ที่ประชุม ครม.ปลุกผี “อีลิทการ์ด” ขยายสิทธิประโยชน์-บริการ เห็นชอบยกเลิกภาษีนำเข้า-โควตาสินค้าเกือบ 7 พันรายการ กู้ 3.6 พันล้านโครงการขยายเขตไฟฟ้าให้บ้านเรือนราษฎรรายใหม่ แต่งตั้งกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร “วรเจตน์-นิติราษฎร์” โผล่ “ศิริโรจน์ ชาวปากน้ำ” พ้นการเคหะฯ แต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ 9 คน
วันนี้ (19 พ.ย.) นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบการดำเนินการของบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด ที่จะมีการปรับปรุงการกำหนดรูปแบบประเภทบัตรสมาชิก ราคาบัตร สิทธิประโยชน์/บริการต่างๆ และค่าธรรมเนียมการโอนให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการกำหนดค่าตอบแทน (Commission) ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท ตามข้อบังคับของบริษัทอยู่แล้ว ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวเห็นควรให้คณะกรรมการบริษัทดำเนินการอย่างโปร่งใส คำนึงถึงผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศและผลประโยชน์ของบริษัท
ส่วนที่คณะกรรมการบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด เห็นควรให้มีการลงทุนหรือร่วมลงทุนกับกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่อง โดยได้มีการพิจารณาแล้วว่าการดำเนินการจะก่อให้เกิดประโยชน์กับบริษัท สมาชิก และประเทศ ก็สามารถดำเนินการได้ตามอำนาจของคณะกรรมการบริษัท ทั้งนี้ การดำเนินการต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 รวมทั้งจะต้องเสนอเรื่องให้คณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ศึกษาในรายละเอียด เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติในการจัดตั้งบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจ ทั้งในกรณีรัฐวิสาหกิจถือหุ้นทั้งหมดหรือถือหุ้นเพียงบางส่วน และให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ นำเสนอคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
นายธีรัตถ์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries L:LDCs) โดยการยกเลิกภาษีนำเข้าและโควตา (Dufy Free/Quota free:DFQF) รวมเป็นสินค้าทั้งสิ้น 6,998 รายการ คิดเป็นร้อยละ 73.21 ของรายการสินค้าทั้งหมด โดยมอบหมายให้ รมว.พาณิชย์ หรือผู้แทนประกาศการดำเนินโครงการ DFQF ของไทยอย่างเป็นทางการในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (World Trade Organization:WTO) สมัยสามัญ ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 3-6 ธ.ค. 2556 ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย และดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ต่อไป
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอดังนี้ 1.การให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries L : LDCs) โดยการยกเลิกภาษีนำเข้าและโควตา (Dufy Free / Quota free : DFQF) รวมเป็นสินค้าทั้งสิ้น 6,998 รายการ คิดเป็นร้อยละ 73.21 ของรายการสินค้าทั้งหมด 2.มอบหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้แทนประกาศการดำเนินโครงการ DFQF ของไทยอย่างเป็นทางการ ในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) สมัยสามัญ ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 3-6 ธ.ค. 2556 ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย และดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ต่อไป
3.แต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันผลกระทบอันเนื่องจาก “การให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยการยกเลิกภาษีนำเข้าและโควตา” เพื่อพิจารณาดำเนินการระงับสิทธิ การใช้มาตรการปกป้องภายใต้โครงการ การทบทวนมาตรการป้องกันผลกระทบ การทบทวนโครงการ และกำกับดูแลโครงการ ในภาพรวม โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย ผู้แทนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ผู้แทนกรมศุลกากร ผู้แทนกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ผู้อำนวยการสำนักมาตรการปกป้องและตอบโต้ทางการค้า โดยมีผู้อำนวยการกองสิทธิประโยชน์ทางการค้า เป็นกรรมการและเลขานุการ
ส่วนอำนาจหน้าที่ ได้แก่ 1.กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการระงับสิทธิพิเศษภายใต้โครงการให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยการยกเลิกภาษีนำเข้าและโควตา รวมทั้งกำหนดมาตรการอื่นใดที่จำเป็นเพื่อป้องกันผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบการภายใน 2.พิจารณาระงับสิทธิพิเศษภายใต้โครงการให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยการยกเลิกภาษีนำเข้าและโควตาเป็นรายประเทศ หรือเฉพาะรายการสินค้าภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการระงับสิทธิพิเศษตามข้อ 1.หรือกรณีตรวจพบความฉ้อฉลทางการค้าโดยการแอบอ้างแหล่งกำเนิดสินค้า หรือเหตุอื่นใด 3.แจ้งผลการพิจารณาระงับสิทธิพิเศษตามข้อ 2.แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
4.เชิญส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรที่เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ให้ข้อมูลข้อคิดเห็น ส่งเอกสารหลักฐาน รายงานผลการดำเนินงาน หรือให้ความร่วมมือสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการตามที่ได้รับการร้องขอ 5.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการดำเนินการของคณะกรรมการตามความจำเป็นและเหมาะสม 6.เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาทบทวนโครงการให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยการยกเลิกภาษีนำเข้าและโควตาเมื่อครบตามระยะเวลาดำเนินโครงการที่กำหนดไว้ สำหรับการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมคณะกรรมการ พ.ศ. 2547 โดยเบิกจ่ายจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
นายธีรัตถ์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ในคราวประชุม ครั้งที่ 11/2556 เมื่อวันจันทร์ที่ 21 ต.ค. 2556 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) ประธานกรรมการเสนอ โดยมีมติเห็นชอบโครงการขยายเขตไฟฟ้าให้บ้านเรือนราษฎรรายใหม่ ของ กฟภ.วงเงินลงทุนรวม จำนวน 3,687 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ในประเทศ จำนวน 2,761 ล้านบาท และเงินรายได้ จำนวน 926 ล้านบาท ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และเห็นชอบให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กู้เงินในประเทศภายในกรอบวงเงิน 2,761 ล้านบาท เพื่อให้เป็นไปตามนัยของพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 42(2) โดยให้ กฟภ.รับข้อสังเกตเพิ่มเติมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
สาระสำคัญของโครงการขยายเขตไฟฟ้าให้บ้านเรือนราษฎรรายใหม่ ของ กฟภ.คือ 1.วัตถุประสงค์ เพื่อขยายเขตระบบไฟฟ้าให้ครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ได้มีไฟฟ้าใช้ครบทุกหลังคาเรือนตามนโยบายของรัฐบาล 2.ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2556-2560 3.พื้นที่ดำเนินการ ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ กฟภ.(74 จังหวัด) ทั่วประเทศ 4.เป้าหมาย ขยายเขตจำหน่ายไฟฟ้าให้ครัวเรือนราษฎรรายใหม่ จำนวน 131,629 ครัวเรือน 5.ปริมาณงาน ก่อสร้างระบบจำหน่ายแรงสูง 2,300 วงจร-กิโลเมตร ก่อสร้างระบบจำหน่ายแรงต่ำ 10,770 วงจร-กิโลเมตร ติดตั้งหม้อแปลง 90,300 เควีเอ ติดตั้งมิเตอร์ 131,629 ชุด 6.แหล่งเงินทุน รวมทั้งสิ้น 3,687 ล้านบาท โดยใช้เป็นค่าจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในประเทศ ค่าสำรวจและออกแบบ ค่าควบคุมงาน ค่าแรงงาน ค่าขนส่ง ค่าเบ็ดเตล็ด และค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด โดยจะเบิกจ่ายจากเงินกู้ในประเทศ และ/หรือเงินรายได้ของ กฟภ.โดยแยกตามแหล่งเงินได้ ดังนี้ เงินกู้ในประเทศ 2,761 ล้านบาท เงินรายได้ กฟภ.926 ล้านบาท
7.ผลตอบแทนของโครงการ ทั้งด้านการเงินและด้านเศรษฐศาสตร์ โดยเปรียบเทียบระหว่างค่าใช้จ่ายของโครงการ และผลตอบแทนที่วัดเป็นตัวเงินได้ สรุปได้ดังนี้ ผลตอบแทนทางการเงิน ร้อยละ 4.59 ผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ ร้อยละ 17.76 และ 8.ผลประโยชน์ของโครงการ ได้แก่ 8.1 สนับสนุนนโยบายของรัฐบาล และแผนยุทธศาสตร์ของ มท.โดยก่อสร้างขยายเขตบริการไฟฟ้าให้ครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ครอบคลุมครัวเรือน จำนวน 131,629 ครัวเรือน 8.2 ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ครัวเรือนและภาพรวมของประเทศ รวมทั้งเป็นการกระจายความเจริญไปสู่ส่วนภูมิภาคและชนบท 8.3 ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร และ 8.4 ช่วยให้ประชาชนมีความรู้สึกว่าได้รับความเอาใจใส่จากรัฐบาล
ด้านนายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.เห็นชอบแต่งตั้งกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารจำนวน 39 คน ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ ดังนี้ สาขาการแพทย์และการสาธารณสุข 1.ศาสตราจารย์บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ 2.ศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส 3.ศาสตราจารย์อาวุธ ศรีศุกรี 4.นายวิชัย โชควิวัฒน, สาขาต่างประเทศและความมั่นคงของประเทศ 1.ศาสตราจารย์พิเศษนรนิติ เศรษฐบุตร 2.ผู้ช่วยศาสตราจารย์จันทจิรา เอี่ยมมยุรา 3.นางจิราพร บุนนาค 4.นายประวิทย์ สุขวิบูลย์ 5.นายพรชัย ด่านวิวัฒน์
สาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม และการเกษตร 1.ศาสตราจารย์กิตติคุณพีระศักดิ์ จันทร์ประทีป 2.ศาสตราจารย์พิเศษสันทัด โรจนสุนทร 3.ศาสตราจารย์เกษม จันทร์แก้ว 4.ศาสตราจารย์ไพศิษฐ์ พิพัฒนกุล 5.ศาสตราจารย์สมชาติ โสภณรณฤทธิ์ 6.ศาสตราจารย์สุนทร มณีสวัสดิ์, สาขาเศรษฐกิจ และการคลังของประเทศ 1.ศาสตราจารย์พิเศษชมเพลิน จันทร์เรืองเพ็ญ 2.รองศาสตราจารย์ธวัชชัย สุวรรณพานิช 3.รองศาสตราจารย์นิพนธ์ พัวพงศกร 4.รองศาสตราจารย์สหธน รัตนไพจิตร 5.นางสาวภัทรา สกุลไทย
สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย 1.พลเอก สุพิทย์ วรอุทัย 2.ศาสตราจารย์เกียรติคุณเทพ หิมะทองคำ 3.ศาสตราจารย์พิเศษเรวัต ฉ่ำเฉลิม 4.ศาสตราจารย์ปรีดี เกษมทรัพย์ 5.รองศาสตราจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ 6.รองศาสตราจารย์สมยศ เชื้อไทย 7.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปราโมทย์ ประจนปัจจนึก 8.ร้อยโท วิรัช พันธุมะผล 9.นายขจัดภัย บุรุษพัฒน์ 10.นายชัยรัตน์ มาประณีต 11.นายธรรมรักษ์ การพิศิษฎ์ 12.นางธิดา ศรีไพพรรณ์ 13.นางแน่งน้อย วิศวโยธิน 14.นายพีรพล ไตรทศาวิทย์ 15.นายพูลประโยชน์ ชัยเกียรติ 16.นางมัลลิกา คุณวัฒน์ 17.นายวัฒนา รัตนวิจิตร 18.นายศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล 19.นายสุพจน์ ไพบูลย์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย.เป็นต้นไป
ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเลื่อนและแต่งตั้ง นายนที ทับมณี รองผู้อำนวยการสำนักงาน (นักบริหาร ระดับต้น) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพลังงาน ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้มีการแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2556 ให้ประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ ลงวันที่ 9 ม.ค. 2555 และเรื่อง แต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ ลงวันที่ 13 ธ.ค. 2555 จำนวน 3 คน ได้แก่ นายชาญณัฏฐ์ แก้วมณี ผู้แทนกระทรวงการคลัง นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ และนายศิริโรจน์ ชาวปากน้ำ พ้นจากตำแหน่ง
อีกด้านหนึ่ง แต่งตั้งประธานกรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติชุดใหม่ จำนวน 9 คน ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย. 2556 เป็นต้นไป ยกเว้นนายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ ให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะกรรมการอัยการมีมติอนุมัติเป็นต้นไป ซึ่งไม่ก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ” และให้แก้ไขประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ ลงวันที่ 1 ต.ค. 2556 ให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีนี้ต่อไป ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ