ผ่าประเด็นร้อน
ยืนยันออกมาจากปากของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างการแถลงล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ยืนยันว่าเธอไม่ลาออกหรือยุบสภา ขณะเดียวกัน ยืนยันว่าจะไม่ทำตามข้อเสนอของมวลมหาประชาชนที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ ในนามของ เลขาธิการ กปปส.ที่ให้จัดตั้ง “สภาประชาชน” และ “รัฐบาลประชาชน” เพื่อบริหารประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ “การปฏิรูป” โดยเธออ้างว่าไม่มีกฎหมายรองรับ ทำไม่ได้
ขณะเดียวกัน อีกมุมหนึ่งที่น่าจับตาอย่างยิ่งก็คือ การเปลี่ยนตัวผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) จากรองนายกฯ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก มาเป็นรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เพราะนี่คือการ “กระชับอำนาจ” เปลี่ยนตัวบุคคลที่ “ลังเล” ออกไป จากนั้นเอา “สมุนรับใช้หรือขี้ข้า” ที่ไว้ใจได้เข้ามาแทน ประเภทที่รับคำสั่งไปปฏิบัติแบบไม่ลังเล
น่าสนใจตรงที่มีการเปลี่ยนตัวจาก พล.ต.อ.ประชา ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าสถานการณ์กำลังเดินมาถึงจุดที่สำคัญที่ต้องเลือกว่า จะ “รับใช้ต่อ” หรือผ่อนแรงเอาไว้ชั่วคราวก่อน เพราะถ้าเดินหน้านั่นก็หมายความว่าอาจเสี่ยงต่อเสียงประณามว่า “มือเปื้อนเลือด” ต้องรับผิดชอบในทางกฎหมายในอนาคต ไม่อยากเสี่ยง เอาอดีตชีวิตราชการมาแปดเปื้อน หรืออีกด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะ “ถูกปลด” จากอาการ “ลังเล” ไม่ยอมทำตามคำสั่งให้ “ปราบ” ให้เด็ดขาดเข้มข้นเพื่อรักษาอำนาจของรัฐบาล รักษาอำนาจของระบอบทักษิณ เอาไว้ จึงนำมาสู่การเปลี่ยนตัว
แน่นอนว่าสำหรับชื่อของ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล การันตีได้ถึงความซื่อสัตย์ ทำหน้าที่ได้ไม่ต่าง “ขี้ข้า” ดังได้เห็นจากผลงานในอดีตไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอำนวยความสะดวกให้กับ ทักษิณ ชินวัตร ในต่างแดน ใช้ตำแหน่งหน้าที่ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศส่อไปในทางรับใช้บุคคลและคนและบางครอบครัวเท่านั้น ถูกมองว่าไม่ได้ทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่
เมื่อพิจารณาจากคำยืนกรานของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ที่ไม่ว่าจะวกวนแค่ไหน แต่สุดท้ายก็จับใจความสำคัญได้ว่าจะไม่ทำตามข้อเสนอใดๆ ทั้งสิ้น นั่นคือ ไม่ยุบภา ไม่ลาออก และปฏิเสธการร่วมกันจัดตั้ง “สภาประชาชน” อ้างทำไม่ได้ทางกฎหมาย หรือไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ความหมายที่เข้าใจคือ “ไม่ทำอะไร” จะยืนยันอยู่ในสถานะเดิมแบบนี้ต่อไป
ขณะเดียวกัน เมื่อมาบวกกับตัวบุคคลที่ทำหน้าที่พิทักรับใช้ระบอบทักษิณ อย่างแข็งขัน อย่างผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ซึ่งนาทีนี้อาจถือว่าเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตัวจริงไปแล้วก็ได้ รวมไปถึง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ที่ในทางที่รับรู้กันก็คือเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฝ่ายตำรวจถือว่าทั้งสองคนดังกล่าวเป็นกลไกสำคัญที่สุดของรัฐบาลนี้ เพราะอย่างที่รู้กันก็คือพวกเขาก็มี “เดิมพันสูง” หากระบอบทักษิณถูกขจัดออกไปก็ย่อมรู้ชะตากรรมดีว่าจะเป็นอย่างไร
ดังนั้น เมื่อผนวกรวมกันทั้งท่าทีของนายกรัฐมนตรี และการเปลี่ยนตัวบุคคลสำคัญรวมทั้งคนที่มีอยู่เดิมทำให้น่าจับตาว่านี่คือการส่งสัญญาณปราบปรามประชาชนผู้ต่อต้านอย่างรุนแรงกำลังจะตามมาหรือไม่ เพราะเท่าที่เห็นรายชื่อล้วนแล้วรับประกันได้ถึงความซื่อสัตย์ ยอมรับใช้แบบถวายหัว เพราะต่างคนได้ประโยชน์ ถ้าถูกขับไล่ออกไป มันก็เหมือนกับการ “ถูกทุบหม้อข้าว” จึงต้องดิ้นรนสู้ให้นานที่สุด
ขณะเดียวกัน คำถามก็คือ ฝ่ายประชาชนจะยืนระยะได้นานแค่ไหน และที่สำคัญจะมีตัวแปรอื่น อย่างเช่นพรรคประชาธิปัตย์ และกองทัพ ว่าจะเลือกยืนข้างไหน!!