xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” ตั้งอาเซียนยูนิต บูรณาการทำงาน ชี้ไทยศูนย์กลางคมนาคมสอดรับกู้ 2 ล้านล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายกฯ เปิดงานอนาคต ศก.ไทยภายใต้ AEC ทูต 9 ชาติร่วมย้ำ 3 เสาหลัก ฐานผลิตเพิ่มเป็น 600 ล้านคน ชูไทยได้เปรียบทำเลศูนย์กลางคมนาคม สอดรับโครงการ 2 ล้านล้าน รัฐเตรียมตั้งอาเซียนยูนิต ทุกกระทรวงประสาน รมต.-ผู้ว่าฯ แจง ปชช. จัดโซนนิ่งเกษตร-อุตสาหกรรม พัฒนา กม. ชวนลงทุน ปรับห่วงโซ่การค้า-การผลิต เข้าใจความหลากหลายวัฒนธรรม รัฐพร้อมร่วมมือเอกชน-ปชช.

วันนี้ (28 ต.ค.) ที่ลานอเนกประสงค์ ชั้น 2 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานพิธีกล่าวเปิดงาน “อนาคตเศรษฐกิจไทยภายใต้ประชาคมอาเซียน” โดยมีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ พร้อมด้วยเอกอัครราชทูต 9 ประเทศเข้าร่วม โดยนายกฯ กล่าวเปิดงานว่า อีกแค่ 2 ปีกว่าเท่านั้นไทยจะก้าวสู่ประชาคมอาเซียน คนไทยจะได้รับความรู้ว่าเมื่อไทยก้าวสู่ประชาคมอาเซียนไทยจะได้อะไร และต้องเตรียมตัวอย่างไรทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน การรวมพลังประชาคมอาเซียนหมายถึงการร่วมด้วย 3 เสาหลัก คือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม พันธสัญญาอาเซียนเชื่อมโยงสมบูรณ์มากขึ้น จากตลาดฐานการผลิต จาก 60 ล้านคน จะขยายตลาดเป็น 600 ล้านคน เกิดการเชื่อมโยงทางกายภาพ ทั้งทางบก อากาศ และทางน้ำ เพื่อให้ประชาชนไปมาหาสู่กัน และการขนถ่ายสินค้า เรื่องของกฎระเบียบ ระบบการให้บริการ ด่านศุลกากร ประกันคุ้มครองแรงงาน และคุ้มครองผู้บริโภค การเชื่อมโยงคนสู่คน ต้อนรับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ไทยยังได้เปรียบทำเลที่ตั้งเป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมโยงไปยังประเทศอาเซียน เป็นศูนย์กลางคมนาคม สอดคล้องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท

นายกฯ กล่าวว่า กลุ่มประชาคมอาเซียนมีความท้าทายหลายประการ เศรษฐกิจมีความซับซ้อนการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ต้องร่วมสร้างความแข็งแกร่ง ไทยริเริ่มการหารืออาเซียนตั้งแต่ปี 43 สร้างเสถียรภาพการเงิน และสร้างเสถียรภาพนอกภูมิภาค การค้าการลงทุน เช่น อาเซียนบวกสาม เอเซียนแปซิฟิก ในส่วนรัฐบาลเตรียมความพร้อม โดยการตั้งอาเซียน ยูนิต ทุกกระทรวงเพื่อบูรณาการการทำงานระหว่างกัน โดยประสานงานระหว่างรัฐมนตรีรวมถึงผู้ว่าฯทั่วประเทศ ที่จะนำข้อมูลไปสร้างความเข้าใจพี่น้องประชาชน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการจัดโซนนิ่งเกษตร โซนนิ่งอุตสาหกรรม เอสเอ็มอี โอทอป เตรียมบุคคลากรภาครัฐ ภาคการศึกษาการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน พัฒนาเชื่อมโยงความสะดวกเข้าหากัน พัฒนากฎระเบียบยกระดับกฎหมายในระดับสากล เชิญชวนนักลงทุน แสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจ ปรับห่วงโซ่สอดคล้องฐานการผลิต ความเข้าใจวัฒนธรรม ห่วงโซ่การค้า โดยได้ทำงานบูรณาการภาคเอกชนแต่ละอุตสาหกรรม ตอบสนองแต่ละกลุ่มของตลาด ความเข้าใจวัฒนธรรม ศาสนา ภาคประชาชนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความมีเอกลักษณ์เข้ามามากขึ้น การเรียนรู้วัฒนธรรมที่หลากหลาย เพิ่มความรู้ความเข้าใจจากคนสู่คน ทำให้ไทยรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน เป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมตัวอย่างมาก รัฐบาลพร้อมทำงานร่วมภาคเอกชน และประชาชน















กำลังโหลดความคิดเห็น