xs
xsm
sm
md
lg

“ปึ้ง-เพ้ง” โต้แหลก หลัง ปชป.ซัดแก้ ม.190 เอื้อแม้วบุกเบิกธุรกิจพลังงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน (แฟ้มภาพ)
“สรรเสริญ” เชื่อแก้ รธน.190 เข้าทางแม้ว ชี้ตามข่าวพเนจรรอบโลก มีมูลเหตุเชื่อมโยงกลุ่มธุรกิจพลังงาน “ปึ้ง” บอกอย่ากังวล ดองพลังงานพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย-เขมรแล้ว ด้าน “เฮียเพ้ง” อ้างแม้วบอกเอาไปเลย 100 ล้าน ถ้ามีข้อมูลลงทุนกับเขมรจริง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 26 พ.ย. เมื่อเวลา 22.00 น. การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นไปอย่างเข้มข้น เมื่อนายสรรเสริญ สมะลาภา ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายกล่าวพาดพิง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จนส่งผลให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยต้องประท้วงเป็นระยะ

นายสรรเสริญกล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ใหม่หากมีผลบังคับใช้จะมีผลให้การเจรจาระหว่างประเทศทั้งในเรื่องเขตแดนและเศรษฐกิจจะไม่ต้องการพิจารณาเห็นชอบจากรัฐสภา แต่คณะรัฐมนตรีจะสามารถพิจารณาได้เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งขณะนี้ไทยและกัมพูชากำลังมีการเจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเลในพื้นที่อ่าวไทย เพราะมีการอ้างสิทธิทับซ้อนกันอยู่ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวธนาคารโลกได้ประเมินตัวเลขทางเศรษฐกิจจะมีผลประโยชน์ถึง 5 ล้านล้านบาท จึงมีความเป็นห่วงว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณที่มีความคิดจะทำธุรกิจพลังงาน

นายสรรเสริญกล่าวว่า จากการตรวจสอบข่าวสารในรอบหลายปีที่ผ่านมาพบว่ามีความเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญ เริ่มตั้งแต่นายโมฮัมหมัด อัลฟายเอ็ด เจ้าของห้างสรรพสินค้าแฮร์รอดส์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีความสนิมสนมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ก่อตั้งแฮร์รอดส์ เอ็นเนอร์ยี (ประเทศไทย) เพื่อรับสัมปทานขุดเจาะน้ำมัน ก๊าซ ร่วมกับบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ.เมื่อปี 2541 ต่อมาในปี 2547 บริษัทเพิร์ล เอ็นเนอร์ยี่ ซื้อกิจการ แฮร์รอดส์ เอ็นเนอร์ยี และเปลี่ยนชื่อเป็นเพิร์ลออย (ประเทศไทย) จากนั้นในปี 2551 บริษัทลงทุนของรัฐบาลอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ชื่อ มูบาคาลา เข้ามาซื้อกิจการของบริษัท เพิร์ลเอ็นเนอร์ยี่ ซึ่งในปีเดียวกันนั้น พล.อ.เตีย บัญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชาได้ให้สัมภาษณ์ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะลงทุนในธุรกิจพลังงาน และพบอีกว่าบริษัทเพิร์ลออย (ประเทศไทย) ได้ย้ายสำนักงานจากไทยพาณิชย์ปาร์ค พลาซา ไปอยู่อาคารชินวัตร 3

ส.ส.กทม.อภิปรายว่า บริษัท มูบาคาลา มีผู้บริหารระดับสูงชื่อ ชีค โมฮัมหมัด บินซาเยด อัล นาร์ยาน และเป็นพี่ชายของ ชีค มานซูร์ บิน ซาเยด อัลนาห์ยาน ที่เข้าซื้อกิจการสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี จาก พ.ต.ท.ทักษิณ ในราคาประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ทั้งที่ พ.ต.ท.ทักษิณได้ซื้อกิจการมาในราคาเพียง 5 พันล้านบาทเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของ พ.ต.ท.ทักษิณที่มีต่อกลุ่มธุรกิจพลังงาน

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ ชี้แจงว่า การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลอ่าวไทยระหว่างไทยกับกัมพูชาในเวลานี้ รัฐบาลไทยไม่ได้มีการดำเนินการแต่อย่างใด เพราะทราบดีว่าเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวและต้องศึกษาให้รอบคอบ ทั้งนี้ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2544 รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ได้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อลงนามในเอ็มโอยูเกี่ยวกับการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา แต่ต่อมาในปี 2552 รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 พ.ย.เพื่อยกเลิกมติ ครม.ดังกล่าว ซึ่งทำให้จนถึงขณะนี้การเจรจาพื้นที่ทางทะเลจึงยังไม่มีความคืบหน้า

“การกล่าวหาบุคคลสำคัญของยูเออีอาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงอยากเรียกร้องให้เลิกเอาการเมืองในประเทศไปเชื่อมโยงกับกิจการระหว่างประเทศด้วย เพราะในระยะยาวจะส่งผลเสียได้” นายสุรพงษ์กล่าว

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน กล่าวว่า รัฐบาลไทยไม่เคยมีความคิดที่จะมีมาตรการเพื่อเอื้อประโยชน์ในด้านกิจการพลังงานอย่างหนึ่งอย่างใดให้กับชีค โมฮัมหมัด บินซาเยด อัล นาร์ยาน ผู้บริหารบริษัทมูบาคาลา และที่ผ่านมาก็พบว่าได้ประกอบธุรกิจทั่วโลกด้วยความสุจริตมาตลอด ส่วนเรื่องการซื้อขายสโมสรฟุตบอลในราคาที่มีส่วนต่างกันจำนวนมากนั้นก็ไม่ได้ถือว่ามีความผิดปกติ เพราะเป็นเรื่องของการมีวิสัยทัศน์ในด้านการสร้างโอกาสทางธุรกิจ โดยหลังจากที่ได้ซื้อสโมสรฟุตบอลไปจาก พ.ต.ท.ทักษิณ พบว่ากิจการของชีค มานซูร์ บิน ซาเยด อัลนาห์ยาน ในประเทศอังกฤษมีกำไรประมาณแสนล้านบาท

“ทุกวันนี้ผมเองระวังตัวเป็นอย่างมากและไม่กล้าที่จะเดินทางไปกัมพูชา เพราะกลัวจะกลายเป็นประเด็น และ พ.ต.ท.ทักษิณ เคยบอกกับผมว่าหากใครพบว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีการลงทุนในกิจการพลังงานในส่วนของกัมพูชาให้มาเอาเงิน 100 ล้านบาทไปได้เลย” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น