงกับที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ กกต.ทำได้อย่างไร

คำตอบก็คือ การกำหนดวันเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกาเป็นเรื่องหนึ่ง ซึ่งเหตุที่รัฐธรรมนูญกำหนดบังคับไว้ให้ต้องกำหนดไว้พร้อมกับการยุบสภา และกำหนดระยะเวลาสูงสุดไว้ ก็เพราะไม่ต้องการให้ฝ่ายบริหารซึ่งเป็นผู้ดำเนินการยุบสภา อาศัยการยุบสภาแล้วอยู่รักษาการเป็นการตีกินไปเป็นเวลานานๆ เช่น ถ้าไม่กำหนดระยะเวลาสูงสุดไว้ รัฐบาลก็อาจยุบสภา แล้วกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในอีกหนึ่งปีหรือสองปีข้างหน้า ระหว่างนั้นรัฐบาลก็บริหารงานในฐานะผู้รักษาการไปเรื่อยๆ สนุกดี ไม่ต้องมีสภาคอยควบคุม ไม่มีใครทำอะไรได้ (อย่าคิดว่าคงไม่มีใครทำอย่างนั้น สมัยนี้อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ เหมือนกับที่เราไม่เคยคิดเลยว่าจะมีรัฐบาลไหนปฏิเสธอำนาจศาล หรือส่งคนไปข่มขู่ศาลไม่ให้พิจารณาคดี ปักหลักข่มขู่อยู่เป็นเดือนๆ โดยรัฐบาลคิดว่านั่นเป็นการแสดงออกทางประชาธิปไตย ใครจะคิดว่ามีขึ้นได้)

แต่การจัดการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กกต.นั่นเป็นคนละเรื่องกับการกำหนดวันเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งนั้นอาจมีเหตุต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ มีเหตุที่จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งแบ่งเป็นหลายวัน ซึ่งบางทีก็เนิ่นนานไปกว่าระยะเวลาสูงสุดที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ คือ เกิน 60 วัน หรือเกิน 90 วัน ซึ่งเราก็คงเห็นกันอยู่เป็นประจำ (เพียงแต่ไม่มีใครตั้งคำถามหรือสงสัย หรืออาจจะเป็นเพราะรู้ข้อกฎหมายอยู่แล้ว ก็สุดแต่)

นั่นแสดงว่าการจัดการเลือกตั้งมีกฎหมายให้อำนาจ กกต.ที่จะดูแลตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้ ดังนั้นถ้า กกต.เห็นว่าการเลือกตั้งเขตใดไม่สุจริต ก็สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ (ที่เรียกกันว่าให้ใบแดงหรือใบเหลืองนั่นแหละ) ถึงตอนนี้ดูเหมือนไม่มีใครสงสัยเลยว่า วันที่จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่น่ะเกิน 60 วันแล้วหรือไม่ คราวนี้ถ้าเกิดเหตุทุจริตกันทั้งประเทศ การเลือกตั้งทั้งประเทศก็ต้องทำใหม่หมด ซึ่งก็จะเลยกำหนด 60 วันเช่นกัน และเคยเกิดมาแล้ว ดูเหมือนเมื่อปี 49 ได้มีการเลือกตั้งใหม่อีก 5-6 เดือนถัดมา (ดูมาตรา 8 และมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งฯ) นั่นเป็นผลจากการเลือกตั้งที่ไม่สุจริต

แต่ถ้ามีเหตุอันทำให้มีการเลือกตั้งไม่ได้ เพราะเหตุเกิดจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอย่างอื่น กฎหมาย (มาตรา 78 พ.ร.บ.เลือกตั้งฯ) ก็ให้อำนาจ กกต.ที่จะกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่ได้ โดยไม่มีข้อกำหนดว่าจะต้องเลื่อนไปถึงเมื่อไร เพราะกฎหมายก็คงบอกไม่ได้ว่าเหตุนั้นจะหมดเมื่อไร ถ้ามีการเลือกตั้งในปี 2553 ซึ่งน้ำท่วมครึ่งประเทศ ก็คงจะยอมรับการเลื่อนการเลือกตั้งกันได้โดยไม่มีใครคิดอะไร และเมื่อน้ำท่วมเป็นเดือน กว่าจะแห้งพอที่จะไปจัดการเลือกตั้งกันได้ก็คงต้องกินเวลาหลายเดือน

อย่าลืมว่าสาเหตุที่จะเลื่อนนั้น มีทั้งเหตุธรรมชาติ คือ อุทกภัย และเหตุที่ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ เช่น อัคคีภัย การจลาจล เหตุสุดวิสัย (ซึ่งมีทั้งที่อาจเกิดจากธรรมชาติ หรือเหตุอื่นใด) และเหตุจำเป็นอื่นๆ ดังนั้นเมื่อมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวเกิดขึ้นจนทำให้จัดการเลือกตั้งไม่ได้ ก็ย่อมเลื่อนได้ โดยไม่ต้องนึกถึงวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดไว้ เพราะขึ้นอยู่กับว่าเหตุนั้นมีอยู่นานเท่าไร และจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้เมื่อใด

ถ้าเหตุนั้นเกิดเฉพาะบางที่ ก็เลื่อนวันเลือกตั้งไปเฉพาะที่นั่น แต่ถ้าเหตุมันเกิดครึ่งประเทศ ก็ใช่ว่าจะควรเลื่อนเพียงครึ่งประเทศ เพราะถ้าทำเช่นนั้น การเลือกตั้งจะกลายเป็นสองวัน และเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งได้ เพราะจะรู้ผลการเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง จะทำให้การเลือกตั้งนั้นเสียหายได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็อาจจำเป็นต้องเลื่อนทั้งประเทศ

ต้องเข้าใจว่า คำว่า “เหตุสุดวิสัย” และคำว่า “เหตุจำเป็นอย่างอื่น” นั้น ไม่มีนิยามกันไว้ชัดเจน สำหรับ “เหตุสุดวิสัย” อาจอาศัยคำอธิบายที่มีอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ แต่ “เหตุจำเป็นอย่างอื่น” คนที่จะวินิจฉัยคือ กกต.เท่านั้น ถ้า กกต.เห็นว่ามีเหตุอันจำเป็นจนไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ หรือจัดการไปแล้วก็จะก่อให้เกิดความไม่สุจริต เที่ยงธรรมขึ้น ก็เป็นหน้าที่ของ กกต.ที่จะต้องพิจารณาตามสมควร พร้อมทั้งบอกเหตุผลและความจำเป็นให้เป็นที่ประจักษ์

เพราะการที่มีการตั้ง กกต.ขึ้นเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และเป็นองค์กรอิสระ ก็เพื่อให้สามารถใช้ดุลพินิจในยามจำเป็นได้ ไม่ใช่ให้เดินเอาหัวชนฝาเหมือนเจ้าหน้าที่ในระดับทั่วๆ ไป ถ้าดุลพินิจนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ ย่อมไม่มีใครสงสัยในการใช้ดุลพินิจนั้น และถึงแม้จะมีใครคัดค้านหรือฟ้องร้อง ก็ย่อมอยู่ในฐานะที่จะอธิบายได้อย่างสมเหตุสมผล ที่ตอบมาทั้งหมดเป็นการบอกถึงกฎหมายที่มีอยู่ ก็ไปคิดดูเอาเองว่าเลื่อนได้หรือไม่ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น