xs
xsm
sm
md
lg

“ศิริโชค” แฉ บ.ปุ๋ยให้บ้าน-ที่ดิน “อำมาตย์เต้น” - เจอท้าโชว์หลักฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ อดีต รมช.เกษตรฯ
“ศิริโชค” จัดหนัก “ณัฐวุฒิ” รับสินบนบ้าน-ที่ดิน บ.ปุ๋ย แลกโครงการในกระทรวงเกษตรฯ ด้าน “อำมาตย์เต้น” ยันมีบ้านหลังเดียวได้จากน้ำพักน้ำแรง แต่ยอมรับรู้จัก “นางนกต่อ” จริง ท้าหากมีหลักฐานทุจริตจริง พร้อมเดิมพันชีวิตการเมือง

วันนี้ (27 พ.ย.) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล นายศิริโชค โสภา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายนายกรัฐมนตรีฐานปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต โดยนำหลักฐานการแจ้งความที่ต่อมามีการถอนคดีไปแล้ว ของนางภัทราพัฒน์ รุ่งเรืองโรจน์ ที่ปรึกษาฝ่ายการตลาดของ “บริษัท ม.” จำหน่ายปุ๋ยและเคมีการเกษตรแห่งหนึ่ง ไปร้องทุกข์ต่อ สน.บางพลัด ระบุว่าบริษัทดังกล่าวพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้บริษัทได้รับโครงการของกระทรวงเกษตรฯ จึงได้นำเงินไปมอบให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในกระทรวงเกษตรฯ และนำเงินอีกส่วนหนึ่งไปซื้อที่ดิน โฉนดเลขที่ 218 และสิ่งปลูกสร้างเป็นบ้านเลขที่ 337/47 ต.ท่าทราย สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี โดยในวันที่ 18 ธ.ค.ได้มีการโอนให้นางศิริสกุล ใสยเกื้อ ภรรยานายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ แต่ระบุชื่อนางเพ็ญแข เจตประสิทธิ ไว้ในโฉนดไว้แทน

จากการตรวจสอบพบว่า บ้านดังกล่าวอยู่ในโครงการเศรษฐศิริ ของบริษัท แสนสิริกรุ๊ป และอยู่ใกล้เคียงกับบ้านเลขที่ 337/72 ที่เป็นของนายณัฐวุฒิ ตามที่ได้แจ้งไว้ในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช และเมื่อตรวจสอบต่อไปก็พบว่า นางเพ็ญแขผู้ที่มีชื่อในโฉนด เคยเป็นภรรยาแต่ยังอยู่บ้านเดียวกับนายสมหวัง อัสราษี อดีตเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ในช่วงที่นายณัฐวุฒิดำรงตำแหน่ง และยังพบว่าที่ดินและบ้านดังกล่าวมีการซื้อจากบริษัท แสนสิริ ในราคาเพียง 4.5 ล้านบาท ทั้งที่ในปี 2548 ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้บริษัทแสนสิริซื้อจากเจ้าของเดิมมาในราคา 6.2 ล้านบาท

นายศิริโชคได้โยงให้เห็นว่า บ้านหลังนี้แม้จะมีชื่อของนางเพ็ญแขถือครอง แท้จริงเป็นบ้านของนายณัฐวุฒิที่ได้รับเป็นสินบนแลกกับการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทจำหน่ายปุ๋ยและเคมีเกษตรดังกล่าวเพื่อให้ได้งานในกระทรวงเกษตรฯ โดยยังพบหลักฐานการสั่งแอร์มาติดตั้ง รวมถึงบิลค่าจ้างต่อเติมบ้าน ที่ระบุชื่อ “น้องแก้ม” ซึ่งเป็นชื่อเล่นของภรรยานายณัฐวุฒิ รวมถึงบิลรายการค่าแรงทำสวนที่ระบุว่า “ค่าแรงทำสวนคุณณัฐวุฒิ”

“เรื่องนี้รัฐมนตรีต้องรับทราบ ท่านอาจไม่ได้ทำเองทั้งหมด และที่ผ่านมานายกพูดกับประชาชนว่าจะต่อต้านคอร์รัปชั่น ที่ไหนมีจะดำเนินการ เรื่องนี้เกิดกับบุคคลใกล้ตัว เกิดกับคนสนิทใกล้ตัว เป็นลูกน้องใต้บังคับบัญชาอยู่ใน ครม.เดียวกัน อยู่ใต้ตำตา หลักฐานที่นำมาไม่ได้สร้างขึ้น แต่มีการแจ้งความไว้แล้ว แต่มีการยอมความกัน จึงกล้าบอกท่านประธานว่าญัตติที่ฝ่ายค้านยื่นนั้นเป็นการยื่นอภิปรายนายกในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจ และมีการแจ้งความไว้แล้ว ทำไมปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต รู้แล้วทำไมไม่ดำเนินการ จึงถือว่าจงใจปกปิด และส่งสริมการุทุจริตคอร์รัปชัน”

นายณัฐวุฒิได้ใช้สิทธิถูกพาดพิงชี้แจงว่า ยินดีที่จะรับการตรวจสอบ แต่ไม่นึกว่าจะใช้วิธีการแบบนี้ บ้านเลขที่ 337/72 คนรู้ทั้งโลกว่าเป็นบ้านตน ซื้อเมื่อปี 48 ด้วยน้ำพักน้ำแรง เป็นนักพูด เป็นอาจารย์ เดี๋ยวนี้ยังผ่อนอยู่ บ้านนี้อยู่มาจนปัจจุบัน ส่วนบ้านเลขที่ 337/47 ที่ฝ่ายค้านยกขึ้นอ้างว่าเป็นบ้านของตนนั้น ก่อนปี 2555 บ้านหลังนี้เป็นของใครตนไม่ทราบ แต่นางเพ็ญแขซึ่งเป็นภรรยาของนายสมหวังที่ตนสนิทสนม และนางเพ็ญแขก็สนิทสนมกับภรรยาของตน ไปมาหาสู่กันและพบว่าบ้านหลังดังกล่าวประกาศขายก็สนใจ รวมถึงเห็นว่าในอนาคตพื้นที่บริเวณดังกล่าวจะมีรถไฟฟ้าจึงได้ติดต่อขอซื้อไว้ ซึ่งความจริงนางเพ็ญแขทำธุรกิจ มีเงินหมุนเวียนมาก สามารถที่ซื้อบ้านหลังใหญ่กว่านี้ก็ทำได้ แต่เมื่อซื้อบ้านหลังนี้แล้วตัวเองพักอาศัยอยู่ในเขตทุ่งครุ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะฝากให้เพื่อนสนิทซึ่งก็คือภรรยาของตนช่วยดูแลในเรื่องการตกแต่ง โดยที่นางเพ็ญแขเป็นคนจ่ายค่าตกแต่งนั้น

“ขั้นตอนการไปซื้อไปหาผมไม่รู้เรื่อง และไม่รู้ว่าจะเป็นประเด็นที่นำมาอภิปราย เมื่อไปซื้อบ้านหลังนี้ ราคาประเมินเป็นอย่างไรไม่ทราบเพราะไม่คิดว่าจะมีการนำมาอภิปราย แต่เมื่อซื้อแล้วเขาก็เห็นว่าบ้านผมอยู่ใกล้ มันจะแปลกอะไร ที่จะมอบหมายให้เพื่อนช่วยดูแลการตกแต่ง บริษัทแอร์ที่มาติดตั้ง บ้านผมก็สั่งติดตั้งด้วย เขาก็ต้องลงชื่อคนติดต่อให้ติดตั้งในบิล ก็เท่านั้น ส่วนที่ลงบิลทำสวนบ้านผม หญ้าบ้านผม เป็นหญ้าธรรมชาติ ภาคใต้เขาเรียกหญ้าปลักควาย พอฝนตกก็เปียกแฉะ ก็เลยให้ช่างมาปรับปรุงเปลี่ยนเป็นหญ้าเทียม ก็เลยรวมในบิลเรียกเก็บเงินบิลเดียวกัน”

นายณัฐวุฒิยังกล่าวอีกว่า ตัวละครที่ฝ่ายค้านนำมาอภิปรายนั้น อยากให้ไปตรวจสอบว่าที่นางภัทราพัฒน์ที่ไปร้องทุกข์ว่าไปเอาเงินจากบริษัทแห่งหนึ่งมาให้ตนเพื่อหาประโยชน์ อยากให้ไปดูให้ดีเรื่องนี้ใครแจ้งความใคร ใครเป็นคนเสียหาย นางภัทราพัฒน์มีประวัติถูกจับคดีฉ้อโกงเป็นหางว่าว ไม่ไดู้หรือว่านางภัทราพัฒน์เป็นโจทก์หรือจำเลย ยอมรับว่านางภัทราพัฒน์เคยมาพบตนโดยผ่านคนใกล้ชิดของตนเองคนหนึ่ง ซึ่งนางภัทราพัฒน์อ้างว่ามีความเดือดร้อนอยากให้ช่วยเหลือ ก็พูดคุยคบหาไปมาหาสู่กันระยะหนึ่ง เขาก็พาเจ้าของบริษัทนี้มาพบ แต่พูดคุยกันไปตนก็รู้สึกแปลกๆ ว่าทำไมนางภัทราพัฒน์กับเจ้าของบริษัทคุยกันเหมือนไม่สนิทกัน จึงถามเจ้าของบริษัททำให้ทราบว่านางภัทราพัฒน์ไปอ้างตัวว่าเคยเป็นเลขาฯ ส่วนตัวของตน และบริษัทมีการจ่ายเงินจ่ายทองให้นางภัทราพัฒน์ ซึ่งตนก็ได้แจ้งให้เจ้าของบริษัทดังกล่าวทราบว่าไม่เคยรู้จักหรือเกี่ยวกับข้องนางภัทราพัฒน์มาก่อน รวมทั้งแนะนำให้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับนางภัทราพัฒน์ด้วย

“กรณีที่เกิดขึ้นจะเอามาอ้างเป็นสินบนจ่ายตอบแทนเพื่อให้ผมหาประโยชน์ให้บริษัทดังกล่าว ผมยืนยันว่าตั้งแต่เข้ามามีตำแหน่งทางการเมือง ไม่เคยใช้อำนาจหน้าที่ตำแหน่งทางการเมืองเอื้อประโยชน์ใด ให้บริษัทนี้แม้สตางค์แดงเดียว ถ้ามีหลักฐานว่าไปเอื้อ อย่าว่าจะลาออกจากรัฐมนตรี จะลาออกจาก ส.ส. เลิกเล่นการเมืองชั่วชีวิต แต่ถ้าหาไม่ได้ รับคำท้าผมไหม พูดกันให้ชัดสิว่าผมเป็นรัฐมนตรีเกษตรฯ เอื้อประโยชน์ให้ใครเขา แล้วอย่างที่บอกกรณีนี้เป็นคดีความอยู่ในศาล ก็ว่ากันไปแต่ถ้าประสงค์จะยืนยันว่าผมเกี่ยวข้อง ผมก็พร้อมที่จะต่อสู้ในศาลให้ถึงที่สุดเพื่อปกป้องตัวผม ภรรยาผมเหมือนกัน”

ด้านนายศิริโชคจึงได้ยืนยันอีกครั้งว่า รู้ดีว่านางภัทราพัฒน์ และบริษัท ม. มีการแจ้งความดำเนินคดีกันไปมา และตนเองมีเอกสารการแจ้งความของทั้งสองฝ่าย ซึ่งกรณีนี้จะไม่เป็นเรื่องแดงขึ้นมาหากไม่มีการหักหลังกัน และนายณัฐวุฒิก็ได้รับสารภาพกลางสภาแล้วว่ารู้จักและคบหานางภัทราพัฒน์ ไปมาหาสู่กัน แล้วอย่าเอาเรื่องฟ้องร้องมาขู่ เพราะตามข้อบังคับพูดอภิปรายกันในสภาไม่สามารถฟ้องได้ หรือถ้าจะฟ้องตนก็ไม่กลัว

นายณัฐวุฒิโต้ว่า ดูเหมือนนายศิริโชคพยายามทำให้สังคมเข้าใจว่าตนหาผลประโยชน์ ตนไม่เคยหาผลประโยชน์ใดๆ ขอให้ไปหามาว่ามีงานไหนบ้างที่ตนไปคุยกับบริษัทดังกล่าวแล้วตั้งท่าว่า ถ้าไม่จบบริษัทนี้ก็ต้องคุยบริษัทอื่นต่อ บอกว่าบ้านซื้อในเดือนธันวาคมปี 2555 ตนได้รับมอบหมายปรับ ครม.ย้ายจากกระทรวงเกษตรฯ ตั้งแต่เดือนตุลาคม ไปอยู่กระทรวงพาณิชย์ในเดือนธันวาคม ลองคิดดูว่าบริษัทเอกชนยินดีจ่ายผลประโยชน์ให้ตนหรือไม่ หากไม่มีอำนาจหน้าที่แล้ว ถ้าจะคุยก็ต้องคุยตั้งแต่อยู่กระทรวงเกษตรแล้ว

“ผมย้ายมากระทรวงพาณิชย์ได้เดือนเศษๆ จะมีฤทธิ์เดชหาผลประโยชน์ได้อย่างไร งานที่รับมาดูแลก็กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมทรัพย์สินทางปัญญา จะหาประโยชน์ไหนไปล่อตาเอกชนจนควักกระเป๋าใหญ่ๆ ให้ ขอให้ไปหามาว่าบริษัทนี้เคยได้งานอะไรในเครือข่ายอำนาจหน้าที่ของผม เคยมาตกลง เคยพูดงานใดๆ ที่ได้ผลประโยชน์ในช่วงที่ผมรับผิดชอบหรือไม่ เชื่อว่าประชาชนจะตัดสินใจได้” นายณัฐวุฒิกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น