โฆษกเพื่อไทยพร้อมฝ่ายกฎหมายถุงขนม 2 ล้าน แถลงเรียกแขก ซัด “สุเทพ” นำมวลชนปิดล้อมสถานที่ราชการไม่เคารพกฎหมาย ป่าเถื่อน ไม่ได้ยึดหลักอหิงสา ทำตัวเหมือนหัวหน้าโจร เตรียมร้องดีเอสไอ-กองปราบเล่นงาน เย้ย ปชป.ซักฟอกนายกฯ ไม่มีหมัดเด็ด
วันนี้ (27 พ.ย.) นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย และนายพิชิต ชื่นบาน คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงข่าวต่อกรณีที่ศาลอาญาออกหมายจับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำประชาชนต่อต้านระบอบทักษิณ ว่าแทนที่นายสุเทพจะสำนึกเกรงกลัว กลับยังปฏิบัติการที่ไม่เคารพกฎหมายนำมวลชนไปปิดล้อมสถานที่ราชการอีกหลายแห่ง รวมถึงปลุกระดมให้ประชาชนไปยึดศาลากลางจังหวัด ซึ่งถือเป็นการกระทำป่าเถื่อนไม่ได้ยึดหลักอหิงสาตามอย่างที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ โดยขณะนี้พบว่าในหลายจังหวัดของภาคใต้ เช่น ระนอง พังงา สตูล มีบุคคลที่ใกล้ชิดนักการเมืองทำตัวเป็นแกนนำ นำประชาชนไปบุกยึดศาลากลางแล้ว
“เวลานี้นายสุเทพไมได้ตั้งตัวเป็นหัวหน้ามวลชนเรียกร้องรัฐบาลด้วยเหตุด้วยผลอีกแล้ว แต่ทำตัวเหมือนหัวหน้าโจร ที่มาเรียกร้องให้รัฐบาลทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งประชาชนไม่ควรไปหลงเชื่อการชี้นำของนายสุเทพ เพราะจะกลายเป็นการทำผิดกฎหมาย และเรื่องนี้ผมจะได้รวมรวมหลักฐานการกระทำผิดของนายสุเทพ และแกนนำในต่างจังหวัดที่นำประชาชนบุกยึดศาลากลางเพื่อจะยื่นให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ และกองปราบปรามดำเนินการเอาผิดกับคนเหล่านี้ให้เร็วที่สุด” นายพร้อมพงศ์กล่าว
นายพร้อมพงศ์ยังกล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ตลอด 2 วันเห็นว่านายกรัฐมนตรีสามารถตอบข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านได้อย่างชัดเจน ตรงประเด็น รวมถึงข้อมูลที่ฝ่ายค้านนำมาอภิปรายก็เป็นข้อมูลเก่าที่อภิปรายกันซ้ำซาก ไม่มีหมัดเด็ดอะไรที่จะน็อก น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายปลอดประสพ สุรัสวดี นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณได้เลย ดังนั้นเชื่อว่าการโหวตลงมติของพรรคเพื่อไทย ในวันพรุ่งนี้ ไม่น่าจะมีปัญหา
ด้านนายพิชิตกล่าวว่า การที่ศาลอาญาออกหมายจับนายสุเทพ และขณะนี้ทีมกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่าจะมีการยื่นอุทธรณ์นั้น ในทางกฎหมายแล้วยืนยันไม่สามารถทำได้ เพราะมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 479/2555 ที่รองผู้บังคับการพระนครศรีอยุธยา ออกหมายจับนายสุนัย มโนมัยอุดม อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นบรรทัดฐานไว้แล้วว่า การที่พนักงานสอบสวนขอออกหมายจับถือเป็นอำนาจพิเศษที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นมีอำนาจออกหมายจับตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 66 และมาตรา 59/1 จึงไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายให้ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 193 เพราะจะทำให้การดำเนินการของกระบวนการยุติธรรมประสบอุปสรรคและเกิดความล่าช้า ดังนั้น ณ เวลานี้สิ่งที่นายสุเทพซึ่งเคยเป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงควรจะทำ คือ การเข้าสู่กระบวนการของกฎหมาย เพราะไม่ว่าจะหลีกเลี่ยงอย่างไร ในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ นายสุเทพ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ต้องเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดี 99 ศพ ต่ออัยการสูงสุดอยู่แล้ว