xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” ทูลเกล้าฯ ยุบสภา อ้างให้ประชาชนตัดสิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
“ยิ่งลักษณ์” แถลง ทูลเกล้าฯ ยุบสภาแล้ว อ้างเป็นวิถีทางประชาธิปไตย รัฐบาลพยายามแก้วิกฤตเต็มความสามารถแล้ว แต่ฝ่ายค้านยังเล่นนอกสภา และต่างฝ่ายต่างอ้างประชาชน จึงต้องคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสิน



เมื่อเวลาประมาณ 08.45 น.ที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่าได้ทูลเกล้าฯ ยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยแล้ว โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์อ้างเหตุผลว่าการยุบสภาเป็นกระบวนการปกติในระบอบประชาธิปไตย และนับแต่รัฐบาลได้เข้ามาบริหารประเทศเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 ได้พยายามแก้ไขวิกฤตต่างๆ อย่างสุดความสามารถ แต่ประเด็นขัดแย้งต่างๆ ยังคงอยู่ แม้ว่ารัฐบาลได้พยายามสร้างความปรองดองและความเข้าใจ เช่น การตั้งสภาปฏิรูป และล่าสุดได้เสนอให้มีการทำประชามติ แต่พรรคฝ่ายค้านกลับเลือกใช้วิธีการชุมนุมต่อต้านนอกสภา ซึ่งรัฐบาลได้พยายามดำเนินการด้วยความละมุนละม่อมเพราะประเทศเจ็บปวดมามากแล้ว แต่สถานการณ์วันนี้ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่าง ต่างฝ่ายต่างก็อ้างประชาชนจำนวนมาก ดังนั้น การคืนอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ ด้วยการยุบสภา จัดการเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าคนส่วนใหญ่ต้องการแนวทางไหนก็ให้ประชาชนเลือกทางนั้น ทั้งนี้ หลังจากการยุบสภาแล้วรัฐมนตรีทุกคนย่อมพ้นจากตำแหน่ง แต่จะยังอยู่ปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่มารับตำแหน่งต่อไป

คำต่อคำ “ยิ่งลักษณ์” แถลงยุบสภา

“สวัสดีค่ะ พี่น้องประชาชนชาวไทยที่เคารพรักทุกท่าน ดิฉัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขอเรียนแจ้งให้พี่น้องประชาชนทราบว่า จากการที่ดิฉันได้หารือและรับฟังข้อคิดเห็นจากทุกภาคส่วนแล้ว ดิฉันจึงได้ตัดสินใจขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 เพื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย ด้วยเหตุผลดังนี้

1. การยุบสภาผู้แทนราษฎร เป็นกระบวนการตามปกติของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ดั่งที่ปรากฏอยู่ในหลายประเทศที่ใช้ระบอบนี้ ซึ่งประเทศไทยได้ยึดถือธรรมเนียมการปฏิบัติดังกล่าวมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากการที่รัฐธรรมนูญไทย แห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ บัญญัติรองรับการยุบสภาผู้แทนราษฎรไว้แ และได้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วหลายครั้ง เช่น ปี พ.ศ. 2539, พ.ศ. 2543, พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2554

2. ตามที่รัฐบาลได้เข้ามารับหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 นั้น โดยมีภารกิจสำคัญในการแก้ไขวิกฤตการณ์ภายในประเทศหลายประการ ทั้งในเรื่องของมหาอุทกภัย ผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน รวมทั้งการฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศ การพยายามสร้างความปรองดอง ตลอดจนการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งรัฐบาลก็ได้ดำเนินการอย่างสุดความสามารถ แก้ปัญหาต่างๆ จนลุล่วงไปด้วยดี

แต่อย่างไรก็ตาม ในประเด็นด้านความขัดแย้งทางการเมืองนั้น ยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง และถึงแม้รัฐบาลจะพยายามที่จะสร้างความเข้าใจอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการเสนอแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเปิดเวทีปฏิรูปการเมือง หรือแม้กระทั่งล่าสุด การเสนอให้มีการทำประชามตินั้น ก็ยังมีผู้ที่เห็นต่างและคัดค้าน ซึ่งรัฐบาลก็พร้อมที่จะรับฟัง หากการคัดค้านนั้นเป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แต่ปรากฏว่ามีจำนวนผู้คัดค้านจำนวนหนึ่ง รวมทั้งสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน กลับเลือกที่จะใช้วิถีทางการชุมนุมต่อต้านนอกเวทีรัฐสภา ซึ่งรัฐบาลก็ได้ดำเนินการบริหารการชุมนุมอย่างละมุนละม่อม และด้วยท่าทีที่ประนีประนอม อันเป็นการเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นมาโดยตลอด เพื่อรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพราะรัฐบาลไม่ต้องการให้ประเทศ และคนไทยต้องมีการสูญเสีย ด้วยประเทศไทยเรานั้นเจ็บปวดมามากแล้วค่ะ

แต่สถานการณ์ในวันนี้ รัฐบาลได้คำนึงถึงแนวคิดที่แตกต่าง และต่างฝ่ายต่างอ้างว่า เป็นตัวแทนของประชาชนจำนวนมาก ดังนั้นรัฐบาลจึงเห็นว่า ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เมื่อถึงจุดที่มีความคิดขัดแย้ง อาจจะนำมาซึ่งความแตกแยกของคนในชาติ และมีความรุนแรงจนอาจเกิดความสูญเสียขึ้น การคืนอำนาจให้กับประชาชนเป็นผู้ตัดสินด้วยการยุบสภาฯ และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ให้เป็นไปตามวิถีทางที่เป็นไปตามหลักการแห่งระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่า คนส่วนใหญ่ต้องการแนวทางไหน และจะให้ใครมาบริหารประเทศตามแนวทางนั้น รัฐบาลใคร่ขอเชิญชวนให้ทุกกลุ่ม ทุกพรรคการเมือง ที่มีความคิดเห็นแตกต่างหลากหลาย ใช้เวทีในการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย เป็นการนำเสนอทางเลือกต่างๆ ให้กับประชาชนคนไทยทั้งประเทศ

3. เมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว รัฐมนตรีทั้งคณะย่อมพ้นไปจากตำแหน่งไปตามมาตรา 180 (2) ต้องอยู่ในตำแหน่ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรี ที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ซึ่งกำหนดไว้ด้วยว่า คณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรี จะปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็น ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดมาตราดังกล่าว

4. ขอให้ประชาชนทั้งหลายให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะได้หารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง ถึงการกำหนดวันเลือกตั้งให้เร็วที่สุด ทั้งนี้รัฐบาลขอให้ประชาชนทำหน้าที่ และใช้สิทธิเลือกตั้งด้วยความพร้อมเพรียง ใส่ใจ และรอบคอบ เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งหน้านั้น เป็นไปอย่างสุจริต และเที่ยงธรรมที่สุด ซึ่งจะเป็นการแสดงออกถึงเจตจำนงทางการเมือง โดยวิถีทางที่สันติ และวิถีทางตามรัฐธรรมนูญ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกท่าน ขอบคุณค่ะ”




กำลังโหลดความคิดเห็น