xs
xsm
sm
md
lg

นิด้าโพล ชี้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“นิด้าโพล” สำรวจประชาชนพบส่วนใหญ่ต้องการให้มีการปฎิรูประเทศก่อนการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันส่วนใหญ่ยังเห็นว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจะมีความบริสุทธิ์-ยุติธรรมน้อย และจะไม่ราบรื่น

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “คนไทยกับการเลือกตั้งใหญ่ 2 ก.พ. 57” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 17-19 ธ.ค.จากประชาชนทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,254 หน่วยตัวอย่าง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 28.79 ระบุการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 2557 ว่าจะมีความบริสุทธิ์ยุติธรรมในระดับน้อย รองลงมาร้อยละ 28.63 ระบุว่ามีความบริสุทธิ์ยุติธรรมอยู่ในระดับมาก ร้อยละ 21.13 ระบุว่าจะมีความบริสุทธิ์ ยุติธรรมในระดับน้อยที่สุดร้อยละ 8.29 ระบุว่ามีความบริสุทธิ์ยุติธรรมอยู่ในระดับมากที่สุด และร้อยละ 13.16 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ

ส่วนความคิดเห็นต่อความราบรื่นในการดำเนินการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 57 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.34 ระบุว่าการดำเนินการเลือกตั้งจะไม่ราบรื่น ขณะที่ประชาชนร้อยละ 32.70 ระบุว่าการดำเนินการเลือกตั้งจะเป็นไปอย่างราบรื่นและ ร้อยละ 11.96 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ

สำหรับความคิดเห็นต่อสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองหลังการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 57 พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.21 ระบุว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะวุ่นวายเหมือนเดิม รองลงมา ร้อยละ 21.85 ระบุว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะวุ่นวายมากขึ้นขณะที่ ร้อยละ 20.33 ระบุว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะดีขึ้น และร้อยละ 10.61 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ

ท้ายสุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นระหว่าง “การเลือกตั้ง” กับ “การปฏิรูปประเทศไทย” ว่าควรทำสิ่งใดก่อน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.33 ระบุว่าควรมีการปฏิรูปประเทศไทยก่อนการเลือกตั้ง รองลงมาร้อยละ 36.28 ระบุว่าควรเลือกตั้งก่อนการปฏิรูปประเทศไทย ขณะที่ร้อยละ 4.31 ระบุว่าอื่นๆ ควรทำควบคู่ไปพร้อมๆ กัน แล้วแต่เสียงส่วนใหญ่ และร้อยละ 13.08 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นิด้า ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับผลการสำรวจในครั้งนี้เพิ่มเติมว่า มีประชาชนจำนวนมากหรือประมาณครึ่งหนึ่งจากการสำรวจที่เห็นว่าการเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ยุติธรรมในระดับน้อยและน้อยที่สุด ย่อมเป็นหลักฐานอย่างชัดเจนว่าปัญหาความไม่ยุติธรรมในการเลือกตั้งของสังคมไทยยังคงมีความรุนแรง และเมื่อการเลือกตั้งซึ่งเป็นวิธีการได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองมีความบริสุทธิ์ยุติธรรมน้อยเช่นนี้แล้ว ย่อมส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ที่บิดเบือนจากความเป็นจริง จึงมิอาจกล่าวได้ว่าผู้ที่ได้รับเลือกตั้งทั้งหมดจะเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง ความเห็นของประชาชนที่ได้จากการสำรวจครั้งนี้ก็สอดคล้องกับผลการวิจัยเกี่ยวกับการเลือกตั้งอื่นๆ เป็นจำนวนมากที่ทำมาก่อนหน้านี้ที่พบว่า การเลือกตั้งเต็มไปด้วยการซื้อขายเสียง การใช้อำนาจรัฐเอาเปรียบคู่แข่งโดยใช้หน้าที่งานราชการบังหน้าการหาเสียง และการปฏิบัติหน้าที่แบบลำเอียงของผู้ที่บริหารจัดการเลือกตั้ง

“ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่มีการต่อสู้อย่างแหลมคมและยืดเยื้อระหว่างภาคประชาชนกับรัฐบาล ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ประเมินว่าการเลือกตั้งที่กำลังเกิดขึ้นในวันที่ 2 ก.พ. 2557 ไม่อาจดำเนินการได้อย่างราบรื่น และอาจมีอุปสรรคหลายประการ เช่น กกต.ไม่สามารถรับสมัครผู้ประสงค์จะแข่งขันเลือกตั้งทั้งในแบบบัญชีรายชื่อ และแบบเขตเลือกตั้งได้ เพราะถูกขัดขวางจากประชาชนที่เห็นว่าควรปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้ง หรือแม้สามารถรับสมัครผู้เลือกตั้งได้แต่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งในบางเขตหรือบางหน่วยเลือกตั้งเพราะว่าไม่มีใครสมัครเป็นกรรมการหน่วยเลือกตั้ง หรือผู้เลือกตั้งในบางพื้นที่ไม่สามารถเดินเข้าคูหาเพื่อลงคะแนนเสียงในวันเลือกตั้งได้ เป็นต้น”

รศ.ดร.พิชายกล่าวอีกว่า แม้ว่าในกรณีที่ กกต.สามารถจัดการเลือกตั้งได้แต่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าความวุ่นวายทางการเมืองก็ยังคงดำรงอยู่ เพราะว่าการเลือกตั้งภายใต้บริบทของสังคมไทยยังคงมากล้นไปด้วยการทุจริต และการซื้อขายเสียง ทำให้ผู้ชนะการเลือกตั้งถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความชอบธรรมทางการเมือง และภายใต้บรรยากาศของการเมืองแบบแบ่งขั้วเช่นนี้ ไม่ว่าพรรคใดขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็มีแนวโน้มที่จะถูกต่อต้านได้ทั้งสิ้น

โดยมีประชาชนส่วนน้อยเท่านั้นที่มองโลกในแง่ดี โดยเชื่อว่าการเลือกตั้งจะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองของไทยดีขึ้นขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ดูเหมือนจะเข้าใจธรรมชาติและความเป็นจริงทางการเมืองของสังคมไทย พวกเขาจึงคาดการแนวโน้มจากสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันโดยเห็นว่าความวุ่นวายยังคงมีเหมือนเดิม และอาจจะมีมากกว่าเดิมเสียอีก การเลือกตั้งในทัศนะของคนส่วนใหญ่จึงไม่ใช่วิธีการที่มีประสิทธิผลสำหรับแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของการเมืองไทยในปัจจุบัน ดังนั้น รัฐบาลควรนำความคิดเห็นของประชาชนไปพิจารณาและตัดสินใจลาออกจากการเป็นรัฐบาลรักษาการเพื่อเปิดทางให้มีการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้งอันเป็นเจตนารมณ์ของประชาชนเสียงข้างมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น