xs
xsm
sm
md
lg

กห.ปัด กม.กำลังสำรองตั้งขึ้นเพื่อเป็นกองกำลังพิเศษคุ้มกัน “ปู” แต่มีเป้าหมายช่วย ปชช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.อ. ธนาธิป สว่างแสง
กลาโหม ปฎิเสธร่าง พ.ร.บ.กำลังสำรอง ตั้งขึ้นเพื่อเป็นกองกำลังพิเศษคุ้มกัน “นายกฯ ยิ่งลักษณ์” และเป็นฐานอำนาจทางการเมือง ระบุมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือประชาชาชนที่ประสบภัยธรรมชาติ ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

พ.อ. ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม ชี้แจงกรณีที่มีการนำเสนอข่าวในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง และเว็บไซต์ที่พาดหัวว่า “กระทรวงกลาโหม ประเคนกองกำลังอารักขาปูรับมือจลาจล” โดยเนื้อหาของข่าวโดยสรุปคือ กระทรวงกลาโหม ชงตั้งกฎหมายกำลังสำรองขึ้นตรงนักการเมือง อยู่ภายใต้การกำกับของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยอ้างการเตรียมการรับภัยคุกคามทางการทหาร และการจลาจล พร้อมคาดตั้งกองกำลังพิเศษคุ้มกันนายกรัฐมนตรีโดยตรง

สำหรับหลักการเหตุผล และสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.กำลังสำรอง พ.ศ. ... คือ การปรับปรุงร่างกฎหมายเก่าให้ชัดเจน และสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น จากที่เคยเสนอคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบในหลักการไป เมื่อวันที่ 28 ก.พ.49 ซึ่งได้ผ่านการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 พ.ค.52 แต่ร่างกฎหมายตกไปเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในขณะนั้น

ทั้งนี้ การที่ต้องยกร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้นมาเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2550 มาตรา 73 ที่กำหนดให้บุคคลมีหน้าที่รับราชการทหาร ช่วยเหลือ ป้องกัน และบรรเทาภัยพิบัติสาธารณะ ช่วยเหลือราชการฯ และในมาตราที่ 77 กำหนดให้รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐ โดยต้องจัดให้มีกำลังทหาร ยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย จำเป็นเพียงพอเพื่อรักษาเอกราชอธิปไตย และความมั่นคงของรัฐ

นอกจากนั้น การรองรับหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมที่กำหนดขึ้นใหม่ ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมปี 2551 ที่กำหนดให้กระทรวงกลาโหม มีหน้าที่ป้องกันประเทศ ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ และช่วยเหลือประชาชน ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.กำลังสำรอง จึงเป็นกฎหมายที่จัดทำขึ้นเพื่อให้สามารถเรียกกำลังสำรองเข้ารับราชการตั้งแต่ในยามปกติ เช่น หากเกิดภัยพิบัติสาธารณะขนาดใหญ่ กำลังสำรองจะถูกเรียกเข้ารับราชการ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาภัยพิบัติสาธารณะ หรือช่วยเหลือประชาชน นอกเหนือจากในยามสงคราม

พ.อ.ธนาธิป กล่าวว่า เนื้อหาในร่างกฎหมาย ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการกำลังสำรอง (คกส.) โดยมอบให้นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน คณะกรรมการ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรี รวมทั้งสิ้น 34 คน ซึ่งการบัญญัติให้มีคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมาก็เพื่อให้การบริหารจัดการบุคคลที่มาจากทุกภาคส่วน ทั้งราชการ รัฐวิสาหกิจ เอกชน เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ที่สำคัญบุคคลที่เข้ามาบรรจุเป็นกำลังสำรองไม่ใช่กำลังของหน่วยใดหน่วยหนึ่ง จึงมิได้มุ่งหมายให้เป็นกองกำลังพิเศษของท่านใดท่านหนึ่ง หรือสร้างฐานอำนาจให้ใคร ยืนยันว่าไม่ใช่ประเด็นทางการเมือง แม้ใครมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ต้องดำเนินการตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้

“เป้าหมายคือ การช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเมื่อประสบกับภัยพิบัติสาธารณะที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อรองรับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และจากสถานการณ์อุทกภัย ที่ผ่านมา กองทัพได้จัดกำลังพล พร้อมยุทโธปกรณ์เข้าช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง แต่ไม่สามารถที่จะใช้กำลังสำรอง รวมถึงนักศึกษาวิชาทหาร ที่มีอยู่เข้ามาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ และไม่มีอำนาจคุ้มครองความปลอดภัยในด้านต่างๆ จึงได้ดำเนินการนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการตามกระบวนการต่อไป ยืนยันว่าเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงของประเทศชาติ และประชาชนทุกคน ในปัจจุบันนานาประเทศก็ได้มีการใช้กำลังสำรองเพื่อปฏิบัติภารกิจดังกล่าวอยู่ทั่วโลก ในการสนับสนุกำลังหลักอยู่แล้ว” โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น