xs
xsm
sm
md
lg

“นักวิชาการแดง” เหน็บ “สุรพล-สมคิด” นักกฎหมายบัดซบ-ส.ว.ทาสหัวหมอแนะแยกสู้คดีเสียบบัตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอกชัย ไชยนุวัติ (ภาพจาก dangdd.com)
กลุ่ม ส.ว.ทาสสุมหัวเอาตัวเองรอดถูก ป.ป.ช.ฟันชำเรารัฐธรรมนูญ นักวิชาการแดงอ้างศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจ อ้าง ส.ว.ใช้สิทธิเสรีภาพแต่ถูกหาว่าเป็นหน้าที่ เหน็บ “สุรพล-สมคิด” บัดซบ นักวิชาการอีกรายแย้มถ้า “นิคม” ไม่ส่งเรื่อง ป.ป.ช.อธิบายได้ ส.ว.ตราด หัวหมอ เสนอแยกการต่อสู้คดีเสียบบัตรแทนกัน อ้างไม่ได้เป็นฝ่ายเสียบ

วันนี้ (25 พ.ย.) ที่รัฐสภา กลุ่ม ส.ว.เลือกตั้ง นำโดย นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ส.ว.ชลบุรี ได้จัดเสวนาชำแหละคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และทางออก ส.ว.เลือกตั้งลงชื่อในญัตติ โดยมี นายเอกชัย ไชยนุวัติ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม นักวิชาการผู้สนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดง และนายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการอิสระ ร่วมเสวนาและตอบคำถามของ ส.ว.ที่เข้าร่วมจำนวน 31 คน

โดย นายเอกชัย กล่าวว่า ตนได้คุยกับ นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ต่อประเด็นมีผู้ยื่นถอดถอนสมาชิกรัฐสภา ทั้ง 312 คนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยนายนิคมระบุว่าต้องการจะไปชี้แจง เพราะเป็นหน้าที่ ส่วนตัวมองว่าต้องให้ ส.ว.หารือกันให้ตกผลึก เพราะกลุ่มมวลชนที่ชุมนุมได้เล่นเกมไล่กันเป็นวินาที ทั้งนี้ประเด็นสำคัญเขาไม่ต้องการให้ถึง ป.ป.ช.แต่ต้องการให้จบภายใน 3 วัน โดยดึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจไว้ วันนี้ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ความวุ่นวายภายในประเทศ จนเกิดวิกฤตขั้นสุดท้ายคือ เนื่องจาก ส.ว.ไม่รับอำนาจศาล กลุ่มผู้ชุมนุมก็จะไม่รับอำนาจ ส.ว.ก็จะจบเกม อีกทั้งวิกฤตที่เกิดขึ้นต้องใช้นายกฯพระราชทานตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ทั้งนี้ได้มีการเตรียมบุคคลชื่ออักษร ย่อ “อ.” หรือ“พ.” ตัวดำๆ ซึ่งเป็นนักกฎหมาย ไว้แล้ว

นายเอกชัย กล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยว่า ส.ว.ต้องยืนยันกับสื่อมวลชนว่าการใช้เจตนารมณ์เสียบบัตรนั้นเป็นอำนาจสถาปนาแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ห้ามใช้คำว่าอำนาจนิติบัญญัติ เพราะหากใช้คำว่าอำนาจนิติบัญญัติ แปลว่าออกกฎหมายทั่วไป เช่น พ.ร.บ.โดยศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจเต็มทั้งก่อนและหลังในการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของร่าง พ.ร.บ.ต้องย้ำ สิ่งที่ต้องพูดศาลไม่มีอำนาจจรวจสอบอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญต้องมาจากประชาชน สิ่งที่ทำไม่ได้ออกกฎหมายใต้รัฐธรรมนูญ แต่คือการแก้รัฐธรรมนูญ ดังนั้นไม่มีใครในโลกที่จะมาตรวจสอบควบคุมการกระทำใดๆ ของ ส.ว.ฐานะตัวแทนประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเว้นคน 1 คน ทั้งนี้ต้องไม่พูดว่าไม่ยอมรับอำนาจศาล เพราะการไม่ยอมรับอำนาจศาล ถือว่าเป็นกบฏ แต่ต้องบอกว่าศาลไม่มีอำนาจ

“คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่โยงไปรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ท่านต้องโยงไปมาตรา 130 ที่ระบุว่าการแสดงความเห็นหรือออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมสภา, วุฒิสภา หรือประชุมร่วมรัฐสภาเป็นเอกสิทธิ์เด็ดขาดของสมาชิก ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องกล่าวว่าสมาชิกผู้นั้นในทางใดไม่ได้ และเมื่อเขาลากไป ป.ป.ช.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 แต่เมื่อศาลตัดสินว่า ส.ว.เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ แต่ข้อเท็จจริงตามมาตาม 270 วรรคหนึ่งไม่มีระบุคำว่าสิทธิ และเสรีภาพแม้แต่คำเดียว มีแต่หน้าที่ อำนาจหน้าที่ ตำแหน่งหน้าที่ ดังนั้นเมื่อศาลตัดสินว่า ส.ว.ใช้สิทธิ เสรีภาพ แต่ นายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ไปฟ้องต่อ ป.ป.ช.เพราะใช้อำนาจหน้าที่ ผมมองว่าเรื่องนี้ไม่มีอะไรยากหากเราทำตามกฎเกณฑ์ แต่ที่เป็นปัญหาคือความบัดซบของอาจารย์นักกฎหมาย เช่น นายสุรพล นิติไตรพจน์ ที่ตีความเข้ามาตรา 68, ความบัดซบของ นายสมคิด เลิศไพทูรย์ ที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญนี้อย่างไร” นายเอกชัย กล่าว

ด้าน นายวีรพัฒน์ กล่าวว่า ตามที่มีผู้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 271 ดำเนินการยื่นถอดถอนสมาชิกรัฐสภา 312 คนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 ต้องพิจารณากระบวนการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่ระบุให้ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องตามคำร้องให้ ป.ป.ช.พิจารณาตรวจสอบโดยเร็ว ตนมองว่าต้องมีการเตือนนายนิคมว่าอย่าหลับหูหลับตาส่งไปให้ทันที เนื่องจากมาตรา 272 ระบุให้พิจารณาตามคำร้องมาตรา 271 และมาตรา 270 ประกอบ โดยมาตรา 270 นั้นระบุว่าเมื่อมีผู้ใดจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หากนายนิคมมองว่าเป็นประเด็นที่อยู่ระหว่างการถกเถียง มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เหมาะสม แต่ไม่ใช่กรณีจงใจขัดต่อรัฐธรรมนูญเพื่อกระทำการทุจริต เป็นการใช้อำนาจรัฐธรรมนูญ หากนายนิคมไม่ส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช.ตนมองว่ามีคำอธิบายได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวงเสวนาดังกล่าวเป็นการอภิปรายสลับกับการตั้งคำถาม ทั้งนี้ นายสุพจน์ เลียดประถม ส.ว.ตราด เสนอว่า ส.ว.ทั้ง 52 คนที่ถูกยื่นถอนถอนควรแยกการต่อสู้ เนื่องจาก ส.ว.ไม่ใช่ผู้ที่เสียบบัตรแทนแทน อีกทั้งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักการ ไม่ใช่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ ส.ว.ให้การรับรอง อย่างไรก็ตามการหารือประเด็นดังกล่าวได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางแต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ เนื่องจากมีข่าวแจ้งให้ข้าราชการ, ลูกจ้างรัฐสภาออกจากรัฐสภา เพราะมีผู้ชุมนุมปิดล้อมถนนรัฐสภา

ก่อนปิดการเสวนา นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ระบุว่าเดิมจะมีการหารือถึงการต่อสู้ในคำวินิจฉัยของศาล และจะมี นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภาร่วมด้วย แต่ตนได้รับแจ้งจากนายนิคมว่า จะไม่เข้าร่วมประชุมวุฒิสภา เนื่องจากทราบมาว่าจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมบุกรวบตัว แต่การเสวนาดังกล่าวนายนิคมได้ติดตามตลอด และจะนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 26 พ.ย.ส่วนจะใช้สถานที่ใดจะให้นายสุรชัย แจ้งอีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น