อดีตรอง ปธ.ส.ส.ร.ชี้ร่างนิรโทษกรรมเจอกระแสต้านไม่อาจเดินต่อได้ จี้รัฐถอนร่างฯโดยเร็วเพื่อลดขัดแย้ง เหตุวุฒิคว่ำร่างแต่ก็ยังไม่ตก อธ.ศิลปากรยื่นรอง ปธ.วุฒิฯ ให้รอบคอบล้างผิด เหตุคดีโกง-อาญา ส่อพ้นผิด ด้านเลขาฯ สรส.ยื่นตามค้านล้างผิด ระบุ 44 สหภาพแรงงาน เห็นพ้องไม่ชอบด้วยนิติธรรม นิติรัฐ ทำผิดต้องรับโทษ
วันนี้ (6 พ.ย.) นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กล่าวว่า จากกระแสต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขยายวงมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เห็นชัดเจนว่าร่างฯดังกล่าวไม่อาจเดินต่อไปได้ เพื่อเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง รักษาหลักกฎหมายสำคัญและแนวนโยบายสำคัญของประเทศ ในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันทั้งระบบ และเอาผิดเอาโทษคนที่ทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง จึงขอให้รัฐบาลโดยเฉพาะผู้เสนอร่างกฎหมายดังกล่าว ถอนญัตติการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวออกไป ซึ่งสามารถทำได้ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อ 53 ที่กำหนดว่า “ญัตติที่บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมแล้ว หากผู้เสนอญัตติจะถอนญัตติ หรือจะแก้ไขเพิ่มเติมหรือจะถอนชื่อจากการเป็นผู้ร่วมกันเสนอ หรือผู้รับรองจะถอนการรับรองญัตติ ต้องได้รับความยินยอมของที่ประชุม” และที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ควรอนุมัติยินยอมให้ถอนโดยเร็ว เพื่อเป็นการลดความคลางแคลงใจของสังคม ถึงแม้วุฒิสภามีแนวโน้มจะคว่ำร่าง พ.ร.บ.ฯ แต่ก็ยังไม่ได้ตกไป ดังนั้นเพื่อลดความขัดแย้งจึงควรถอนร่างฯออกไป
ด้านนายชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะ เข้ายื่นหนังสือต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา ขอให้วุฒิสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอย่างรอบคอบ โดยที่ประชุมคณบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้พิจารณาร่วมกันแล้วเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเนื้อหาสนับสนุนส่งเสริมต่อการสร้างมาตรฐานที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ว่าการทุจริตคอร์รัปชันและการกระทำผิดอาญาต่างๆ ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง และสามารถหลุดจากความรับผิดได้ด้วยการนิรโทษกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรจึงได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษแบบยกเว้นความรับผิดในทุกกรณี จึงหวังว่าวุฒิสภาจะพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อประโยชน์ของประชาชน
ต่อมานายคมสัน ทองศิริ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เข้ายื่นหนังสือต่อนายสุรชัย ขอให้วุฒิสภาไม่รับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยสมาชิกองค์กรทั้ง 44 สหภาพแรงงาน มีความเห็นร่วมกันว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีเนื้อหาระเมิดอำนาจศาล ยกโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดอาญาและคดีทุจริตคอร์รัปชัน จึงเห็นว่าไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรม หลักนิติรัฐ ทั้งที่ผู้กระทำความผิดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ต้องไม่มีการนิรโทษกรรม