กรรมการสิทธิฯ เชิญแกนนำต่อต้านนิรโทษกรรม 4 กลุ่ม รองเลขาธิการ สมช.อ้างชายชุดดำจะป่วนการชุมนุม ยันคง พ.ร.บ.ติดหนวด กลัวจะมีอีเวนต์วินิจฉัยแก้รัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.ด้านตัวแทนผู้ชุมนุมโวยรัฐไม่ได้คำนึงถึงเรื่องสิทธิในการชุมนุม ปิดกั้นเส้นทาง ใช้ตำรวจเกินความจำเป็น ข่มขู่ผู้ให้การสนับสนุน
วันนี้ (14 พ.ย.) คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่มี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เป็นประธาน ได้เชิญแกนนำผู้ชุมนุมต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม 4 กลุ่ม ประกอบด้วย นายถาวร เสนเนียม แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ ผู้ประสานงานกองทัพธรรม ที่ร่วมชุมนุมกับกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ ที่แยกผ่านฟ้า น.ส.พวงทิพย์ บุญสนอง ที่ปรึกษากฎหมาย กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย หรือ คปท. นายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ม.ล.สุทธิฉันท์ วรวุฒิ แกนนำกลุ่มราชตระกูลรวมใจ รวมถึงผู้แทนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และนักวิชาการเข้าชี้แจงกรณีมีการร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิการชุมนุม
ทั้งนี้ ในส่วนของแกนนำแต่ละกลุ่มผู้ชุมนุมต่างชี้แจงถึงเหตุผลในการชุมนุมว่า เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลออกกฎหมายนิรโทษกรรม และแม้ว่านายกรัฐมนตรี และ 4 พรรคร่วมรัฐบาล จะลงสัตยาบันยืนยันไม่นำร่างกฎหมายดังกล่าวกลับมาพิจารณาอีก หลังพ้นระยะเวลา 180 วันที่วุฒิสภาไม่เป็นเห็นชอบร่างดังกล่าว นอกจากนี้ยังไม่เห็นด้วยกับการบริหารงานในหลายเรื่องของรัฐบาล โดยยืนยันว่าการชุมนุมเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ แต่รัฐบาลก็กลับไม่ได้คำนึงถึงเรื่องสิทธิในการชุมนุม มีการพยายามปิดกั้นด้วยวิธีต่างๆ เช่น ปิดกั้นเส้นทางไม่ให้ประชาชนมาเข้าร่วมชุมนุมได้โดยสะดวก มีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจมารักษาการมากเกินความจำเป็น มีการข่มขู่ว่าจะดำเนินการกับผู้ที่ให้การสนับสนุนการชุมนุม เป็นต้น อย่างไรก็ตามประเด็นอนุกรรมการได้สนใจซักถามมาก คือกรณีที่ปรากฏข่าวและภาพเป็นลักษณะชายชุดดำพกอุปกรณ์คล้ายปืนเตรียมที่จะเข้าป่วนการชุมนุม ว่าในทางการข่าวมีข้อเท็จจริงอย่างไร และตลอดเวลากว่า 20 วันของการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง มีปรากฏการณ์อะไรที่ชัดเจนว่าการชุมนุม เข้าข่ายจำเป็นต้องประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง และความเหมาะสมในการออกแถลงการณ์ แจ้งเตือนแกนนำผู้ชุมนุมและกลุ่มทุนคัดค้านนิรโทษกรรมของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
โดย นายพรชาต บุนนาค รองเลขาธิการ สมช.ชี้แจงว่า ในส่วนการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงนั้น รัฐบาลได้มีการประเมินสถานการณ์ และเห็นว่าไม่อยากให้มีความรุนแรงเกิดขึ้นก่อน ซึ่งแม้ผ่านไปกว่า 20 วันแล้ว แต่ที่รัฐบาลยังคงประกาศดังกล่าวไว้ ก็เพราะมีอีเวนต์ต่างๆ ของผู้ชุมนุมอยู่ อย่างในช่วงสุดสัปดาห์นี้ต่อเนื่องวันที่ 18-20 พ.ย.มีกระแสข่าวว่าจะมีการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ หลายกลุ่ม ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการสร้างสถานการณ์หรือการกระทบกระทั่งกันได้ ประกอบกับในวันที่ 20 พ.ย.ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.รัฐบาลก็พยายามหาวิธีการต่างๆ เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุร้ายแรงขึ้น ส่วนกรณีชายชุดดำนั้นในทางการข่าวก็ได้รับทราบและกำลังสืบกันอยู่ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และบุคคลที่จะเข้ามาในลักษณะนี้ต้องระมัดระวังว่าอย่าให้เข้ามาเป็นมือที่สาม
ด้าน พล.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้มาร้องให้ดีเอสไอตรวจสอบการชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บนิรโทษกรรม แต่จะรับพิจารณาหรือไม่อยู่ที่คณะกรรมการพิจารณาคดีพิเศษจะมีความเห็นอย่างไร เวลานี้ที่กล่าวหาว่ามีแกนนำผู้ชุมนุมมีการปราศรัยในลักษณะยั่วยุ ปลุกระดมให้ประชาชนละเมิดกฎหมายผิดกฎหมายอาญามาตรา 116 นั้น ที่ทางดีเอสไอทำอยู่ก็คือกำลังถอดเทปคำปราศรัยอยู่ ซึ่งยังไม่สามารถบอกว่าได้ว่าผิดหรือไม่ผิด
นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า ท่าทีหลายอย่างของรัฐ ทั้งในเรื่องการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม การที่อธิบดีดีเอสไอออกมาระบุว่าออกแถลงการณ์ แจ้งเตือนแกนนำผู้ชุมนุมและกลุ่มทุนคัดค้านนิรโทษกรรม การที่พนักงานสอบสวนแสดงความเห็นทันทีว่าพร้อมที่จะรับเป็นคดีเมื่อมีผู้ไปแจ้งความให้ดำเนินคดีกับแกนนำผู้ชุมนุมว่ากระทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 116 การใช้ถ้อยคำในลักษณเย้ยหยันการชุมนุม ล้วนแต่เป็นการละเมิดสิทธิการชุมนุมของประชาชนโดยสงบ และยังเป็นตัวที่จะทำให้สถานการณ์บานปลายยิ่งกว่าเดิม อีกทั้งการชุมนุมตลอดระยะเวลาในห้วงที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง สถานการณ์การชุมนุมก็บ่งชี้แล้วว่า ไม่ได้เข้าเงื่อนไขที่ทำให้รัฐบาลสามารถประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงได้เลย ซึ่งไม่เฉพาะในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ในการชุมนุมครั้งนี้เท่านั้น แต่จากที่ กสม.ได้ติดตามการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงในทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ยกเว้นในพื้นที่ภาคใต้ บอกได้ว่าล้วนแต่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดเลย