นายกฯ แถลงระบุคำพิพากษาศาลโลกคดีพระวิหารเป็นคุณต่อประเทศไทย เหตุศาลตีความเฉพาะพื้นที่ขนาดเล็กใกล้เคียงปราสาท พร้อมยืนยันคำพิพากษาเดิมปี 2505 ไม่ตัดสินเรื่องเขตแดน เขมรแห้วพื้นที่ 4.6 ตร.กม.แผนที่ 1 ต่อ 2 แสนไม่ผูกพันกับไทย เตรียมนำผลพิพากษาเข้าครม. จัดเจรจากัมพูชาตามกลไกเดิมที่มีอยู่ เพื่อหาข้อยุติทั้งสองฝ่าย
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แถลงการณ์
วันนี้ (11 พ.ย.) เมื่อเวลาประมาณ 19.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้อ่านแถลงการณ์ หลังจากที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้อ่านคำพิพากษากรณีกัมพูชาได้ยื่นร้องให้ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารที่ตัดสินไว้เมื่อปี 2505 โดยนายกฯ กล่าวว่า คำพิพากษาดังกล่าว หลายส่วนเป็นคุณกับประเทศไทย ได้แก่ 1.ศาลรับฟังข้อต่อสู้ของไทย และได้ตัดสินยืนยันที่จะตัดสินภายในขอบเขตของคำพิพากษาเดิม เมื่อปี 2505
2.ศาลรับฟังข้อต่อสู้ของไทย โดยยืนยันว่า คำพิพากษาเดิมเมื่อปี 2505 นั้น มิได้ตัดสินเกี่ยวกับประเด็นเขตแดนระห่างไทยกับกัมพูชา เพราะเป็นประเด็นที่อยู่นอกเหนือจากคำพิพากษาเดิม ซึ่งหมายความว่า ศาลไม่รับพิจารณาข้อเรียกร้องของกัมพูชาเหนือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร และที่สำคัญ ศาลไม่ได้ตัดสินว่า แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ผูกพันกับไทย โดยผลของคำพิพากษาเมื่อปี 2505
3.ศาลรับตีความเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับพื้นที่บริเวณใกล้เคียงปราสาท ตามคำพิพากษาเดิมเมื่อปี 2505 โดยศาลอธิบายว่า เป็นพื้นที่ขนาดเล็กมาก ซึ่งกำหนดขึ้นตามสภาพภูมิศาสตร์ ที่ประกอบขึ้นเป็นยอดเขาพระวิหาร โดยไม่ได้กำหนดเส้นเขตแดน และที่สำคัญ ไม่รวมพื้นที่ภูมะเขือ ซึ่งในส่วนของพื้นที่บริเวณใกล้เคียงปราสาทนี้ ทั้งสองประเทศจำเป็นต้องหารือกันในรายละเอียดต่อไป โดยกลไกทวิภาคีที่มีอยู่ และ 4.ศาลได้แนะนำให้ความสำคัญกับการที่ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันในการอนุรักษ์และพัฒนาปราสาทพระวิหาร ในฐานะที่เป็นมรดกโลก
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลจึงได้สั่งให้ทีมที่ปรึกษากฎหมาย ศึกษารายละเอียดและสาระสำคัญของคำพิพากษา เพื่อนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปประกอบพิจารณาดำเนินการของรัฐบาลต่อไป ต่อจากนั้น ไทยและกัมพูชา จะต้องเจรจาหารือภายใต้กลไกที่มีอยู่ระหว่างทั้งสองประเทศ เพื่อให้ได้ข้อยุติ ให้เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย และจะคำนึงถึงขั้นตอนและกระบวนของกฎหมายและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และขอยืนยันว่า การดำเนินการของรัฐบาลจะรักษาอธิปไตยและผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง รวมทั้งเกียรติภูมิของชาติ และความเป็นประชาคมอาเซียน พร้อมกันนี้ รัฐบาลได้สั่งการและกำชับให้ฝ่ายทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ฝ่ายความมั่นคง ยังคงรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณชายแดน รักษาอธิปไตย และดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ เพื่อสันติภาพ สันติสุข และความสงบเรียบร้อย ดังที่ได้ปฏิบัติมาโดยตลอด ขอให้พี่น้องประชาชนชาวไทยมีความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะดำเนินการทุกอย่างโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนและของชาติอย่างสูงสุด
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ทันทีที่นางสาวยิ่งลักษณ์ อ่านแถลงการณ์ท่าทีไทยต่อคำพิพากษาของศาลยุติธรรมแล้วเสร็จ ได้เดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาลทันที พร้อมกับระบุเพียงสั้นๆว่า ในวันพรุ่งนี้จะนำผลคำพิพากษาของศาลโลกเข้าสู่การประชุม ครม.
ด้านนายพีระพันธุ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบุว่า การประชุม ครม.นัดพิเศษ เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (11 พ.ย. 2556 ) มีมติให้สภากำหนด เปิดอภิปรายทั่วไป โดยไม่มีการลงมติตามมาตรา 179
คำต่อคำ “ยิ่งลักษณ์” แถลง กรณีคำพิพากษาศาลโลก
“สวัสดีค่ะ พี่น้องประชาชนชาวไทยที่เคารพรักทุกท่าน ตามที่เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 กัมพูชาได้ยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) เพื่อขอให้ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารในปี 2505 โดยเห็นว่า ไทยและกัมพูชามีความเห็นที่ไม่ตรงกันเกี่ยวกับคำพิพากษาของคดี เมื่อปี 2505 ในเรื่องของขอบเขตบริเวณใกล้เคียงปราสาท ซึ่งกัมพูชาเห็นว่าต้องเป็นไปตามเส้นเขตแดนระหว่างประเทศ ในแผนที่มาตรา 1:200,000 ระวางดงรักนั้น คณะดำเนินคดีฝ่ายไทยได้ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่ ได้ต่อสู้ในแง่กฎหมาย และกติกาสากลอย่างเต็มที่ ดังเป็นที่ประจักษ์ในการให้การทางวาจาต่อศาลโลกเมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลทราบดีว่า ภารกิจในการต่อสู้คดีครั้งนี้เป็นภารกิจที่ท้าทายและยากลำบากมาก เพราะเป็นคดีที่ตีความคำพิพากษาเดิมที่ผ่านมาแล้ว 50 ปี และประเทศไทยจำเป็นต้องกลับไปต่อสู้ที่ศาลอีกครั้งหนึ่ง เพื่อมิให้ศาลพิจารณาเพียงเอกสาร หลักฐาน และคำให้การของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น คณะดำเนินคดีของประเทศไทยจึงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและประชาชนในทุกด้านอย่างเต็มที่ เพื่อให้ทุกคนสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสบายใจและมีประสิทธิภาพสูงสุด
บัดนี้ ศาลโลกได้พิจารณาเอกสารหลักฐานของทั้งสองฝ่าย ซึ่งพี่น้องประชาชนทุกท่านคงได้มีโอกาสติดตามการถ่ายทอดสดคำพิพากษา โดยรัฐบาลเห็นว่าเป็นคำพิพากษาที่ให้ความสำคัญกับการที่ทั้งสองประเทศจะต้องเจรจากัน และมีหลายส่วนที่เป็นคุณกับประเทศไทย โดยมีประเด็นหลักๆ ดังนี้
1.ศาลรับฟังข้อต่อสู้ของไทย และได้ตัดสินยืนยันที่จะตัดสินภายในขอบเขตของคำพิพากษาเดิม เมื่อปี 2505
2.ศาลรับฟังข้อต่อสู้ของไทย โดยยืนยันว่า คำพิพากษาเดิมเมื่อปี 2505 นั้น มิได้ตัดสินเกี่ยวกับประเด็นเขตแดนระห่างไทยกับกัมพูชา เพราะเป็นประเด็นที่อยู่นอกเหนือจากคำพิพากษาเดิม ซึ่งหมายความว่า ศาลไม่รับพิจารณาข้อเรียกร้องของกัมพูชาเหนือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร และที่สำคัญ ศาลไม่ได้ตัดสินว่า แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ผูกพันกับไทย โดยผลของคำพิพากษาเมื่อปี 2505
3.ศาลรับตีความเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับพื้นที่บริเวณใกล้เคียงปราสาท ตามคำพิพากษาเดิมเมื่อปี 2505 โดยศาลอธิบายว่า เป็นพื้นที่ขนาดเล็กมาก ซึ่งกำหนดขึ้นตามสภาพภูมิศาสตร์ ที่ประกอบขึ้นเป็นยอดเขาพระวิหาร โดยไม่ได้กำหนดเส้นเขตแดน และที่สำคัญ ไม่รวมพื้นที่ภูมะเขือ ซึ่งในส่วนของพื้นที่บริเวณใกล้เคียงปราสาทนี้ ทั้งสองประเทศจำเป็นต้องหารือกันในรายละเอียดต่อไป โดยกลไกทวิภาคีที่มีอยู่
4.ศาลได้แนะนำให้ความสำคัญกับการที่ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันในการอนุรักษ์และพัฒนาปราสาทพระวิหาร ในฐานะที่เป็นมรดกโลก
ดังนั้น รัฐบาลได้สั่งให้ทีมที่ปรึกษากฎหมาย ศึกษารายละเอียด และสาระสำคัญของคำพิพากษา เพื่อนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปประกอบพิจารณาดำเนินการของรัฐบาลต่อไป ต่อจากนั้น ไทยและกัมพูชา จะต้องเจรจาหารือภายใต้กลไกที่มีอยู่ระหว่างทั้งสองประเทศ เพื่อให้ได้ข้อยุติ ให้เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย และจะคำนึงถึงขั้นตอนและกระบวนของกฎหมายและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ในโอกาสนี้ ดิฉันขอเรียนยืนยันว่า การดำเนินการของรัฐบาลจะรักษาอธิปไตยและผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง รวมทั้งเกียรติภูมิของชาติ และความเป็นประชาคมอาเซียน พร้อมกันนี้ รัฐบาลได้สั่งการและกำชับให้ฝ่ายทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ฝ่ายความมั่นคง ยังคงรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณชายแดน รักษาอธิปไตย และดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ เพื่อสันติภาพ สันติสุข และความสงบเรียบร้อย ดังที่ได้ปฏิบัติมาโดยตลอด
พี่น้องประชาชนที่เคารพรัก ประเทศไทยและกัมพูชาเป็นประเทศเพื่อนบ้านกัน ที่นอกจากจะมีพรมแดนติดต่อกันถึงเกือบ 800 กิโลเมตร ยังเป็นสมาชิกอาเซียนที่้ต้องพึ่งพาอาศัยกันต่อไป เพื่อความสงบสุขและเจริญรุ่งเรือง อีกทั้งประชาชนไทยและกัมพูชาก็มีความสัมพันธ์ฉันท์ญาติมิตร มีวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ร่วมกันมาช้านาน ดังนั้นทั้งสองประเทศจึงจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทั้งสองประเทศ
ในนามของรัฐบาล ดิฉันขอให้พี่น้องประชาชนชาวไทยมีความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะดำเนินการทุกอย่างโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนและของชาติอย่างสูงสุด ขอบคุณค่ะ”