แถลงการณ์ เรื่อง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีร่างแก้ไขพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๖ กรณีรัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๑๑ มาตรา ๑๑๒ มาตรา ๑๑๕ มาตรา ๑๑๖ มาตรา ๑๑๗ มาตรา ๑๑๘ มาตรา ๑๒๐ มาตรา ๑๒๑ วรรคหนึ่ง และยกเลิกมาตรา ๑๑๓ และมาตรา ๑๑๔ ซึ่งเกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาว่า (๑) การดำเนินการพิจารณา และล้มมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของผู้ร้องทั้งหมดในคดีนี้ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๒๒ มาตรา ๑๒๕ วรรค ๑ และวรรค ๒ มาตรา ๑๒๖ วรรค ๓ มาตรา ๒๙๑ และมาตรา ๓ วรรค ๒ (๒) เนื้อหาของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีเนื้อความเป็นสาระสำคัญขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐาน และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ อันเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกร้องได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองด้วยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ฝ่าฝืนมาตรา ๖๘ วรรค ๑ นั้น และต่อมา มีความเห็นในทางวิชาการออกมาสนับสนุน และคัดค้านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว โดยเฉพาะความเห็นที่ว่า ศาลไม่มีอำนาจรับคำร้องดังกล่าวไว้ จึงเป็นการขยายแดนอำนาจออกไปจนศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ และอยู่เหนือองค์กรของรัฐทั้งปวง มีผลเป็นการทำลายหลักนิติรัฐประชาธิปไตยลง ก่อให้เกิดสภาวการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสูงสุดเด็ดขาด ความร้ายแรงดังกล่าวย่อมส่งผลให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนี้เสียเปล่า และไม่มีผลใดๆ ในทางกฎหมาย ซึ่งความเห็นดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความสับสนต่อสาธารณชน กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์จึงจำเป็นต่อแสดงความเห็นทางวิชาการเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องของสาธารณชน โดยกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์มีความเห็นว่า ดังนี้
๑.การพิจารณาบทบัญญัติของกฎหมายจะพิจารณาแต่เพียง “ถ้อย” ไม่ดู “ความ” หรือพิจารณาแต่ถ้อยอักษรในตำราโดยไม่ดูความเป็นจริงทางสังคมอาจกระทำได้ แต่ไม่ใช่แนวทางขององค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะนิติศาสตร์เป็นศาสตร์หนึ่งของ “สังคมศาสตร์” ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับความเป็นจริงของสังคม การดูแต่ “ถ้อย” โดยละเลยข้อเท็จจริงในสังคม เช่น กรณีการใช้เสียงข้างมากผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ จนนำมาสู่วิกฤตในขณะนี้เป็นข้อเท็จจริงที่สะท้อนปัญหาของระบบเสียงข้างมากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น การดูแต่ “ถ้อย” เช่นนี้ท้ายที่สุดนำไปสู่ “รัฐเผด็จการ” ลำพังนักวิชาการที่ไม่ดูความเป็นจริงของสังคมจักรับผิดชอบต่อสังคมได้เพียงใด
๒.ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงสำคัญ และเป็นประเด็นชี้ขาดในเรื่องนี้คือ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจที่จะวินิจฉัยเรื่องนี้หรือไม่ เพียงใด กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์มีความเห็น ดังนี้
๒.๑ โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ควบคุมตรวจสอบการกระทำขององค์กรตามรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ กล่าวเฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะแก้ไขเพิ่มเติมได้ แต่การแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวย่อมมีข้อจำกัดตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๙๑ ของรัฐธรรมนูญ กรณีย่อมเห็นได้ว่า รัฐสภามิได้เป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดแม้แต่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญย่อมอยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญได้ ๒ ช่องทาง ดังนี้
ก.อาศัยช่องทางตามมาตรา ๒๑๔ ของรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งกระทำโดยรัฐสภา หากองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นเห็นว่าไม่มีอำนาจองค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้นย่อมเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ กรณีเช่นนี้ศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีอำนาจวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวได้
ข.อาศัยช่องทางตามมาตรา ๖๘ ของรัฐธรรมนูญ การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคดีตามมาตรา ๖๘ ของรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคดีไว้พิจารณาได้ และมีอำนาจพิจารณาการกระทำที่เกิดขึ้นตามมาตรา ๖๘ ได้ โดยศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องนี้โดยตรงเพื่อคุ้มครองหลักการพื้นฐานของการใช้สิทธิ และเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการเสนอเรื่องต่อศาลหากมีการละเมิด “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ซึ่งสิทธิในการยื่นเรื่องดังกล่าวของประชาชนต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงตามมาตรา ๖๘ เป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๘ - ๒๒/๒๕๕๕ กรณีนี้ย่อมเป็นไปตามมาตรา ๒๗ ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งบัญญัติว่า “สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยายหรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครอง และผูกพันรัฐสภา...” ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาจึงมิใช่กรณีที่กล่าวอ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจที่จะรับเรื่องไว้พิจารณา
๒.๒ ตามที่กล่าวอ้างว่า “กรณีที่รัฐสภาใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในฐานะองค์กรผู้ทรงอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มิใช่กรณีที่ “บุคคล” หรือ “พรรคการเมือง” ใช้ “สิทธิเสรีภาพ” ตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้แต่อย่างใด” นั้น นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการพิจารณา “ถ้อย” โดยไม่ดู “ความ” เพราะหากดู “ความ” แล้วก็จะพิจารณาว่าไม่ว่าบุคคลใดๆ ก็ตามจะกระทำการ “...เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้...” ซึ่งหลักการนี้ย่อมสอดคล้องกับมาตรา ๒๙๑(๑) ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นข้อจำกัดของอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กล่าวโดยสรุป ใครก็ตามที่กระทำการลักษณะดังกล่าวไม่ว่าจะในรูปการใดย่อมอยู่ภายใต้ขอบเขตมาตรา ๖๘ ได้ ข้อพิจารณาจึงขึ้นอยู่กับเนื้อหาของการกระทำมากกว่าการพิจารณาเรื่องตัวบุคคล เช่น รัฐสภาหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ “ราชอาณาจักร” เป็น “สาธารณรัฐ” กรณีย่อมผิดตามมาตรา ๖๘ และเป็นข้อจำกัดตามมาตรา ๒๙๑(๑) ของรัฐธรรมนูญ ด้วย
๒.๓ การที่ศาลวินิจฉัยโดยอ้างอิงมาตรา ๓ วรรค ๒ และมาตรา ๒๙๑ (๑) ของรัฐธรรมนูญ การแปลความคำว่า “...การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มีความหมายเพียงใดนั้น ในเรื่องนี้ หากพิจารณาเพียง “ถ้อย” อาจจะบอกว่า หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยตัดไม่ให้มีศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง คงจะบอกว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการปกครองในระบบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงกระทำได้ไม่เป็นการขัดกับมาตรา ๒๙๑(๑) ของรัฐธรรมนูญ แต่หากพิจารณาในฐานะที่เป็นพื้นของหลักนิติธรรม และการปกครองในระบบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขย่อมถือว่าเป็นสาระสำคัญที่การแก้ไขดังกล่าวกระทบต่อหลักพื้นฐานข้างต้น ด้วยเหตุผลดังกล่าว การแปลความในเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของ “ข้อความคิด” ไม่ใช่ “ถ้อยอักษร” และย่อมเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะช่วยทำให้ข้อความคิดตามรัฐธรรมนูญมีความชัดเจนยิ่งขึ้น
กล่าวโดยสรุป จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องนี้ โดยการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้เป็นการทำหน้าที่ในฐานะ “ผู้พิทักษ์กติกาประชาธิปไตย-นิติรัฐ” อันเป็นความมุ่งหมายสำคัญของรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐
๓.เมื่อได้พิจารณาอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเนื้อหาของการพิจารณาแล้ว ประเด็นที่เป็นข้อพิจารณาสุดท้ายคือ ผลของการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา ๒๑๖ วรรค ๕ บัญญัติว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ” จากบทบัญญัติดังกล่าวมีข้อพิจารณา ๒ ประการ คือ
๓.๑ การมีผลเด็ดขาดของคำวินิจฉัยดังกล่าวขึ้นอยู่กับ “การแสดงเจตนา” ยอมรับของผู้ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เพียงใด การมีผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมิได้มีผลเมื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องแสดงเจตนายอมรับ หากแต่มีผลผูกพันเด็ดขาด ส่วนการจะไม่ยอมรับในทางวิชาการย่อมเป็นเสรีภาพที่จะวิพากษ์วิจารณ์ในทางวิชาการได้ เช่น คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ๒๐/๒๕๔๔ คดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งไม่ได้รับการยอมรับจากแวดวงสังคม และวงวิชาการ แต่ต้องถือว่าคดีดังกล่าวเป็นอันจบเด็ดขาด มีแต่เพียงงานทางวิชาการที่จะศึกษาค้นคว้าเพื่อแสดงถึงความไม่ถูกต้องชอบธรรมของคำวินิจฉัยดังกล่าว และจากงานทางวิชาการดังกล่าวจึงนำมาสู่การทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อศาลรัฐธรรมนูญในเวลาต่อมา
๓.๒ การวินิจฉัยในกรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่จำต้องออกคำบังคับใดๆ เพราะคำวินิจฉัยในลักษณะนี้เป็นแต่เพียงการประกาศถึงความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวเท่านั้น ส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกล่าวคือ นายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องผูกพันตามคำวินิจฉัยย่อมต้องมีหน้าที่ดำเนินการให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ท้ายที่สุดนี้ กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ เชื่อว่า การใช้ และตีความกฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญโดยพิจารณาจากหลักกฎหมาย และผลประโยชน์ของสังคมโดยรวมเป็นที่ตั้งย่อมนำมาสู่ความสงบสุขของสังคมมากกว่าการพิจารณาแต่ “ตัวบท” และหลุดลอยจากความเป็นจริงของสังคม ข้อพิจารณาดังกล่าวย่อมเป็นจริยธรรมพื้นฐานของเหล่านักวิชาการด้วย
ด้วยจิตคารวะต่อมวลมหาประชาชน
กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์
๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๖