xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ยอมรับศาลรัฐธรรมนูญ เท่ากับคนพวกนี้เป็น “กบฏ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สะเก็ดไฟ


ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกไม่ได้ดังนั้นอาณาเขตใต้ดิน บนดิน บนฟ้าของประเทศไทยจึงเป็นอธิปไตยของปวงชนชาวไทยทุกคน

การใช้อำนาจสิทธิเสรีภาพเพื่อแสวงหาประโยชน์สุขของเจ้าของอำนาจอธิปไตยแต่ละคนจะต้องเป็นไปอย่างทั่วถึง และเป็นธรรม ประเทศไทยจึงมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นกฎหมายสูงสุด โดยให้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล จึงจำเป็นจะต้องใช้หลักการของการถ่วงดุลซึ่งกันและกันให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง เพราะหากเกิดการแทรกแซงหรือล้วงลูกของการใช้อำนาจแต่ละฝ่ายได้จะทำให้ขาดดุลยภาพ

ทำให้ประชาชนเจ้าของอำนาจไม่ได้รับประโยชน์อย่างเป็นธรรม

ดังนั้น เพื่อให้การบริหารอำนาจเกิดดุลยภาพรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 3 วรรค 2 จึงได้บัญญัติให้การปฎิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญยังบัญญัติให้ผู้มีตำแหน่งระดับสูงในฝ่ายต่างๆ ต้องเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน ว่าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ

ล้วนเป็นมาตราการณ์ตามหลักการสร้างดุลยภาพและการถ่วงดุลยอำนาจทั้งสิ้น แต่ในทางปฏิบัติจริง ผู้ใช้อำนาจโดยเฉพาะฝ่ายบริหารมีการแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อผลประโยชน์ของตนอย่างที่เห็นได้ชัดเจน เช่น การออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว. รวมทั้งการออกพระราชบัญญัติให้กระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ไม่มีส่วนใดที่มุ่งไปสู่การจัดสรรประโยชน์สูงสุดให้ประชาชนและประเทศชาติอย่างเป็นธรรม ซึ่งถ้าหากได้ปฏิบัติตามหลักการของการถ่วงดุลอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ คงไม่เดือดร้อนให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องออกมาวินิจฉัยว่าการกระทำของรัฐสภาในกรณีแก้ที่มาของ ส.ว.มิได้เป็นไปตามหลักนิติธรรมอย่างที่ปรากฏ

เมื่อการดำเนินการของผู้ใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ยึดหลักนิติธรรม จึงทำให้ประโยชน์และความเป็นธรรมของประชาชนเจ้าของอำนาจเสียหายอย่างชัดเจน เช่น ผลกระทบในด้านเศรษฐกิจจะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยากจนลงมีหนี้สินผูกพันเพิ่มมากขึ้น ทรัพยากรขาดการบริหารจัดการที่เป็นธรรมเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชน

“หลักนิติธรรม” ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้ให้คำอธิบายไว้ในคำวินิจฉัยที่ผ่านมามีใจความว่า หลักนิติธรรมนั้นเป็นหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติ เป็นความเป็นธรรมที่บริสุทธิ์ปราศจากอคติโดยไม่มีผลประโยชน์ส่วนตนเข้ามาเกี่ยวข้อง และไม่แอบแฝง หลักนิติธรรมเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของกฎหมายที่อยู่เหนือบทบัญญัติของกฎหมาย ที่เป็นลายลักษณ์อักษร

ดังนั้น การบริหารอำนาจที่ไม่ยึดหลักนิติธรรมมีแต่จะทำให้ระบบการถ่วงดุลยเสียหายเสียความสมดุล

กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย คำวินิจฉัยนั้นต้องเป็นเด็ดขาด และมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐตามรัฐธรรมนูญ แต่ยังมีคนผู้ใช้อำนาจบางฝ่ายซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารรวมทั้งผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติออกมาแถลงต่อสาธารณะว่าจะไม่ยอมรับ หรือไม่ยอมปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ลักษณะเช่นนี้ต้องถือว่า กลุ่มผู้ใช้อำนาจเหล่านั้นนอกจากไม่ได้ปฏิบัติตนตามหลักนิติธรรม และไม่ได้ปฏิบัติตามคำถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระประมุขแล้ว ยังทำให้เห็นได้ว่าเป็น “ผู้กบฏต่อรัฐธรรมนูญ” ได้

รวมทั้งทำให้มองไปได้ว่า เป็นผู้ที่ไม่ยึดหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น